ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

(1)

โรงพยาบาลมีชนชั้น และ ‘พยาบาล’ ไม่ต่างไปจากกระโถน

นอกจากต้องสวมบทบาทการเป็นด่านหน้า ซึ่งหมายถึง จุดปะทะ กับคนไข้แล้ว ยังต้องคอยรองรับบุคลากรที่อยู่สูงขึ้นไปด้วย

แต่ละนาทีจึงผ่านไปพร้อมกับความเครียด บางรายรุนแรงถึงขั้นควบรวมอารมณ์ทางลบจนกลายเป็น ‘ก้อนแห่งความเกลียดชัง’

สถานที่ที่ควรจะเป็น Happy Workplace อย่างโรงพยาบาล จึงอบอวลไปด้วย ‘มวลแห่งความทุกข์’ ของพยาบาล

(2)

แม้ว่าเธอจะไม่เข้าใจอย่างถึงที่สุด หากแต่เธอก็พอจะรู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหางได้ นั่นจึงทำให้พยาบาลวิชาชีพรุ่นใหม่อย่างเธอ ไม่ถูก ‘ความ Toxic’ ในที่ทำงานเผาไหม้

เธอไม่เข้าใจว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้อาจารย์แพทย์ท่านนี้เปลี่ยนไป เพราะโดยปกติแล้ว ท่านจะเป็นคนใจเย็น มีรอยยิ้มเป็นอาภรณ์ และมีขนาดของหัวใจที่กว้างใหญ่พอสำหรับโอบอุ้มทุกผู้ทุกคน

แต่ในวันนี้ ณ โมงยามที่มีเคสผ่าตัดอยู่ตรงหน้า อาจารย์กลับกลายเป็นคนฉุนเฉียว ระดับอารมณ์รุนแรง พร้อมจะสบถและปลดปล่อยผรุสวาจาออกมาคุกคามคนที่อยู่รอบด้านโดยไม่มีอำพราง

แน่นอน เธอทราบดีว่าสิ่งที่อาจารย์แพทย์กำลังเดิมพันอยู่คือชีวิต คือ ‘ความเป็น-ความตาย’ ของคนไข้ เธอรู้ว่ามันเป็นเดิมพันที่สูงมาก 

แต่ใช่หรือไม่ว่า ไม่ว่าจะสถานการณ์ใดก็ไม่มีความชอบธรรมพอให้ใครสามารถแสดงพฤติกรรมกักขฬะใส่ใครได้

มาถึงตรงนี้เธอไม่ค่อยแน่ใจ และไม่เข้าใจว่า ทำไมเธอถึงไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้สักที

(3)

พยาบาล
[พะยาบาน] ก. ดูแลคนไข้ ปรนนิบัติคนไข้
(โบราณ) เอื้อเฟื้อเลี้ยงดู. น. ผู้ดูแลคนไข้.

(4)

“โรงพยาบาล SOTUS เข้มข้นมาก โดยเฉพาะในวิชาชีพพยาบาล”
“อารมณ์แบบว่าเขามีประสบการณ์มากกว่า … เขาจะต้องเป็นฝ่ายถูก เราติเขาไม่ได้”
“ใช่ เขาก็ไม่กล้าติหรือตำหนิอะไรกับรุ่นพี่ของเขาเหมือนกัน”
“กฎข้อเดียวคือ ถ้าพี่ทำอะไร … เราห้ามทำแบบนั้นกลับ”

เป็นเวลานานทีเดียวที่เธอยืนอยู่ตรงนี้ เพื่อทบทวนบางสิ่งบางอย่าง

เหตุใดพยาบาลรุ่นพี่ของเธอจึงไม่เคยรับฟังความคิดเห็นของเธอเลย ทั้งที่พยาบาลรุ่นพี่ก็ทำงานมาก่อนเธอมาได้ไม่นาน 

ไม่ใช่แค่คนเดียว แต่เป็นเหมือนกันหมด 

เหตุใด ‘ผู้ที่มาก่อน’ จึงมีความเชื่อมั่น และมักผูกขาดความถูกต้องว่าเป็นของตัวเองคนเดียว … เธอคิด และด้วยคิดว่า ความคิดของเธอก็ถูกเหมือนกัน

1

(5)

