ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘วราวุธ ศิลปอาชา’ มอบนโยบาย “พม. พอใจ ให้ทุกวัยพึงใจใน พม.”  ลุยทำ ‘เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด’ ให้ทั่วถึง ยกระดับศูนย์อนุบาล เล็งตั้ง ‘ศูนย์บริบาลชุมชน’ รองรับสังคมผู้สูงอายุ


วันที่ 19 ก.ย. 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มีการมอบนโยบายการบริหารงาน “พม. พอใจ ให้ทุกวัยพึงใจใน พม.”  ซึ่งจะเป็นกรอบการทำงานตลอดระยะเวลา 4 ปีที่นับจากนี้ ให้กับผู้บริหารทุกระดับ หัวหน้ากลุ่มงาน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ผู้อำนวยการส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 11 เขต/แห่ง ทีมหัวหน้าหน่วยงานเกือบ 400 หน่วย (One home) ทั้งหมด 76 จังหวัด ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และบุคลากรทุกหน่วย

สำหรับนโยบายนั้นจะเป็นแบ่งตามแต่ละช่วงวัย ได้แก่ นโยบายด้านเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก ที่จะปรับปรุงกลไกการคุ้มครองเด็ก ให้ชุมชนและสังคมเข้ามามีส่วนร่วม กำหนดจัดทำแผนการคุ้มครองเด็ก โดยจะทำงานร่วมกันในทีมสหวิชาชีพ ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสร้างความสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 

รวมถึงสื่อสารและบริหารจัดการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดให้ครอบคลุม ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และมีการติดตามที่สัมฤทธิ์ผล ยกระดับศูนย์อนุบาลพัฒนาเด็กเล็ก เน้นการดูแลเด็กแรกเกิด ไม่ว่าจะทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือร่วมกับภาคเอกชน เสริมสร้างศักยภาพผู้ดูแลเด็ก ด้วยการนำความรู้สมัยใหม่ นำเทคนิคต่างๆ ที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละพื้นที่มาประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาทั้งร่างกาย สมอง จิตใจ 

2

“เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา จากจำนวน (เด็กเล็ก) 2,288,000 กว่าราย โดยรีเจค 3,000 กว่าราย ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้รอบหน้า 3,000 กว่ารายนี้ลดลงเหลือ 2,000 เหลือ 1,000 เหลือ 500 เหลือ 100 พมจ. จะต้องลงรายละเอียดมากขึ้น จะทำอย่างไรให้ตัวเลขตรงกัน ไม่ใช่อาเบอร์โทรศัพท์ไปใส่แทนบัตรประชาชน อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วถึงเวลาเงินก็ไม่เข้าในกระเป๋า” นายวราวุธ กล่าว

นโยบายด้านเด็กและเยาวชน ที่ว่าด้วยเรื่องการปรับปรุงกฎหมายให้ท้องถิ่น ชุมชน และสังคมมีส่วนร่วมในการคุ้มครองเด็กมากขึ้น ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพของครอบครัวอุปถัมภ์ สามารถเป็นที่พึ่งให้กลุ่มเปราะบางได้จริง เชื่อมต่อการทำงานกับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ค่ายเยาวชนค้นหาตัวตน เตรียมตัวที่จะเป็นผู้ใหญ่ รู้จักตัวเอง รู้จักความสามารถที่มีพร้อมรับโอกาสใหม่ และโครงการศิลปะบำบัด เยียวยาทางจิตใจด้วยการใช้ศิลปะในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยจะนำร่องการใช้ศิลปะบำบัดสำหรับเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นโยบายด้านคนทำงาน จัดทำโครงการบ้านตั้งต้น โดยบริหารจัดการพื้นที่ของการเคหะแห่งชาติที่ขาดทุนมาทำโครงการที่อยู่อาศัยคุณภาพดี ทำเลดีสำหรับกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มเงินเก็บ รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่อาศัยในการเคหะ นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะให้การเคหะเข้าไปช่วยลดราคาบ้านในปัจจุบันโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) 

ตัวอย่างเช่น การซื้อตึกแถวร้างที่มีจำนวนมากในราคาปัจจุบัน มาทำประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยแบ่งเช่าในราคาถูกให้กับผู้ที่ต้องการ สร้างรายได้ใหม่ให้สมาชิกนิคมสร้างตนเอง พัฒนาเยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม และการเตรียมตัวเรื่องเงินสำหรับประชากรก่อนวัยสูงอายุ (Pre-aging) เตรียมเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการบริหารเงินบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีบุตรและไม่มีหลักประกันในรายได้ในยามชรา 

3

อย่างไรก็ดี เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พม. เองก็จะเข้ามาดูแลผ่าน นโยบายด้านผู้สูงอายุ ที่ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จัดตั้งศูนย์บริบาลผู้สูงอายุชุมชน โดยอบรมทักษะงานบริบาลและจัดจ้างเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนในชุมชนเข้ามาดูแลผู้สูงอายุ จนไปถึงการเชื่อมต่อกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดทำโครงการเพื่อจูงใจคนวัยเกษียณ ใช้ประสบการณ์ที่มีทำงานต่อ 

ผ่านการจัดหางานผู้สูงอายุ และกองทุนพัฒนาชุมชนเพื่อผู้สูงอายุสนับสนุนการกู้ยืมเงินเพื่อการประกอบอาชีพ โดยจะมีการทำงานเชื่อมโยงกันระหว่าง พม. อปท. และสถาบันการศึกษา นำความรู้มาประยุกต์ใช้กับการสร้างรายได้ และการสร้างศูนย์พักฟื้นและเสริมพลังชีวิต (Rejuvenation Center) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เมื่อถึงวัยสูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพ การเงิน จิตใจ วิถีชีวิต ฯลฯ 

สุดท้าย นโยบายว่าด้านคนพิการและคนไร้ที่พึ่ง โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้สมจริงและดูแลคนพิการได้ครอบคลุมทั่วถึงขึ้น โดยจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยกระดับศูนย์บริการคนพิการทั่วไปร่วมกับองค์กรด้านคนพิการ ให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน มีแผนปฏิบัติและหลักเกณฑ์สนับสนุนที่ชัดเจน

รวมถึงสร้างความเข้าใจให้คนทั่วไปเข้าใจคนพิการให้มากขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปรับให้วิธีการบริหารจัดการคล่องตัว ยืดหยุ่น สามารถใช้เงินในกองทุนได้ง่ายขึ้น ลดจำนวนตัวเลขกองทุนที่เหลือให้น้อยลง เพื่อให้เงินจำนวนนี้สร้างโอกาสให้คนพิการในประเทศทั้ง 2.2 ล้านคน ตลอดจนจัดโครงการฝึกอบรมแรงงานหรือระบบจับคู่งานกับกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มคนพิการและกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สู่การจ้างงานที่มีค่าตอบแทนสูง 

“4 ปีหลังจากนี้ ผมขอปวารณาตัว ทำงานให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้นำและที่พึ่งของประชาชนทุกคนเข้าถึง โอกาสและการคุ้มครองทางสังคม ที่นำไปสู่หลักประกันและความมั่นคงในชีวิตครับ” นายวราวุธ ระบุเพิ่มเติมในเพจเฟซบุ๊ก