ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ทรงคุณวุฒิมองการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปอยู่ท้องถิ่น เป็นโอกาสในการ Transform ยกระดับคุณภาพระบบบริการปฐมภูมิ ไม่ใช่แค่ก็อปปี้งานเดิมไปทั้งดุ้น แต่สามารถเชื่อมต่อกับการจัดสวัสดิการทางสังคมของท้องถิ่นเพื่อสร้างบริการใหม่ๆ ได้


เวทีเสวนาหัวข้อ “สถานพยาบาลปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจในมุมมองที่หลากหลาย” ถูกจัดขึ้นภายในงานประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 24 ที่จัดโดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในระบบริการสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายโอนภารกิจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดรับคลินิกเอกชนต่างๆ เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทอง เป็นต้น

พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวคิดของระบบบริการปฐมภูมิ หากพูดง่ายๆ คือให้การดูแลแต่แรก ต่อเนื่อง เป็นองค์รวมเบ็ดเสร็จ ผสมผสานทั้งการรักษา ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู และการส่งเสริมให้ประชาชนจัดการและดูแลตนเองได้

พญ.สุพัตรา กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของระบบบริการปฐมภูมิ คือไม่ใช่แค่ Service แต่มีการห่อหุ้มเชื่อมร้อยกับคำว่าสัมพันธภาพที่ดี เข้าใจ เชื่อใจกัน เป็นที่พึ่งแก่ประชาชนได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นบริการที่ทันสมัย ใช้ Evidence ทั้งทางการแพทย์และทางสังคม และใช้จิตใจที่เข้าใจประชาชนมาประกอบการบริการ

นอกจากนี้ ระบบบริการปฐมภูมิ ยังเชื่อมร้อยบริการกับโรงพยาบาล บริการที่บ้านและบริการในชุมชน และเป็น Care beyond hospital และเชื่อมโยง Intermediate Care, Long term care และ Palliative care ซึ่งแม้ไม่ใช่งานปฐมภูมิแท้ๆ แต่สามารถเชื่อมต่อการบริการตรงนี้ไปให้ประชาชนในชุมชนได้

พญ.สุพัตรา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการถ่ายโอน รพ.สต. ไป อปท. เชื่อว่าคนปฐมภูมิมองว่าเป็นโอกาส การไปอยู่กับท้องถิ่นซึ่งใกล้กับชุมชนที่สุดจะสามารถเชื่อมต่อกับการจัดสวัสดิการทางสังคมของท้องถิ่น เช่น งานผู้สูงอายุ งานผู้พิการ การจัดการสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น การจัดการให้มีอาหารปลอดภัย สถานที่ออกกำลังกาย การจัดการเพื่อลดการบริโภคบุหรี่ สุรา การจัดสถานที่สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ หรือแม้แต่การเชื่อมโยงกับปัจจัยทางสังคม/ครอบครัว เช่น การดูแลศูนย์เด็กเล็ก การจัดระบบสุขภาพในโรงเรียน เป็นต้น

“เราไม่ได้คิดว่าการถ่ายโอนไปท้องถิ่นจะเป็นการ Copy งาน รพ.สต. แบบเดิมที่เคยทำไปอยู่กับท้องถิ่น แต่เป็นการ Transform และยกระดับเพิ่มคุณภาพได้ ถ้ามีการเตรียมตัวในด้านต่างๆ ให้ดี งานปฐมภูมิก็มีโอกาสทำเรื่องเหล่านี้ได้” พญ.สุพัตรา กล่าว

พญ.สุพัตรา กล่าวอีกด้วยว่า ภาพบริการปฐมภูมิในอนาคตอาจจะไม่ได้มองว่ามี Service อะไรบ้าง แต่คุณภาพสำคัญของงานปฐมภูมิคือเรื่องสัมพันธภาพ ความพอดี ความเหมาะสม การให้บริการอย่างมี Empathy และการใช้ Intervention ที่เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่ม ซึ่งถ้าจะทำเรื่องนี้ให้ดี จำเป็นต้องอาศัยระดับผู้บริหารที่มีความเข้าใจชัดเจนถึงความกว้างขวางของระบบปฐมภูมิ รวมทั้งกำลังคนก็ต้องมีเพียงพอกับภาระงาน

ขณะเดียวกัน ทีมงานก็ต้องเข้าใจหลักเวชศาสตร์ครอบครัว เข้าใจในสิ่งที่ไม่ใช่ Medical part และสุดท้ายคือระบบงบประมาณสำหรับบริการปฐมภูมิที่ต้องมีแยกจากบริการอื่นๆ ให้ชัดเจนและให้หน่วยบริการตัดสินใจได้เอง ไม่ใช่รอแค่นโยบายอย่างเดียว

