ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัยหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์แลนเซทออนโคโลจี (Lancet Oncology) เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา นำโดย คริสตินา เจไน (Kristina Jenei) จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political Science หรือ LSE) และ นพ.บิชาล กยาวาลี (Bishal Gyawali) อาจารย์ประจำสาขาโรคมะเร็งและวิทยาการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยควีนส์ แคนาดา (Queen's University Canada) 

มีข้อสรุปที่น่าสนใจว่า ยาต้านมะเร็งที่ประเทศมหาอำนาจรับรอง อาจไม่ได้คุณภาพดีเสมอไป โดยหลายประเทศเลี่ยงนำเข้ายากลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพด้วย

นักวิจัยทั้งสองระบุถึงที่มาของการศึกษาว่า พบยาต้านมะเร็งหลายตัวที่มีราคาแพง แต่กลับมีประโยชน์น้อยมากต่อผู้ป่วย และมีการเบิกจ่ายยาตัวนี้ในระบบหลักประกันสุขภาพ จึงเกิดข้อสงสัยต่อแนวทางการพิจารณาเบิกจ่ายนี้

การวิจัยเปรียบเทียบเกณฑ์การประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health Technology Assessment: HTA) ที่ใช้ในประเทศต่างๆ เมื่อรัฐบาลต้องตัดสินใจนำยามาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพ 

โดยศึกษาเกณฑ์การประเมินใน 8 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

ผลการศึกษาพบว่า ประเทศเหล่านี้มีเกณฑ์การประเมินหลายข้อที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะการพิจารณาประโยชน์ทางการรักษาโรคของยา ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และผลกระทบต่องบประมาณหากรัฐบาลต้องจัดซื้อยาให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระบบสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม พบข้อแตกต่างในเกณฑ์การประเมินที่น่าสนใจเช่นกัน ในเยอรมนี รัฐบาลยอมให้มีการเบิกจ่ายยาต้านมะเร็งที่ได้รับความนิยมที่สุดทุกประเภท ขณะที่อิตาลีเบิกจ่ายเพียง 94% ของยาในกลุ่มนี้, ญี่ปุ่น 82%, อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย 79%, และนิวซีแลนด์ 35%

อีกทั้งในกลุ่มยาต้านมะเร็งที่หน่วยงานอิสระอย่างสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งยุโรป (European Society of Medical Oncology) ระบุว่า มีประโยชน์เล็กน้อยต่อผู้ป่วย รัฐบาลเยอรมนีกลับเบิกจ่ายยากลุ่มนี้มากถึง 83%, ญี่ปุ่น 67%, ฝรั่งเศส 50%, อิตาลี 39%, แคนาดา 28%, อังกฤษและออสเตรเลีย 17% และนิวซีแลนด์ไม่เบิกจ่ายเลย

ข้อค้นพบนี้สะท้อนเกณฑ์การเบิกจ่ายยาที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และความจำเป็นที่ต้องสร้างความโปร่งใสในการเบิกจ่ายยาราคาแพง

งานวิจัยยังอีกพบว่า แม้ทุกประเทศนำปัจจัยทางเศรษฐกิจมาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การตัดสินใจเบิกจ่ายยา แต่กลับไม่พบความชัดเจนว่ามีการคำนึงถึงประสิทธิผลของยาหรือไม่

มีเพียงอังกฤษและญี่ปุ่นที่มีระบบประเมินประสิทธิผลของยาอย่างชัดเจน โดยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปกับการซื้อยา กับผลลัพธ์ทางสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและระบบประกันสุขภาพ 

อังกฤษยังเป็นประเทศเดียวที่มีกลไกการซื้อยาชั่วคราว ผ่านกองทุนยาต้านมะเร็ง (Cancer Drug Fund) ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาบางตัว ในขณะที่หน่วยงานรัฐกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินประสิทธิผลของยา

เมื่อประเทศส่วนมากยังไม่มีเกณฑ์การเบิกจ่ายยาตามประสิทธิผลที่ชัดเจน เจไน หนึ่งในผู้วิจัยจึงเน้นย้ำว่า แต่ละประเทศต้องกลับไปพิจารณาการเบิกจ่ายยาต้านมะเร็งใหม่ ว่ามีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเพิ่มเติมหรือไม่ เมื่อเทียบกับประโยชน์ของยาที่เบิกจ่ายอยู่แล้ว 

เธอเสนอให้กลุ่มประเทศรายได้สูงส่งเสริมความร่วมมือ ในวางระบบการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดการเข้าถึงยาและผลลัพธ์สุขภาพของผู้ป่วย

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าในกลุ่มยาต้านมะเร็งที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ต่ำที่สุด แต่ได้รับการรับรองจากองค์การด้านอาหารและยาในสหรัฐอเมริกา มีเพียง 38% ของยาที่เบิกจ่ายในประเทศอื่น

นพ.กยาวาลี หนึ่งในผู้วิจัย ให้ความเห็นว่า แม้ยาต้านมะเร็งได้รับการรับรองโดยประเทศมหาอำนาจ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นยาที่จำเป็นในประเทศอื่น หรือควรค่าแก่การนำทรัพยากรมาลงทุน เช่นในกรณีของนิวซีแลนด์ ซึ่งไม่เบิกจ่ายยาที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ต่ำเหล่านี้เลย 

“บทเรียนนี้สำคัญสำหรับประเทศกลุ่มรายได้น้อยและปานกลางเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่มีหน่วยงานประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ และมักนึกเอาเองว่ายาที่ได้รับการยอมรับในสหรัฐอเมริกา เป็นยามีคุณภาพ” นพ.กยาวาลี กล่าว

อ่านข่าวต้นฉบับที่ : https://www.news-medical.net/news/20230602/Study-finds-substantial-differences-in-cancer-drug-funding-decisions-across-high-income-countries.aspx