ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ชลน่าน’ ยัน ยังไม่กำหนด ‘ปริมาณถือครองยาบ้า 10 เม็ด’ ระบุ ขึ้นอยู่กับกรรมการในที่ประชุม ย้ำ เบื้องต้นแม้จะมีกำหนดปริมาณแต่ยังเป็นการสันนิษฐาน หากเป็นผู้ค้ายังมีโทษหนัก ส่วนสถานบริการรองรับการบำบัดมีพร้อม ทั้ง ‘มินิธัญญารักษ์-หอผู้ป่วยจิตเวช-ศูนย์บำบัดในชุมชน’ 


เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2566 ตอนหนึ่งว่า สำหรับการประกาศกฎกระทรวงกำหนดการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ด ให้ถือเป็นผู้ป่วยนั้น ไม่ใช่เจตนาการแก้กฎกระทรวง เพราะขณะนี้ยังไม่มีกฎกระทรวงมารองรับ ฉะนั้นต้องเป็นหน้าที่ สธ. ที่จะต้องออก เพราะประมวลกฎหมายใหม่ยาเสพติดให้เป็นหน้าที่ รมว.สาธารณสุข

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดปริมาณว่ากี่เม็ด ถึงจะเข้าเกณฑ์ว่าเป็นผู้ป่วย ส่วนที่บอกว่าไม่เกิน 10 เม็ดนั้น เป็นข้อเสนอของกรรมการบางส่วน ซึ่งจากเดิมที่กำหนด 15 เม็ด และบางส่วนเสนอ 5 เม็ด หรือ 2 เม็ด ดังนั้นสำหรับข้อเสนอเรื่องปริมาณพร้อมปรับแก้ เพราะยังไม่ได้ประกาศ ซึ่งจะต้องดูกันอีกครั้ง 

รวมไปถึงขึ้นอยู่กับการประชุมคณะกรรมการที่ สธ. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาถึงปริมาณที่เหมาะในวันที่ 3 พ.ย. 2566 ซึ่ง สธ. จะใช้เหตุผลทางการแพทย์มองปริมาณยาบ้าที่ส่งผลต่อจิตประสาท หรือเป็นอันตรายต่อร่างกายและสังคม ส่วน มท. ยธ. ฯลฯ ที่จะเข้ามาดูมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ปริมาณการซื้อ การขาย การเสพ ฯลฯ 

“สธ. เน้นเปลี่ยนการขังเป็นการบำบัด เพราะเชื่อว่าจะสามารถคืนคนดีสู่สังคมได้ หากเปลี่ยนคุกมาเป็นค่ายฟื้นฟูเพื่อให้โอกาสเปลี่ยนพฤติกรรม มีอาชีพ มีสถานะทางสังคมที่ดี” นพ.ชลน่าน ระบุ 

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า หลักการของกฎหมายใหม่จะเน้นเรื่องการให้โอกาส เพราะการใช้กฎหมายเข้มข้นบังคับอาจไม่ได้ผล เนื่องจากจำนวนผู้ต้องขัง ผู้ค้า หรือผู้เสพยังมีจำนวนมากขึ้น จึงได้มีการแก้ประมวลกฎหมายเน้นการให้โอกาสฟื้นฟูบำบัดรักษา 

กระนั้นการรักษาจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ เนื่องจากต้องการให้โอกาสในการเป็นคนดี หากสมัครใจก็จะไม่มีโทษทางอาญา และส่วนที่สำคัญที่ต้องกำหนดปริมาณหรือจำนวนเม็ดยาเพื่อเป็นข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ เพื่อจะได้ตีความว่าเป็นผู้ป่วย ส่วนนอกเหนือไปจากนั้นจะถือว่าเป็นผู้ค้าซึ่งมีโทษหนักกว่า 

นอกจากนี้ สำหรับวิธีการรองรับเรื่องการให้บริการบำบัดรักษา การประกาศ Quick Win จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ทุกจังหวัด รวมไปถึงกลุ่มงานจิตเวช ตลอดจนหอจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน และศูนย์บำบัดในชุมชนที่ร่วมมือกับ มท. ฉะนั้นมั่นใจว่า เครือข่าย สธ. พร้อมรองรับ  

“สิ่งที่อยากฝากคือการกำหนดจำนวนเม็ดยาเพื่อสันนิฐานเอาไว้เสพ ใช้คำว่าสันนิฐาน เพราะต้องดูพฤติกรรมด้วย หากถือครอง 1 เม็ด แต่มีพฤติกรรมว่าค้าก็ถือเป็นผู้ค้า ไม่ได้สิทธิเป็นผู้ป่วย แม้ว่าจะรักษาทุกคน แต่ต้องทำตามกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของการค้า นำเข้า ส่งออก” นพ.ชลน่าน ระบุ