ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

64 องค์กร-ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ยื่นหนังสือถึง ‘หมอชลน่าน’ เสนอ แก้ไข มาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ให้ ‘บัตรทอง’ ครอบคลุม ‘คนไร้สัญชาติ’ ด้วย โดยให้เป็นรูปแบบร่วมจ่ายเข้ากองทุนฯ ด้าน ‘หมอชลน่าน’ รับลูก ชงเข้า บอร์ด สปสช. แล้ว


คณะทำงานศึกษาขับเคลื่อนระบบบริการด้านสุขภาพสำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งประกอบด้วย 64 องค์กร และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมถึงนักกิจกรรม เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 โดยเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงยั่งยืนสำหรับคนที่อยู่ในประเทศไทย แต่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือคนไร้สัญชาติไทย และอยู่นอกระบบประกันสังคม

ทั้งนี้ ข้อเสนอมีสาระสำคัญ คือ การให้ บอร์ด สปสช. อาจกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หมายรวมบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในประเทศไทยด้วย โดยให้เป็นการร่วมจ่ายเข้ากองทุนบัตรทอง ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ บอร์ด สปสช. กำหนด ยกเว้นแต่ผู้ยากไร้ หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศให้ไม่ต้องร่วมจ่ายเข้ากองทุนฯ

นายเสถียร ทันพรม หนึ่งในคณะทำงานศึกษาขับเคลื่อนระบบบริการด้านสุขภาพสำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ข้อเสนอในครั้งนี้สืบเนื่องด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ มีการระบุไว้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงกับคำว่า ‘บุคคล’ ดังกล่าว ตีความรวมบุคคลสัญชาติไทยเพียงอย่างเดียว หรือ บุคคลที่อยู่ในประเทศไทยแต่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และคนไร้สัญชาติด้วย

นายเสถียร กล่าวว่า ต่อมาในปี 2556 มีการนำเรื่องดังกล่าวส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความเห็น ก่อนจะได้รับคำตอบว่าคำว่า ‘บุคคล’ ที่ระบุไว้ใน มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ หมายถึงบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้นมีการส่งความเห็นนี้ของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปยังหน่วยบริการต่างๆ ส่งผลกระทบให้ผู้ที่อยู่ในประเทศไทย แต่มีปัญหาสถานะและสิทธิกว่า 6 - 7 แสนคน ที่เดิมสามารถรับบริการสุขภาพต่างๆ ผ่านสิทธิบัตรทอง ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง

อย่างไรก็ดี แม้ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ภายใต้กองเศรษฐกิจสุขภาพ สธ. เพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพของชนกลุ่มน้อยและผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทว่า ก็ไม่มีความยั่งยืนเท่าไหร่นัก เพราะงบประมาณที่จะนำมาใช้เป็นไปตามมติ ครม. เป็นรายครั้งไป

นอกจากนี้ อีกส่วนที่เป็นปัญหาก็คือกลุ่มที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ที่มีกว่า 7 แสนคน ซึ่งโดยหลักการแล้ว เมื่อเข้ามายังประเทศไทยหากไม่มีหลักประกันสุขภาพใดสามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพจากหน่วยบริการใกล้ที่พักอาศัยได้ ทั้งตัวแรงงานข้ามชาติรวมถึงผู้ติดตามเอง อันเป็นไปตามประกาศของ สธ. ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพของคนต่างด้าว กระนั้นประกาศดังกล่าวนี้ไม่มีผลบังคับ แต่เป็นการให้อำนาจผู้อำนวยการโรงพยาบาลแต่ละแห่งเป็นผู้พิจารณา

“จริงๆ สถานการณ์ปัญหามันมีเยอะมากในด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพ ไม่เฉพาะแต่คนข้ามชาติ หรือมีปัญหาสิทธิสถานะ แต่คนไทยเองก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน” นายเสถียร ระบุ

นายเสถียร กล่าวต่อไปว่า ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บวกกับปัญหาต่างๆ ในด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทั้ง 64 องค์กรและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมถึงนักกิจกรรม จึงรวมตัวกันเป็นคณะทำงานศึกษาขับเคลื่อนระบบบริการด้านสุขภาพสำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ในการจัดทำข้อเสนอการยกร่าง แก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ โดยจะเป็นการเพิ่มข้อความในมาตรา 5 ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้กระทบกับมาตราอื่นๆ เพื่อให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับคนไร้สัญชาติ และผู้มีปัญหาสิทธิและสถานะที่มั่นคงยั่งยืน

“วันนั้นคุณหมอชลน่านก็บอกว่าเราไม่ได้ทอดทิ้งใคร เพราะตอนนี้งบด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ก็ครอบคลุมคนทุกคนแล้ว เพียงแต่ในด้านรักษาตามมาตรา 5 ยังไม่มี ซึ่งที่คณะทำงานฯ เสนอมาก็เป็นเรื่องที่ดีคือให้เป็นการร่วมจ่าย ซึ่งจะทำให้ไม่ส่งผลกระทบในแง่ความเสี่ยงต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ มากนัก และบอกว่าจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมบอร์ด สปสช. วันนั้นเลย หลังจากนี้ผมก็จะตามไปที่ทีมของ สปสช. อีกครั้งว่าหลังจากที่มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ด สปสช. แล้วผลเป็นยังไงบ้าง เพื่อดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน” นายเสถียร กล่าว

คลิกอ่านหนังสือและข้อเสนอฉบับเต็มได้ที่: ข้อเสนอเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ และข้อเสนอการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของคนที่ไม่มีสัญชาติไทย.pdf