ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คำสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่มอบให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาความเหมาะสมในการบรรจุ ‘ฮอร์โมน’ สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ลงในชุดสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) สำหรับประชาชนแบบเฉพาะกลุ่มนั้น ได้รับความสนในอย่างแพร่หลายบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 

เพราะนั่นหมายถึง หากอนาคตสิทธิประโยชน์เกิดขึ้นจริง ฮอร์โมนจะกลายเป็นบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานสำหรับ ‘กลุ่มผู้ที่ต้องการ’ สามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย และปลอดภัยมากขึ้น 

ที่จริงแล้ว เรื่องการใช้ ‘ฮอร์โมน’ ในกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น มีมาอย่างยาวนาน และมีจำนวนไม่น้อยที่ใช้กันอย่าง ‘หลบๆ ซ่อนๆ’ หรือซื้อหากันโดยปราศจากความรู้และการใช้ที่ถูกต้อง แน่นอน ย่อมนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ

ฉะนั้น นอกจาก ‘ฮอร์โมน’ แล้ว ‘องค์ความรู้’ เป็นสิ่งที่จะต้องมีควบคู่กัน

1

สอดรับกับความคิดเห็นจาก ‘นัท’ นิสามณี เลิศวรพงศ์ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง เจ้าของวลี ‘ปังมากพี่นัท’ เจ้าของรายการ ‘สะบัดแปรง’ หนึ่งในพิธีกรรายการ ‘หิ้วหวีไปหิ้วหวีมา’ ควบด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสมรสเท่าเทียม และ ‘ยูน’ ปัณพัท เตชเมธากุล ศิลปิน นักออกแบบชื่อดังระดับโลก ที่ได้ร่วมงานกับ GUCCI และ Instagram ซึ่ง “The Coverage” มีโอกาสได้พบทั้งสอง เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567  ภายในงานเปิดตัว ‘วาสลีน โปร เดอร์มา ทรานซิชั่น บอดี้ โลชั่น’ ที่พัฒนาร่วมกับผู้หญิงข้ามเพศ เพื่อผู้หญิงข้ามเพศที่อยู่ระหว่างการใช้ฮอร์โมนสำหรับเปลี่ยนผ่าน

นัท นิสามณี มองว่าการเข้าถึงบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังสามารถทำได้มากกว่านี้ โดยหวังว่าหน่วยงานสาธารณสุขจะเข้าถึงเพศทางเลือกได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะที่ผ่านมามักจะได้รับคำถามและคำขอปรึกษาจากผู้ที่ต้องการข้ามเพศอยู่เสมอว่าควรต้องเริ่มจากขั้นตอนใด ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ขณะที่ผู้ชายและผู้หญิง เมื่อถึงการเปลี่ยนผ่านของฮอร์โมนจะมีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกาย 

“ส่วนมากคนที่เป็นกะเทยลูกเจี๊ยบ เรารู้ตัวตั้งแต่เด็ก แต่ส่วนนี้ไม่ได้อยู่ในหลักสูตร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขมาบอกว่าต้องทำอย่างไร ส่วนตัวจึงรู้สึกว่าตรงนี้ก็ขอเป็นความหวังเล็กๆ” นัท นิสามณี บอก

อย่างไรก็ดี จากการสังเกตของผู้เขียนจากคนรอบตัวที่ใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ ยังพบว่าส่วนใหญ่จะใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการ ‘บอกต่อ’ หรือสิ่งที่ปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่นในการใช้ฮอร์โมน 

สอดคล้องกับ ‘นัท นิสามณี’ ที่พูดบนเวทีเสวนาภายในงาน โดยเล่าถึงประสบการณ์ใช้ฮอร์โมนเอาไว้ตอนหนึ่ง โดยเธอเรียกว่า “เป็นการลองผิด ลองถูก” และ “ทำตามความเชื่อของรุ่นพี่” เช่น การทานยาคุมย้อนศร ฯลฯ ซึ่งเธอมองว่าผิดหลักวิทยาศาสตร์และสุขอนามัยทั้งหมด

