ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ท่ามกลางอัตราการเกิดของประชากรที่ลดน้อยลงทั่วโลก จนทำให้หลายประเทศประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น และประชากรเด็กลดลง จนส่งผลกระทบต่อประเทศนั้นๆ ในทุกมิติ ทว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น หรือสั่นคลอนอัตราการเกิดของ “รัฐเท็กซัส” สหรัฐอเมริกา แม้แต่น้อย 

อีกทั้งปัจจุบันยังพบว่ามีอัตราการเกิดที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในรอบ 15 ปี อีกด้วย โดย สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานถึงการเจริญพันธุ์ของรัฐเท็กซัสโดยอ้างอิงผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮูสตัน (Houston University) ในปี 2565 ที่พบว่า มีการคลอดลูกจำนวน 16,147 คน แต่ที่น่าสนใจคือ มากกว่า 84% ในจำนวนนี้ หรือ 13,503 คน คลอดโดยผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายลาติน หรือเชื้อสายฮีสแปนิก 

นอกจากนี้ เมื่อศึกษาที่ลึกลงไปอีกก็พบว่า อัตราการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงลาตินเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% ยิ่งกับผู้หญิงลาตินอายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 8% 

ในอีกด้านผู้หญิงผิวขาวที่ไม่ใช่เชื้อสายลาติน อัตราเจริญพันธุ์ลดลง 0.2% และผู้หญิงผิวดำลดลงเช่นกันที่ 0.6% แต่ผลการเจริญพันธุ์ของคนอเมริกันเชื้อสายลาติน ก็ทำให้รัฐเท็กซัสมีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นเป็น 2% 

รายงานระบุด้วยว่า อัตราการเกิดของวัยรุ่นสหรัฐฯ ยังคงทรงตัว แต่สำหรับวัยรุ่นหญิงที่ต่างเชื้อชาติ กัน จะมีอัตราการเกิดที่แตกต่างกัน 

สำหรับหนึ่งเหตุผลที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮูสตัน ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเท็กซัส คือ อาจมาจากการเข้าไม่ถึงการทำแท้งที่ถูกกฎหมายในสหรัฐฯ ของกลุ่มวัยรุ่นลาติน หรือกลุ่มวัยรุ่นฮีสแปนิก 

เนื่องจากกฎหมายของรัฐเท็กซัส จะไม่ให้การทำแท้งกับหญิงที่มีอายุครรภ์นานกว่า 6 สัปดาห์ไปแล้ว ทว่า ผู้หญิงจำนวนมากและเกือบทั้งหมด จะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ไปแล้วเมื่อมีอายุครรภ์ประมาณ 8 สัปดาห์ 

เหล่านี้ทำให้หากวัยรุ่นในรัฐเท็กซัส ที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์และต้องการทำแท้ง แต่อายุครรภ์เกินกว่า 6 สัปดาห์ ก็ต้องเดินทางไปรัฐอื่นที่ดำเนินการให้ได้ สิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายต่างๆ การลางาน การเดินทางข้ามรัฐ และการพักฟื้นรักษาตัวหลังจากทำแท้ง 

เอลิซาเบธ เกรกอรี (Elizabeth Gregory) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพศศึกษา มหาวิทยาลัยฮูสตัน กล่าวถึงรายงานการวิจัยเรื่องนี้ว่า อัตราการเจริญพันธุ์ในรัฐเท็กซัส ไม่ได้สะท้อนมุมถึงการบริหารจัดการของภาครัฐ หรือเป็นนโยบายการเจริญพันธุ์ 

เพราะวัยรุ่นในรัฐนี้ โดยเฉพาะชาวลาติน ส่วนใหญ่ไม่มีประกันสุขภาพ อีกทั้งไม่พร้อมต่อการมีลูก เมื่อตั้งท้องแล้วว่าจะรู้ตัวอายุครรภ์ก็เลยที่กฎหมายกำหนด ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งถูกกฎหมายได้ 

"เรายังไม่เห็นเหตุผลอื่นใดนอกจากเรื่องนี้" เกรกอรี สะท้อน และแนะนำว่า รัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงรัฐเท็กซัส จำเป็นต้องทบทวนนโยบายเรื่องนี้ 

ขณะที่มองมาที่ประเทศไทย ประเด็นดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้น หรือพบได้น้อย

เพราะนอกจาก รัฐบาลปัจจุบัน จะให้ความสำคัญอย่างมากต่อประเด็นเด็กเกิดน้อย โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงได้ยกให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกหน่วยงานต้องมาบูรณาการร่วมกันเพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย โดยมีเป้าหมาย คือ เพิ่มประชากรที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการสนับสนุนหลายมาตรการ เพื่อเพิ่มอัตราการเกิดของประเทศ ที่ปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 1.1 ซึ่งถือว่าต่ำอย่างมากแล้ว

ไทยนับว่ามีความก้าวหน้าในเรื่องของทำแท้งด้วย เพราะมีทั้งกฎหมายที่รองรับ รวมถึงมีบริการ “การป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย” เป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ซึ่งครอบคลุมหญิงไทยทุกช่วงอายุ และทุกสิทธิการรักษา กว่า 33 ล้านคน ที่มีความจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (P&P) ด้านการวางแผนครอบครัว เช่น การให้ยาคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด แจกถุงยางอนามัย ฯลฯ ด้วย

สำหรับเงื่อนไขหลักๆ ของการยุติตั้งครรภ์ภายใต้สิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท คือ หญิงตั้งครรภ์ที่ประสงค์จะทำแท้งต้องมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เจะไม่พราะผิดกฎหมายอาญา ส่วนอายุครรภ์ระหว่าง 12-20 สัปดาห์ ก็ยังสามารถทำแท้งได้ แต่ต้องตรวจและปรึกษากับแพทย์ก่อน

มากไปกว่านั้น บริการยุติตั้งครรภ์นี้ ยังเป็นบริการต่อเนื่องที่หากว่าแพทย์พบความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ทั้งโรคโลหิตจาง และกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม หรือความไม่ปลอดภัยอื่นๆ แพทย์ก็จะทำการยุติการตั้งครรภ์ให้ 

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุบริการดังกล่าวเป็นสิทธิประโยชน์ จากข้อมูลล่าสุดในปี 2565 พบว่ามีหญิงไทยได้รับการยุติการตั้งครรภ์ไปแล้วถึง 12,544 ราย 

อ้างอิง : https://www.nbcnews.com/news/latino/texas-latina-teen-birth-rate-rises-after-abortion-ban-rcna135511