ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอกระดูก แนะ ผู้ป่วยอายุ 80 ปีขึ้นไปไม่ควรใช้ไม้เท้าพยุงระหว่างการขึ้น-ลงบันได ‘เสี่ยงพลัดตกหกล้ม-เจ็บหนัก-ติดเตียง’ ชี้วิธีการเดินขึ้น-ลงบันไดที่ถูกต้องสำหรับผู้ที่มีอาการบาดเจ็บที่ข้อเข่าควรใช้วิธี ‘ดีขึ้น-เลวลง’


นพ.จุมพล ฟูเจริญ นายแพทย์เชี่ยวชาญศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มในการใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดินมากขึ้นสำหรับช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ การใช้ไม้เท้าระหว่างขึ้น-ลงบันได เพราะจะทำให้ใช้งานลำบากมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ 

เนื่องจากการขึ้นลงบันไดต้องใช้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและมือ รวมถึงมีการเคลื่อนไหวทั้งแขนและขา ซึ่งผู้สูงอายุไม่เหมือนกับผู้ที่ยังอายุน้อยที่จะมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือและแขนมากกว่า ผู้ที่ยังอายุน้อยสามารถใช้แขนพยุงลำตัวได้หากเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มระหว่างการใช้บันได แต่การที่ผู้สูงอายุซึ่งมีกำลังแขนน้อยใช้ไม้เท้าขณะขึ้น-ลงบันได ถ้าขึ้นบันไดไม่ถูกวิธีก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุตามมาอย่างเช่น การพลัดตกบันได หรือการหกล้ม 

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ราบเรียบปกติควรที่จะมีการใช้ไม้เท้าช่วยพยุงการเดิน ซึ่งผู้ป่วยที่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดินส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุประมาณ 80 ปีขึ้นไป ที่มีอาการขาเริ่มอ่อนแรงทรงตัวได้ไม่ค่อยดี มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบธรรมชาติ เช่น เข่าเสื่อม ข้อสะโพกเสื่อม หรือผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ ซึ่งไม่รวมกลุ่มผู้ป่วยที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทั่วไป เช่น ประสบอุบัติเหตุทางถนนหรือเล่นกีฬาแล้วได้รับบาดเจ็บที่กระดูก  

ดังนั้น การเดินขึ้นลงบันไดที่ถูกต้อง สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บข้อเข่า ในช่วงที่เดินขึ้นก็ควรเอาข้างที่ไม่มีอาการเจ็บขึ้นก่อน ตามด้วยขาข้างที่เจ็บเดินขึ้นตามอย่างช้าๆ ทีละขั้น เพื่อที่จะให้ขาข้างที่ปกติเป็นขาหลักในการรับน้ำหนัก หรือที่เรียกกันว่า ดีขึ้น เลวลง แต่ไม่ว่าจะเดินขึ้นหรือเดินลงที่สำคัญคือจะต้องมีการจับราวบันไดอยู่ตลอดเวลา และไม่ควรเดินตัวเปล่าเด็ดขาด 

นอกจากนี้หากไม้เท้าใช้ในบริเวณพื้นราบควรเป็นไม้เท้าที่มีความถนัดในการใช้ ซึ่งจะเป็นไม้เท้า3 ขาหรือ 4 ขาก็ได้เพื่อความมั่นคง แต่ถ้าหากเป็นไม้เท้า 4 ขาหรือที่เรียกว่า Walker ก็จะเป็นไม้เท้าที่ใช้แล้วมีความมั่นคงที่สุด เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีกำลังแขนไม่ค่อยแข็งแรง แต่หากเป็นผู้สูงวัยที่กล้ามเนื้อแขนยังคงแข็งแรงอยากจะเดินคล่องขึ้น และไม่มีอาการบาดเจ็บที่ขามากนักก็สามารถใช้ไม้เท้าที่ใช้มือจับข้างเดียวได้ ไม่ว่าจะเป็นไม้เท้าขาเดียวหรือไม้เท้า 3 ขา

นพ.จุมพล ระบุว่า ลักษณะของอาการบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากการที่ใช้ไม้เท้าขึ้นบันไดแล้วเกิดการสะดุดหกล้ม หากเป็นผู้สูงวัยที่มีอายุมากก็จะมีโอกาสในการบาดเจ็บจากการล้มมากพอสมควร
ซึ่งอาการเล็กน้อยจะมีอาการฟกช้ำตามร่างกาย

มากไปกว่านั้น กรณีที่มีความรุนแรงมากขึ้นก็จะเป็นในกรณีของกระดูกมีการแตกหัก อาการที่สามารถพบเห็นได้บ่อยจะเป็นการสะดุดล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก หรือมีอาการกระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บ หากผู้ป่วยเอามือรองไว้ระหว่างล้มก็จะได้รับบาดเจ็บที่ข้อมือร่วมด้วย

นพ.จุมพล กล่าวอีกว่า ในกรณีที่มีความรุนแรงมาก ส่วนของกระดูกสันหลังสามารถหักแล้วเคลื่อนไปทับเส้นประสาทซึ่งจะทำให้เกิดอาการขาอ่อนแรงได้ แต่ถ้าในกรณีสะโพกหักก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการผ่าตัด หากผ่าตัดไม่ได้ก็มีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะกลับมาเดินได้ตามปกติ และสามารถกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ ซึ่งเรื่องของผู้สูงวัยกับการขึ้น-ลงบันไดเป็นเรื่องที่ควรระวังเป็นอย่างมากเพราะว่ามันมีโอกาสบาดเจ็บรุนแรงได้ง่าย

“ปัญหาตอนนี้คือ คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากจะใช้ไม้เท้ากันเท่าไหร่นัก เพราะความคิดที่ว่าคนที่ใช้ไม้เท้าเปรียบเสมือนคนพิการ ซึ่งความจริงเมื่อเปรียบเทียบอุบัติเหตุจากการใช้ไม้เท้าและการไม่ใช้ไม้เท้าแล้ว การที่ผู้ป่วยไม่ยอมใช้ไม้เท้าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่า แต่ก็ต้องขอย้ำว่าไม่ควรใช้ไม้เท้าขณะที่กำลังขึ้นลงบันได” นพ.จุมพล กล่าว