ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 - ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยา ให้ความรู้สารแคดเมียม ระบุพบได้ในชีวิตประจำวัน และร่างกายขับออกได้เองทางปัสสาวะ แต่ถ้าสะสมก็อันตราย 
 - สารแคดเมียมจำนวนมหาศาลที่สมุทรสาคร ยังไม่น่ากังวลต่อสุขภาพ ให้ป้องกันเหมือน PM2.5 
 - แต่หากเอาไปเผา เจีย เชื่อมโลหะ แล้วสูดดม อาจเสี่ยงถึงชีวิต 
 - แนะนำหน่วยงานตรวจการปนเปื้อนสภาพแวดล้อม หากไม่มีสารพิษ ช่วยทำให้ประชาชน-รพ.โดยรอบเบาใจได้ 

ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้คำอธิบายต่อประชาชน เรื่อง ‘มารู้จักแคดเมียมกันเถอะ’ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2567 โดยจัดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์พบสารแคดเมียมจำนวนมากถึง 1.5 หมื่นตันที่ จ.สมุทรสาคร และสร้างความวิตกต่อสังคม เนื่องจากมีการระบุว่าสารแคดเมียมมีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็งได้

รศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ อายุรแพทย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยา อธิบายว่า แคดเมียมเป็นแร่โลหะหนักที่พบได้ในเปลือกโลก นั่นหมายถึงมันสามารถอยู่ในห่วงโซ่อาหารของผู้คนได้ทั้งหมด เพราะเราจะพบแคดเมียมได้ทั้งจากดิน แหล่งน้ำ รวมไปถึงในอากาศ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม แคดเมียมที่เราต้องสัมผัสในแต่ละวันผ่านอาหารจะเป็นปริมาณที่ร่างกายรับได้ และมีระบบกลไกของร่างกายที่จะขับสารแคดเมียมออกไปได้ด้วยตัวเองผ่านทางปัสสาวะ 

รศ.นพ.สหภูมิ เสริมอีกว่า สารแคดเมียมคือสารที่ทุกคนพบเจอและสัมผัสได้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่จะเป็นปริมาณหรือตามเกณฑ์ที่ร่างกายรับได้ ทั้งการบริโภคอาหารที่เราพบเจอได้อยู่แล้ว เพราะอาหารทุกอย่างถูกผลิตขึ้นจากผิวเปลือกโลก ทั้งการปลูกพืช ผัก การปศุสัตว์ และน้ำ แม้แต่น้ำดื่มที่เราบริโภคอยู่ทุกวันก็มีสารแคดเมียมเช่นกัน แต่อย่างที่บอก ร่างกายเราจะขับออกได้เองทางปัสสาวะ 

แต่หากรับสารแคดเมียมมากเกินไป แม้จะน้อยแต่สะสม รวมถึงไม่สามารถขับออกได้เองตามธรรมชาติ สารแคดเมียมจะมีผลกระทบต่อระบบการทำงานของไตโดยตรง เพราะไตจะเป็นส่วนสุดท้ายในการคัดกรองก่อนขับออกทางปัสสาวะ 

กระนั้น หากในแง่การรับสารแคดเมียมเข้าร่างกายและสะสม จะส่งผลระยะยาวต่อผู้รับสารเข้าไปทำให้ปอดทำงานได้แย่ลง และมากไปกว่านั้นจะทำให้เกิดโรคกระดูกนิ่ม กระดูกโค้งงอ กระดูกหัก หรือโรคอิไตอิไต ซึ่งมันเกิดขึ้นได้จากสภาพแวดล้อมถูกปนเปื้อนสารแคดเมียม และมีการสัมผัสโดยตรง และสะสมเป็นเวลานาน 

นอกจากนี้ การสะสมเป็นเวลานาน หรือแม้แต่การสัมผัสโดยตรงที่ผ่านการสูดดมสารแคดเมียม ที่เกิดจากการนำสารแคดเมียมไปกระทบทั้งการกระแทก แงะ ทำให้เกิดประกายไฟ หรือมีการเจียไฟ การเชื่อมโลหะหนักที่มีสารแคดเมียม และเกิดเป็นการระเหยที่เรียกว่า FUME จะเสี่ยงมาก