“แต่ก็เพราะไม่ได้มีอะไรออกแบบมาเพื่อพวกเรา นั่นทำให้ยังต้องใช้การปรับไปเรื่อยๆ และถึงแม้จะรู้ว่าอันตราย แต่ก็อยากสวย และมีความมั่นใจมากขึ้น” นัท นิสามณี ระบุ

กลับมาสู่สิ่งที่เธอพูดหลังจบงาน โดยเธอบอกว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือกระทรวงสาธารณสุขสามารถเข้าถึงเพศทางเลือกได้มากกว่านี้ อาจจะทำให้เด็กที่ต้องการข้ามเพศรู้ว่าควรใช้ฮอร์โมนอะไร-อย่างไรถึงจะปลอดภัย

มากไปกว่านั้น การเข้าถึงฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศไม่ได้พูดถึงแค่หญิงข้ามเพศ (Transwomen) แต่ยังรวมถึง ‘ชายข้ามเพศ’ (Transmen) อีกด้วย 

“ในประเทศไทยกะเทยยังเป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่า ส่วนทอมหรือทรานส์เมนยิ่งแคบไปอีก การเทคฮอร์โมนของเขา ก็ยิ่งลองผิดลองถูกมากไปอีก” นัท นิสามณี ระบุ 

เมื่อได้กล่าวถึงการพิจารณาบรรจุ ‘ฮอร์โมน’ ลงไปในชุดสิทธิประโยชน์นั้น เธอบอกว่าหากเกิดขึ้นเร็วก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ควรต้องมาพร้อมกับ ‘ความรู้’ ที่ควบคู่กันไปด้วย เพราะเมื่อยึดจากตัวเอง และคนรอบตัวจะสังเกตได้เลยว่าไม่กลัวตาย 

“พวกเราเป็นพวกตายไม่กลัว กลัวไม่สวย ฮอร์โมนที่ว่าหาซื้อยาก หรือมีราคาสูงยังไม่กลัว ซึ่งกะเทยจะเป็นแบบนี้ ให้กินหนึ่งเม็ดเรากินสอง พอเพื่อนกินสองเรากินสี่ เพราะเราขาดหลักสูตรที่ถูกต้อง ฉะนั้นการเข้าถึงต้องมาพร้อมกับข้อมูลเชิงวิชาการ” นัท นิสามณี อธิบาย

2

ขณะที่ ยูน ปัณพัท อธิบายว่า ชุดความรู้หรือการให้ความรู้เรื่องเพศวิถีที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบต่างๆ รวมถึงระบบสาธารณสุขยังมีน้อยมาก จึงอาจทำให้ยังมองไม่เห็นว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีความต้องการการสนับสนุนอื่นๆ ในระดับ ‘ลงลึก’ ใดอีกบ้าง 

เธอระบุต่อไปว่า เมื่ออธิบายสิ่งเหล่านี้โดยที่ไม่ได้มีการจับภาพรวมจริงๆ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับสาธารณสุขก็อาจจะยากในการพัฒนา โดยจุดเริ่มต้นที่อยากให้ทุกคนรู้ก่อนก็คือ ‘คำในแต่ละคำ’ นั้นมีความหมายว่าอย่างไร เพื่อที่จะได้ไม่กลัวกับสิ่งนั้น ซึ่งหลังจากนั้นอาจจะนำมาพัฒนาไปทีละนิดเพื่อให้ตอบโจทย์กับต่อชุมชน (คอมมูนินี้สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ) ในระยะยาว 

“ทุกวันนี้เราพูดกันถึงเรื่องทรานส์ เราพูดเรื่องจิตวิญญาณ ถ้าในเมื่อเขาไม่พร้อมที่จะเปลี่ยน แม้ว่าจิตใจของเขาจะเป็นผู้หญิงคุณก็คือทรานส์” ยูน ปัณพัท ระบุ 

มากไปกว่านั้น เธอยังมองสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับ ‘นัท นิสามณี’ ว่า หากมีการจะมีการบรรจุลงเป็นสิทธิประโยชน์ก็ควรจะมาพร้อมกับชุดข้อมูล และข้อดีข้อเสีย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองนั้นมีหลายทาง ซึ่งก็แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย