ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เช้าวันที่ 6 ม.ค. 2567 ที่ดูเหมือนทุกเมื่อเชื่อวัน “หมอปุ้ย” หรือ พญ.พาณิพร มณีวัฒนพร แพทย์เวชปฏิบัติของโรงพยาบาลขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ตื่นมาดำเนินกิจวัตรประจำวันตามปกติ โดยที่ไม่รู้เลยว่าในตอนบ่ายของวันเดียวกัน จะเกิดเหตุการณ์ที่เธอไม่คาดคิด คือ การต้องรักษาชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษไซยาไนด์ ซึ่งต้องการรักษาที่ทันท่วงที ขณะที่ยาต้านพิษ ซึ่งที่โรงพยาบาลขุนยวมขณะนั้น “ไม่มีสต็อกไว้”

เมื่อโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ ต้องมาเจอเคสใหญ่ที่เด็กหญิงวัยแค่ 5 ขวบ เกิดเผลอไปซดน้ำยาล้างเครื่องเงินแล้วน็อกลงไปเลย ทว่า ด้วยความรวดเร็วของการประสานงานระหว่างโรงพยาบาล ก็สามารถช่วยชีวิตของเด็กคนนี้เอาไว้ได้ ด้วยเวลาราว 2 ชั่วโมง 

“The Coverage” ขอพาทุกคนมาร่วมสำรวจความสำเร็จในการช่วยชีวิตในวันดังกล่าวว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และ “หมอปุ้ย” รวมถึงทีมแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล แก้ปัญหาหน้างานที่เกิดขึ้นอย่างไร ประสานงานขอความช่วยเหลือกันแบบไหน ถึงสามารถพาลมหายใจผู้ป่วยกลับมาได้

เพราะเคสแบบนี้ แม้ไม่เกิดบ่อย แต่อาจเกิดได้กับทุกโรงพยาบาล 

หมอปุ้ย เผยถึงส่วนสำคัญและบันทึกการปฏิบัติงานที่พอจะเปิดเผยให้ทราบได้ว่า ในวันนั้นเวลาประมาณ 15.15 น.  รถกระบะคันหนึ่งวิ่งมาจอดที่หน้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลอย่างเร่งรีบ คนที่ลงจากรถเป็นชายหญิงคู่หนึ่งสีหน้าวิตกกังวล เรียกเจ้าหน้าที่เวรเปลให้มาช่วยลูกที่กำลังหมดสติอยู่ในรถ 

หมอปุ้ยซึ่งอยู่เวรที่ห้องฉุกเฉินเป็นคนแรกที่วิ่งชาร์จเข้าหาเด็กคนนี้ ก่อนจะรู้ว่าคนไข้คนนี้อายุแค่ 5 ขวบ โดยอาการเบื้องต้นที่เธอเห็น คือหมดสติ เรียกไม่ตื่น น้ำลายฟูมปาก พร้อมกับคราบร่องรอยสารสีขาวเปรอะเปื้อนเต็มรอบแก้ม 

เธอรู้ได้ทันทีว่าไม่ใช่อาการป่วยปกติทั่วไป แต่คนไข้รายนี้ต้องได้รับสารพิษบางอย่างเข้าสู่ร่างกายแน่นอน แว๊บแรกในใจ เธอเชื่อว่าเด็กคนนี้ได้รับสารไซยาไนด์มาอย่างแน่นอน และรับตรงๆ ด้วย 

ทำให้หลังจากนั้นหมอปุ้ยเจาะเลือดผู้ป่วยในทันที พร้อมกับใส่เครื่องช่วยหายใจ และระหว่างรอผลเลือดพร้อมกับเร่งกำชับให้เร็วที่สุดไปด้วย เธอไปซักถามกับพ่อแม่ของเด็กก็พบว่า เด็กไปดื่มน้ำยาล้างเครื่องเงินไป 1 อึก เมื่อประมาณ 15.00 น. พอคล้อยหลังเพียง 5 นาที เด็กก็หมดสติ เรื่องนี้ตอกย้ำการวินิจฉัยที่อยู่ในใจของเธอเข้าไปอีก 

"น้ำยาล้างเครื่องเงินยี่ห้ออะไร แม่หรือพ่อ พอจะรู้มั้ย หรือหยิบขวดน้ำยาติดมือมาหรือเปล่า?" เสียงหมอปุ้ยถาม 

"ไม่รู้ยี่ห้อเลย จำไม่ได้ แต่มีรูป" แม่เด็กตอบรับ 

หมอปุ้ยเห็นยี่ห้อ จึงเข้าไปค้นข้อมูลเพื่อหาส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ว่ามีสารใดบ้างที่อาจเป็นพิษต่อร่างกายอย่างเร่งด่วน แต่ก็ไม่พบข้อมูลใดๆ ที่บ่งบอกได้เลย 

เมื่อไม่ได้ข้อมูลอะไรมาก แต่ชีวิตผู้ป่วยอยู่กับความเป็นความตายทุกวินาที ประมาณ 15.40 น. หมอปุ้ย โทรไปหา “ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี” ซึ่งอยู่ที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาโดยไม่ต้องแจ้งกับผู้บังคับบัญชา (แนวปฏิบัติของโรงพยาบาลขุนยวม) 

เมื่อแจ้งเคสกับปัญหาที่พบไปแล้ว บุคลากรทางการแพทย์จากศูนย์พิษวิทยารามาฯ ก็ตอบกลับมาได้ทันทีว่า เด็กคนนี้ได้รับสารไซยาไนด์อย่างแน่นอน ซึ่งก็ตรงกับที่หมอปุ้ยคิดไว้ในเบื้องต้น แต่ประเด็นต่อมาคือ เด็กคนนี้ต้องได้ “ยาต้านพิษ” โดยด่วน ทว่า โรงพยาบาลขุนยวมไม่มีสต็อกไว้ ศูนย์พิษวิทยารามาฯ ก็ได้ประสานหายาที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลขุนยวมมากที่สุด และต้องเร็วที่สุดด้วย 

"โรงพยาบาลขุนยวมอยู่ใกล้โรงพยาบาลใหญ่ที่ไหนมากที่สุด?"  อาจารย์แพทย์จากศูนย์พิษวิทยารามาฯ ถามหมอปุ้ย 

หมอปุ้ยตอบทันที "เราอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลศรีสังวาลย์มากที่สุด และเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรา" 

"โอเค โรงพยาบาลศรีสังวาลย์มียาต้านพิษ เดี๋ยวเราประสานเลยให้เตรียมยาเอาไว้" ทีมศูนย์พิษวิทยารามาฯ ตอบกลับ พร้อมกับประสานโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ที่อยู่ในตัว จ.แม่ฮ่องสอน ในทันที เพื่อให้เตรียมการ และประสานงานร่วมกันกับโรงพยาบาลขุนยวม รวมถึงศูนย์พิษวิทยารามาฯ ชนิด 'เรียลไทม์'

"แต่เราอยู่ห่างกันมาก กลัวว่าจะให้ยากับคนไข้ไม่ทัน เราไปเจอกันกลางทางได้มั้ยคะ?" 

"ได้เลยครับ ถ้างั้นไม่ทัน ทางเราเตรียมยาเสร็จน่าจะประมาณเกือบ 5 โมงเย็นครับ แล้วรถยาพร้อมออกได้เลย" บุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาลศรีสังวาลย์ ตอบกลับ 

"ทางเราจะให้คนไข้ขึ้นรถฉุกเฉินไว้เลย แล้วออกเดินทาง ถ้าโรงพยาบาลศรีสังวาลย์พร้อมก็ออกมาเลยนะคะ แล้วคุยกันตลอดทางไปเพื่อจะได้นัดจุดกันฉีดยาให้ผู้ป่วย" หมอปุ้ย กล่าว 

กระบวนการตั้งแต่ยกหูไปหาศูนย์พิษวิทยารามาฯ จนมาถึงการตัดสินใจพาผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับยาต้านพิษ มาหายาต้านพิษ หรือการตัดสินใจพายาต้านพิษ มาเจอกับผู้ป่วยแบบ 'กลางทาง' ระหว่างโรงพยาบาลขุนยวม ที่เป็นโรงพยาบาลชุมชน กับโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ทั้งหมดใช้เวลาตัดสินใจกันแค่ 5-10 นาที โดยไล่ตามไทม์ไลน์เวลาได้ดังนี้

เวลา 16.20 น. รถฉุกเฉินออกจากโรงพยาบาลขุนยวม พร้อมผู้ป่วยเด็กที่อาการเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ 

เวลา 17.00 น. รถยาจากโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ออกจากที่ตั้ง 

ระหว่างนี้ มีโทรศัพท์เป็นสื่อกลางระหว่างกัน และมีศูนย์พิษวิทยารามาฯ ที่คอยเช็กอาการของเด็ก และดูผลเลือดไปด้วย เพื่อแนะนำปริมาณยาต้านพิษที่เหมาะสมเพื่อใช้ฉีดให้กับผู้ป่วย 

เวลา 17.20 น. รถทั้งสองคันเจอกันกลางถนนเส้น 108 

เวลา 17.25 น. ยาต้านพิษเข็มแรกจากโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ถูกส่งให้ในรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลขุนยวม และฉีดให้กับผู้ป่วยทันที 

เวลา 17.30 น. ยาต้านพิษเข็มที่ 2 ฉีดลงแขนอีกครั้งตามคำแนะนำของศูนย์พิษวิทยารามาฯ 

เวลา 17.35 น. อาการของเด็กดีขึ้นอย่างชัดเจน เด็กมีอาการดิ้น รู้สึกตัว ไอ ก่อนรถฉุกเฉินจะออกเดินทางต่อพาผู้ป่วยมุ่งสู่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์เพื่อดูแลต่อทันที

จากเช้าที่เคยเป็นปกติสำหรับทุกคน รวมถึงเด็กหญิงวัย 5 ขวบพร้อมกับครอบครัวของเธอ ตกบ่ายชีวิตของน้องต้องอยู่กับความเป็นความตาย แต่เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน รอยยิ้มของพ่อแม่ก็กลับมาเหมือนเดิม 

แต่คนที่ยิ้มมากที่สุด มีความสุข และความภูมิใจมากที่สุด คือทีมแพทย์ทุกคนทั้ง หมอปุ้ย พร้อมกับทีมจากโรงพยาบาลขุนยวม ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ที่นำยาต้านพิษมาให้ และทีมอาจารย์แพทยที่เชี่ยวชาญจากศูนย์พิษวิทยารามาฯ ที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มของผู้ป่วยและครอบครัว หลังผนึกกำลังกันช่วยชีวิตผู้ป่วยเอาไว้ได้ 

"เอาจริงๆ หมอก็ไม่เคยเจอเคสผู้ป่วยที่ได้รับสารไซยาไนด์มาก่อนเลย 

"ปกติแล้วจะเจอกับผู้ป่วยทีได้รับสารพิษจากการเกษตร สารเคมีจากยาฆ่าแมลง - ปุ๋ย ตามไร่ตามนา แต่เคสนี้คือรับสารพิษไซยาไนด์เข้าไปจากขวดน้ำยาล้างเครื่องเงิน ซึ่งเป็นสิ่งของที่หาซื้อได้ง่าย แต่มันมีส่วนผสมของสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และบ้านเรายังขาดการควบคุมในเรื่องนี้ ทำให้คนเข้าถึงสารพิษอันตรายได้ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ   

"อย่างหมอเองก็เพิ่งเคยเจอเคสนี้เป็นครั้งแรก แต่ด้วยแนวปฏิบัติที่เรามีอยู่ คือ แพทย์ทุกคนจะต้องติดต่อไปที่ศูนย์พิษวิทยารามาฯ ในทันทีเมื่อเจอคนไข้ที่ได้รับสารพิษอันตรายและรุนแรง เพราะต้องได้รับยาต้านพิษให้ทันเวลา และมันมีผลต่อชีวิตของผู้ป่วยที่ช้าไปก็ตาย หรืออาจพิการและมีผลกระทบระยะยาว แต่หากได้ทันเวลาก็รอดชีวิต ซึ่งระบบที่วางเอาไว้ทำให้ช่วยเคสนี้ได้ในเวลาอันสั้น" 

"แต่จะเห็นได้เลยว่า แม้ว่าจะมีการประสานกันเร็วแค่ไหน แต่ว่ายาต้านพิษจะมีสต็อกอยู่แค่ในโรงพยาบาลใหญ่ หรือโรงพยาบาลจังหวัดเท่านั้น หากเป็นพื้นที่ห่างไกล ชนบท เข้าถึงยาก ก็จะยิ่งทำให้การส่งยามาล่าช้า เราก็เหมือนกันที่แม้จะดูเหมือนใกล้กันระหว่างโรงพยาบาลขุนยวม กับโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ แต่ทางมันสลับซับซ้อน เป็นโค้งเสียเยอะ ทำความเร็วไม่ได้ เราจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการมาเจอกันกลางทาง เพื่อช่วยชีวิตของผู้ป่วยให้ได้” หมอปุ้ย กล่าวหลังผ่านพ้นเหตุการณ์ช่วยชีวิตผู้ป่วย ที่จะเป็นประสบการณ์สำคัญติดตัวไปตลอดชีวิต

หมอปุ้ย บอกกับเราตอนท้ายว่า หากโรงพยาบาลชุมชนมียาต้านพิษสต็อกอยู่ด้วย ก็จะง่ายต่อการรักษามากขึ้น และทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาต้านพิษ ได้รับอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะกับพื้นที่ห่างไกล