แต่หากสารแคดเมียมที่อยู่ในอากาศ ที่เราเจอในชีวิตประจำวันจะเป็นลักษณะฝุ่นลอองขนาดเล็ก หรือ DUST ก็จะไม่มีความเสี่ยง เพียงแต่ประชาชนต้องเฝ้าระวังด้วยการใส่หน้ากากอนามัย เหมือนกับที่เราป้องกันฝุ่น PM2.5 และสารแคดเมียมในอากาศที่เป็น DUST ก็คืออีกชนิดของ PM 2.5 ด้วยเช่นกัน 

อีกประเด็นคือ สารแคดเมียมยังพบได้มากในใบยาสูบ ที่อยู่ในบุหรี่ และมันทำให้สะสมในร่างกายได้ด้วย ดังนั้น หากจะกลัวแคดเมียม ต้องกลัวการสูบบุหรี่ด้วย ทั้งบุหรี่แบบมวนและบุหรี่ไฟฟ้า 

“จากเหตุการณ์นี้ที่พบสารแคดเมียมจำนวนมาก พบว่าถูกเก็บเอาไว้ในโกดังของโรงงาน และมีการหีบห่อเอาไว้ด้วย แต่ถ้าอยากให้มั่นใจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปตรวจสอบสภาพแวดล้อมโดยรอบ หากไม่มีก็ไม่ต้องกังวล เพราะจะไม่ส่งผลกระทบในระยะยาว” รศ.นพ.สหภูมิ ระบุ

แต่ในส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเตรียมพร้อมหากมีผู้ป่วยที่ได้รับสารแคดเมียมเข้ามานั้น จะต้องมีการสอบถามอย่างละเอียด ว่ารับสารอย่างไร 

รศ.นพ.สหภูมิ อธิบายว่า ถ้ารับสัมผัสระดับความเข้มข้นสูงจากการสูดดม จะไม่เกิดปอดอักเสบหากเป็นฝุ่นละออง หรือ DUST แต่ถ้าเป็นลักษณะฟุ้งขึ้นมา หรือ FUME และสูดดม จะมีผลกระทบทำให้ปอดอักเสบ และจะมีอาการไอ หอบ ไข้หนาวสั่น ซึ่งแพทย์ที่ทำการรักษาจะต้องสอบถามอย่างละเอียดถึงสาเหตุ และในรายที่รุนแรงอาจเกิดอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) ก็อาจนำไปสู่การเสียชีวิต 

“แต่จากข่าว ผมว่าเป็น DUST มากกว่า FUME ก็ไม่น่ากังวล เพราะยังไม่มีการนำมาใช้ ทางท้องถิ่นและโรงพยาบาลโดยรอบน่าจะเบาใจได้ แต่ก็ต้องติดตามและเฝ้าระวัง และจากเหตุการณ์นี้คงไม่เกิด ARDS แน่นอน แต่ถ้ามีใครเอาสารแคดเมียมไปเผา ไปจี้ไฟ ไปเจีย ก็มีสิทธิ์” รศ.นพ.สหภูมิ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม หากรับสารเข้ามาผ่านการกินในระดับที่เข้มข้นสูง รศ.นพ.สหภูมิ บอกว่า จะเกิดอาการปวดและบาดเจ็บในระบบทางเดินอาการ หรือเลือดจากทางเดินอาหารได้ แพทย์จะต้องแอดมิดคนไข้ และดูค่าไตและตับ ทุกๆ 12 ชั่วโมง ถ้าไม่มีอาการก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีอาการก็ต้องติดตามกันต่อ 

รศ.นพ.สหภูมิ ย้ำกับประชาชนในพื้นที่โดยรอบอีกว่า ยังไม่จำเป็นต้องไปตรวจเลือดเพื่อหาสารแคดเมียม เพียงแต่ต้องป้องกันตัวเองเหมือนกับการป้องกันฝุ่น PM2.5 รวมถึงปิดบ้านให้มิดชิดเพื่อลดฝุ่นที่อาจมีสารแคดเมียมปะปนเข้ามา พร้อมกับติดตามข่าวการตรวจสภาพแวดล้อมโดยรอบเพื่อหาสารปนเปื้อน หากไม่มีการปนเปื้อนก็น่าจะเบาใจได้