ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. รับมอบประกาศเกียรติคุณ “องค์กรผู้สนับสนุนการดำเนินงานเครือข่ายการจัดเก็บสารพันธุกรรม” สะท้อนผลงาน 9 หน่วยงานพัฒนาระบบเครือข่ายขับเคลื่อนดูแล “คนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” ได้รับการพิสูจน์สถานะความเป็นคนไทย คุ้มครองเข้าถึงบริการสุขภาพในระบบบัตรทอง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  


รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา สปสช. เป็นหนึ่งใน 9 หน่วยงาน ที่ได้รับมอบ “ประกาศเกียรติคุณองค์กรผู้สนับสนุนการดำเนินงานเครือข่ายการจัดเก็บสารพันธุกรรม” จาก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมใน “โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และยกย่องเชิดชูเกียรติหน่วยงานเครือข่ายการจัดเก็บสารพันธุกรรม” จัดโดย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) สถาบันเอเชียศึกษา และภาคีเครือข่าย

    

สำหรับประกาศเกียรติคุณองค์กรผู้สนับสนุนการดำเนินงานเครือข่ายการจัดเก็บสารพันธุกรรมที่ สปสช. ได้รับมอบในครั้งนี้ เนื่องด้วย สปสช. เป็นหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้คนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและสิทธิความเป็นคนไทยให้ได้รับการพิสูจน์ อันนำไปสู่การได้รับสิทธิสิทธิสวัสดิการสังคมภาครัฐต่างๆ ตามที่ประชาชนไทยควรได้รับ เป็นการคุ้มครองสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่เป็นสิทธิที่มีความจำเป็น เพื่อให้ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลในช่วงที่เกิดภาวะเจ็บป่วยและบริการสาธารณสุขต่างๆ โดยไม่มีเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค   

รศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อให้คนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและสิทธิความเป็นคนไทยให้ได้รับการพิสูจน์สถานะนั้น เป็นประเด็นที่ สปสช. ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบรรลุตามเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นระบบที่ดูแลด้านหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยทุกคนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง และยึดมั่นในหลักการคือ “ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นอกจากนี้เรื่องนี้ยังเป็นข้อเสนอที่ สปสช. ได้รับจากเวทีรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการฯ ที่ขอให้มีการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีคนไทยจำนวนหนึ่งไม่มีเอกสารหลักฐานที่แสดงสถานะความเป็นคนไทย ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ ด้วยสาเหตุที่หลากหลาย อาทิ ไม่ได้รับแจ้งเกิด ย้ายที่อยู่อาศัย และเอกสารหลักฐานสถานะบุคคลสูญหาย เป็นต้น เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล บริการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรค แม้ว่าจะเป็นคนไทยและเกิดในประเทศไทยก็ตาม โดยภาพรวมประชากรกลุ่มนี้ยังเป็นผู้มีรายได้น้อย ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนไร้บ้าน ถือเป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งมีภาวะเจ็บด้วยป่วยโรคเรื้อรังและโรคค่าใช้จ่ายสูงที่ต้องรับการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง  

ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อสถานพยาบาลที่ให้การดูแล เป็นภาระค่าใช่จ่ายที่หลายโรงพยาบาลต้องแบกรับ เพราะไม่สามารถรับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวหรือเบิกจ่ายค่าบริการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ดังนั้น สปสช. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน และประสานความร่วมมือกับ หน่วยงานเกี่ยวข้องที่ขับเคลื่อนการดูแลและช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางนี้ เพื่อดำเนินการให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างจริงจัง    

รศ.ภญ.ยุพดี กล่าวต่อว่า ด้วยความร่วมมือนี้ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) “การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” ของ 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และ สปสช. เป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงสิทธิและบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ 
    
ทั้งนี้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ภายหลังจาก MOU ความร่วมมือ 9 หน่วยงานข้างต้นนี้ได้ทำให้เกิดโครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร โดยมีโรงพยาบาลที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ และได้ช่วยให้คนไทยที่มีปัญหาสถานะได้รับการพิสูจน์สิทธิจำนวนมาก โดยประชาชนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนไม่ต้องมีภาระการเดินทางเพื่อเข้ามาเก็บสิ่งส่งตรวจที่ศูนย์ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ แต่สามารถเข้ารับบริการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจได้ที่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่อยู่ใกล้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 20 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งตัวอย่างสิ่งส่งตรวจไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพื่อทำการตรวจพิสูจน์สถานะความเป็นคนไทยต่อไป


    
“ประกาศเกียรติคุณองค์กรผู้สนับสนุนการดำเนินงานเครือข่ายการจัดเก็บสารพันธุกรรมที่ สปสช. รับมอบพร้อมกับ 8 หน่วยงานนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความตั้งใจในการดำเนินงานขับเคลื่อนเพื่อดูแลและช่วยเหลือคนไทยที่มีปัญหาสถานะฯ ให้ได้รับสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับคนไทยทั่วประเทศ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้ทั้ง 9 หน่วยงาน จะยังคงเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนการดูแลคนไทยที่มีปัญหาสถานะให้เข้าถึงสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับคนไทยทุกคนต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว