ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ. ลงพื้นที่เชียงใหม่หนุนขยาย “มุ้งสู้ฝุ่น” เพิ่มพื้นที่ปลอดฝุ่น PM 2.5 ภายในบ้าน ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ติดบ้านติดเตียง ลดการรับสัมผัสฝุ่น เผยสถานการณ์หลายจังหวัดมีผลกระทบต่อสุขภาพ ด้านเขตสุขภาพที่ 1 นำร่องพัฒนาแพลตฟอร์มระบบเฝ้าระวังผลกระทบแบบเรียลไทม์ พร้อมจัดโครงการต้นแบบตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มเสี่ยง


เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และมาตรการด้านสาธารณสุข พร้อมมอบมุ้งสู้ฝุ่นให้กับตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั้ง 25 อำเภอ เพื่อส่งมอบให้กับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในพื้นที่

นพ.ชลน่าน เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่สูงขึ้นต่อเนื่องในเขตภาคเหนือ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง จึงได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ติดตามมาตรการดูแลด้านสุขภาพ ซึ่ง สธ. ได้วางมาตรการรองรับไว้ตั้งแต่เข้าสู่ฤดูหนาวในเดือนตุลาคม 2566 ที่เริ่มพบค่าฝุ่นสูงขึ้น

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. ส่งเสริมการลดมลพิษ ด้วยการสื่อสารให้ความรู้ประชาชน 2. ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ ด้วยการเฝ้าระวังแจ้งเตือนประชาชน และเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง 3. จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งบริการเชิงรุกในพื้นที่และในสถานพยาบาล 4. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ผ่านระบบบัญชาการเหตุการณ์ในภาวะวิกฤต

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ได้บูรณาการแพลตฟอร์มระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ กรณี PM 2.5 ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และมหาวิทยาลัย เป็น "One Region One Surveillance System"

สำหรับแพลตฟอร์มดังกล่าว สามารถติดตามข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ทั้งสถานการณ์ จุดความร้อน และผลกระทบสุขภาพ 5 โรคสำคัญ คือ ถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด ผื่นแพ้ผิวหนัง ตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด จากระบบฐานข้อมูล HIS ของโรงพยาบาลในเขต 103 แห่ง ทำให้ตอบโต้สถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังเพิ่มการเฝ้าระวังโรคมะเร็งปอด โดยจัดทำโครงการต้นแบบคัดกรองมะเร็งปอด “Lanna CA Screening model project” ด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low dose CT scan) ในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีการสูบบุหรี่ 30 ซอง/ปี อยู่ในพื้นที่มากกว่า 20 ปี และมีญาติพี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอด ซึ่งในเขตมีประมาณ 1.8 ล้านคน โดยจะผลักดันให้อยู่ในสิทธิประโยชน์ของมะเร็งครบวงจรต่อไป

สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จากการสำรวจกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก 0-5 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเฉียบพลัน โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง) มีรวมทั้งสิ้น 370,681 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยถุงลมโป่งพองที่เสี่ยงอาการกำเริบ 3,287 ราย ซึ่งจะประสานหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนเรื่องมุ้งสู้ฝุ่น เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน ลดการรับสัมผัสฝุ่นให้ครอบคลุมผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงให้มากที่สุด