ข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2550 

ส่วนที่ 2

การปฏิบัติต่อผู้ร่วมวิชาชีพ

ข้อ 19 ผู้ประกอบวิชาชีพ พึงยกย่องให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน

ข้อ 20 ผู้ประกอบวิชาชีพ ต้องไม่ทับถมให้ร้ายหรือกลั่นแกล้งกัน

(6)

แหล่งข่าวพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลรัฐ บอกเล่ากับ “The Coverage” ว่า การทำงานในแต่ละวันเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ไม่ดี เพราะในวัฒนธรรม SOTUS การทำตามหน้าที่ก็มีโอกาสกลายเป็นฝ่ายผิดได้ 

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ในวัฒนธรรม SOTUS เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบหรือร้องเรียนใคร โดยเฉพาะทุกวันนี้ที่ระบบการร้องเรียนต่างๆ ถูกผูกติดไว้กับสายบังคับบัญชา หมายความว่าหากต้องการจะร้องเรียนเรื่องใด จะต้องร้องเรียนผ่านหัวหน้า ที่สำคัญก็คือ หัวหน้ามีอำนาจที่จะปัดตกเรื่องที่เห็นว่าไม่มีน้ำหนัก หรือไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ แม้ว่าโรงพยาบาลจะออกแบบระบบการร้องเรียนแบบ ‘กระดานกลาง’ เอาไว้ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่มีใครสามารถร้องเรียนได้ เพราะจะถูกมองว่าบุคลากรหรือฝ่ายตัวเองมีปัญหา 

หรือหากร้องเรียนผ่านกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สุดท้ายผู้ร้องก็อาจอยู่ไม่ได้ และส่วนกลางก็อาจมองกลับมาว่าโรงพยาบาลนี้มีปัญหา ซึ่งแน่นอนผู้บริหารโรงพยาบาลย่อมไม่พึงพอใจเป็นแน่

“ควรต้องมีการจัดทำระบบ หรือออกแบบช่องทางร้องเรียนที่เป็นอิสระ หรือสร้างกลไกที่เป็นธรรมขึ้นมาเพื่อเปิดช่อง-เปิดรูให้พยาบาลคนเล็กคนน้อยหายใจได้บ้าง ไม่เช่นนั้นปัญหาจะไม่มีทางถูกสะท้อนขึ้นไปถึงข้างบน จะถูกฆ่าตัดตอนหมด” พยาบาลวิชาชีพ กล่าว

3

(7)

ทางด้าน สุวิมล นัมคณิสรณ์ จากภาคีพยาบาล หรือ Nurses Connect บอกเล่ากับ “The Coverage” ว่า วัฒนธรรมองค์กรของพยาบาลนั้นถูกปลูกฝังมาจากระบบ SOTUS ทำให้ไม่มีการที่จะกล้าต่อสู้หรือกล้าพูด ตั้งแต่สมัยเรียน พอมาทำงานก็จะต้องมาอยู่ภายใต้ระบบเดิมๆ ที่มีคนที่จบจากสถาบันเดียวกันตั้งวัฒนธรรมองค์กรไว้ รุ่นพี่มาก่อนเสมอแม้กระทั่งในเรื่องของการพัฒนาอาชีพหรือการไปเรียนต่อ อีกทั้งถ้าฝ่ายบริหารไม่ถูกใจใคร คนนั้นก็มีโอกาสจะถูกกลั่นแกล้งได้ 

เขาสามารถใช้อำนาจบีบลงมาที่หัวหน้าแผนกผ่านมาถึงตัวเราได้ ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากระบบ SOTUS ที่เกิดขึ้น และไม่สามารถร้องเรียนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ แน่นอนว่า ความจริงมีระบบที่สามารถร้องเรียนได้อยู่แต่สุดท้ายก็จะเกิดการล่าแม่มด ทำให้คนที่ออกมาต่อต้านระบบนี้โดนรังแกอยู่ดี

“การถูกกลั่นแกล้งก็อย่างเช่น การประเมินงานไม่ผ่าน การประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนให้น้อย การสั่งถูกโยกให้ไปอยู่หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ โดยที่ไม่ได้ถามความสมัครใจก็มีเหมือนกัน ความก้าวหน้าทางอาชีพบางทีมันก็น้อย เพราะระบบอาวุโสเขาก็จะยื่นโอกาสให้กับรุ่นพี่ก่อนเสมอ ไม่ได้ดูเรื่องของคุณสมบัติอื่นๆ เป็นหลัก” เธอกล่าว