ด้าน รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในปี 2562 ตนเคยทำโครงการวิจัยระบบปฐมภูมิ และพยายามหานิยามคำว่าระบบบริการปฐมภูมิในมุมมองของประชาชน โดยได้ข้อสรุปว่า 1. เป็นการดูแลสุขภาพที่ประชาชนจะนึกถึงหรือประสงค์จะไป ไม่ใช่บังคับไป ดังนั้นระบบปฐมภูมิต้องเป็นที่พึ่งให้คนนึกถึง ถ้าที่ไหนพัฒนาบริการประสบความสำเร็จ ประชาชนจะเลือกมาหาโดยไม่ต้องบังคับว่าต้องอยู่ในเขตนั้นเขตนี้

2. เป็นหน่วยบริการที่ไปใช้บริการเป็นจุดแรกหรือใช้บริการเป็นประจำ 3. ไปใช้บริการเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ประชาชนไม่จำเป็นต้องป่วยแต่มีข้อสงสัยก็ไปรับบริการได้ 4. ไปรับบริการเมื่อมีความเจ็บป่วยหรือต้องติดตามผลการรักษาในการฟื้นฟูสุขภาพอย่างต่อเนื่อง 5. มีการให้บริการสุขภาพเชิงรุก 6. ให้บริการโดยคณะหรือเครือข่ายผู้ให้การบริบาลปฐมภูมิ และ 7. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพ เช่น สมาชิกในครอบครัวที่ต้องเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วย เป็นต้น

“ถ้าสามารถสร้างบริการปฐมภูมิให้เป็นแบบนี้ได้ ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างระบบปฐมภูมิในมุมมองประชาชนแล้ว” รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าว

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อไปว่า รูปแบบบริการของระบบปฐมภูมิประกอบด้วยการดูแลสุขภาพหลายรูปแบบ ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค, Acute care, การดูแลโรคเรื้อรัง, Long term care และ Palliative care ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ ทำให้การส่งมอบบริการปฐมภูมิมีหลายแบบ ทั้งที่โรงพยาบาล ที่ รพ.สต. และอีกส่วนที่มองข้ามไปคือ Mobile unit โดยเฉพาะช่วงถ่ายโอน รพ.สต. ไป อปท. ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เกิดแนวคิดการจัดบริการ Mobile ให้บุคลากรไปให้บริการในพื้นที่

นอกจากนี้ รูปแบบบริการปฐมภูมิยังมีทั้งบริการ Home health care และ Telemedicine ซึ่งไม่จำเป็นต้องออนไลน์ แต่สามารถให้บริการแบบ Call center ก็ได้ ถือเป็นบริการปฐมภูมิเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้อง on site ที่ รพ.สต. เพียงอย่างเดียว

ประเด็นสุดท้ายที่ รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ให้ความเห็น คือระบบการวัดผล เมื่อพูดถึงการพัฒนาคุณภาพโดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง ก็ควรต้องเปลี่ยนวิธีวัดประเมินผล เช่น Quality care bundles สมมุติทั้งปีคนหนึ่งคนต้องได้บริการ 10 อย่าง ก็คิดเป็น 10 คะแนน เมื่อถึงเวลาประเมินก็สามารถทราบได้ว่ายังไม่ได้ให้บริการอะไรบ้าง เป็นต้น

ขณะที่ นายชาตรี ศรีสันต์ ผู้แทนนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ในปี 2566-2567 ขณะนี้มี รพ.สต. ถ่ายโอนมาอยู่กับท้องถิ่นประมาณ 4,000 แห่ง ซึ่ง อปท. ก็ไม่ได้เอามาแล้วทิ้งขว้าง แต่พยายามปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายชาตรี กล่าวอีกว่า คำว่าปฐมภูมิ ใกล้บ้านใกล้ใจ ตรงกับบริบทของ อปท. จากประสบการณ์ของตน เวลาเป็นคนไข้ โรงพยาบาลก็ดูแลดี แต่ก่อนและหลังคือรู้สึกว่าเข้าถึงบริการยาก บ้านอยู่ห่างโรงพยาบาลแค่ 15 นาที แต่ต้องตื่นตี 4 ไปจองคิว กว่าจะได้พบแพทย์ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ชม. ทั้งที่บางเรื่องไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูค่าน้ำตาลในเลือด ก็น่าจะใช้ รพ.สต. ดำเนินการ เพื่อให้ใกล้บ้านใกล้ใจ และในอนาคตระบบ Telemedicine ก็น่าจะเข้ามาช่วยได้

“รพ.สต. เวลาอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข จะมีจุดแข็งในเรื่องการรักษา แต่ในส่วนของ อบจ. ก็มีจุดแข็งในด้านการดูแลสุขภาพของชุมชน ซึ่งเรื่องบางเรื่องรักษาทางกายแล้วต้องรักษาทางใจด้วยและคิดว่าสามารถทำงานควบคู่กันไปได้ เป็นจุดแข็งของท้องถิ่นที่สามารถเสริมงานของ รพ.สต. ให้มีคุณภาพ เช่น นอกจากแพทย์แผนไทย ทันตกรรม อาจมีหน่วยสังคมสงเคราะห์อยู่ใน รพ.สต. ด้วย เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในระยะยาวแล้วกระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นพี่เลี้ยงให้ อปท. ต้องทำงานคู่กันเป็นปาท่องโก๋ แยกกันไม่ได้” นายชาตรี กล่าว