ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก แจงกรณีอดีตนายกแพทยสภา ขอนายกฯ ทบทวนโครงการผลิตแพทย์ 3.7 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี ย้ำไม่ได้ผลิตแค่ "แพทย์" แต่มีวิชาชีพอื่นในทีมสุขภาพ รวม 9 วิชาชีพ มุ่งคัดคนในพื้นที่มาเรียนและกลับไปทำงานในระบบปฐมภูมิ ตอบโจทย์การกระจายกำลังคนในพื้นที่ขาดแคลน


เมื่อวันนี้ 21 เม.ย. 2567 ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก เปิดเผยถึงกรณีที่อดีตนายกแพทยสภา ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นจากปกติ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณโครงการ 37,234.48 ล้านบาท โดยอ้างอิงผลสำรวจว่าปัจจุบันมีจำนวนแพทย์เพียงพอ แต่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล และกังวลว่าการผลิตเพิ่มขึ้นจะทำให้คุณภาพด้อยลง โดยเสนอให้เพิ่มแรงจูงใจลดการลาออกของแพทย์ภาครัฐ

ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย ระบุว่า มติ ครม. ดังกล่าวไม่ได้เฉพาะการผลิตแพทย์เท่านั้น แต่เป็นโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัว ตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย ระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2568-2577 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ รวม 9 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข ทันตแพทย์ เภสัชกร นักฉุกเฉินการแพทย์ และแพทย์แผนไทย ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาโครงการจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน   

"แม้ปัจจุบันสถานการณ์ขาดแคลนแพทย์จะไม่มากเหมือนในอดีต แต่การมีแพทย์เพิ่มขึ้นย่อมดีในแง่ของการบริการประชาชนได้เพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาการกระจายตัวของแพทย์ พื้นที่ที่ยังขาดจะเป็นพื้นที่ไม่ค่อยมีคนอยากไปอยู่ โดยเฉพาะแพทย์สาขาเวชศาตร์ครอบครัวในระบบบริการปฐมภูมิ มีเพียง 2,043 คน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 3.11 ต่อ 100,000 จึงต้องส่งเสริมให้มีการผลิตเพิ่มและบริหารจัดการให้มีการกระจายตัวอย่างเหมาะสม" ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าว

อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก ระบุว่า โครงการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมนวัตกรรมสุขภาพ จะคัดเลือกคนจากในพื้นที่หรือนำบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่มาศึกษาต่อยอด และกลับไปทำงานในหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ เกิดการเติมเต็มและกระจายบุคลากรแต่ละวิชาชีพเข้าสู่ระบบบริการปฐมภูมิได้อย่างตรงจุด

ศ.พิเศษ ดร. นพ.วิชัย ยังกล่าวอีกว่า โครงการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมนวัตกรรมสุขภาพ ยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุข ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีอายุยืนยาว เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ข ด้านอื่น(5) ที่บัญญัติให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม ตอบโจทย์นโยบาย Medical hub ของรัฐบาล และนโยบายของนายกรัฐมนตรีเรื่องระบบสุขภาพสำหรับคนไทยและประเทศไทย รวมทั้งสอดรับกับเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนของแพทย์ต่อประชาชนให้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับนานาชาติ

โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนแพทย์ต่อประชากร 1:1,305 คน ขณะที่สิงคโปร์ 1:411 คน มาเลเซีย 1:448 คน และเวียดนาม 1:1,204 คน ซึ่งจากกำลังการผลิตแพทย์ในปัจจุบันปีละ 3,386 คน หากจะให้มีจำนวนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1:650 คน จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ในปี 2580 ดังนั้นยังต้องผลิตบัณฑิตแพทย์อย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ด้วยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการผลิตแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์สังกัดกรุงเทพมหานคร กลาโหม และภาคเอกชน

ในส่วนข้อกังวลเรื่องคุณภาพการผลิตนั้น สถาบันพระบรมราชชนกมีการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตร์และวิชาชีพสุขภาพต่างๆ ตามมาตรฐานแต่ละวิชาชีพ จึงสามารถผลิตแพทย์ที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมนวัตกรรมสุขภาพที่มีคุณภาพ กลับไปดูแลประชาชนในพื้นที่ของตนเองได้แน่นอน