สุวิมล ย้ำว่า เรื่องนี้ส่งผลต่อจิตใจคนทำงานอย่างหนัก และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีพยาบาลจำนวนมากออกจากระบบ จากความเครียดและความกดดัน 

ระบบ SOTUS เป็นระบบที่ส่งเสริมให้เกิดระบบอำนาจนิยม และเป็นบ่อเกิดของสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี ทั้งจากเรื่องของการบริหารงาน บริหารคน หรือในเรื่องของทัศนคติที่หัวหน้าปฏิบัติต่อลูกน้อง 

เธอได้เสนอวิธีการแก้ไขเรื่องนี้ว่า ควรมีการปลูกฝังไม่ให้มีระบบ SOTUS ตั้งแต่ตอนเรียน ต้องให้นักศึกษาพยาบาลรุ่นพี่รู้จักเคารพสิทธิและไม่ละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น วัฒนธรรมบางอย่างที่ไม่ควรมีอยู่ต่อก็ไม่ควรสานต่อ ควรจะปลูกฝังให้นักศึกษาพยาบาลมีความคิดที่ทันโลกไม่ใช่เอาความคิดที่ล้าหลังมาปลูกฝัง สำหรับพยาบาลที่มีความคิดอำนาจนิยม สิ่งเดียวที่จะทำได้คือรอให้เขาเกษียณออกไปจากระบบ และให้มีการปรับเปลี่ยนเจนเนอเรชันใหม่ในการทำงาน ปัญหานี้ย่อมต้องมีวันสิ้นสุดลง

2

(8)

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นริญญา มงคลเอี่ยม สมาชิกสหภาพพยาบาล และอดีตพยาบาลโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ขณะนี้กำลังจะไปทำงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมือง Gießen ประเทศเยอรมนี เล่าให้ “The coverage” ฟังว่า ถ้าจะให้ระบบ SOTUS หายไปก็ต้องเริ่มที่ตัวนักศึกษาพยาบาลด้วยการสร้างความตระหนักว่า การทำ SOTUS เป็นสิ่งที่ผิดและต้องมีการยกเลิกทุกกรณี นักศึกษาต้องร่วมมือร่วมใจกันต่อต้านระบบกดขี่ พร้อมทั้งต้องออกกฎระเบียบมาให้เป็นลายลักษณ์อักษรของทั้งทางมหาลัย
และของวิทยาลัยพยาบาล ซึ่งสิ่งนี้ควรเป็นคำสั่งที่ส่งตรงมาจากคณบดีหรืออาจารย์เป็นผู้ออกหนังสือคำสั่งว่า ห้ามทำกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบ SOTUS เพราะว่าหากห้ามด้วยคำพูดจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น และไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากบางคนก็ไม่สามารถตระหนักถึงความโหดร้ายและข้อเสียที่มากมายของระบบ SOTUS นี้ได้

นอกจากจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้ว คนที่ออกมาพูดเรื่องประเด็นนี้ก็จะถูกกดดันและกลั่นแกล้งอีก

เธอได้กล่าวต่อไปว่า ในความเป็นจริงไม่ควรมีระบบ SOTUS อยู่ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว แต่ในความเป็นจริงตั้งแต่สอบติดมาก็มีระบบนี้อยู่ในชีวิตการเป็นนักศึกษาพยาบาล แม้ปัจจุบันจะลดน้อยลงไปเพราะการตระหนักรู้ที่มากขึ้น แต่ก็ยังคงมีระบบ SOTUS ที่เข้มข้นในสถานศึกษาที่เป็นวิทยาลัยพยาบาล 

ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าอาจารย์และผู้บริหารในสถานศึกษาเองมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับระบบนี้และยินดีที่จะทำให้มันเกิดขึ้น โดยการ ‘เอาหูไปนา เอาตาไปไร่’

“สมัยเรียนก็เคยไปคุยกับผู้ใหญ่ในสถานศึกษาเกี่ยวกับระบบ SOTUS เขาก็ปัดความรับผิดชอบ โดยการตอบว่าเขาไม่รู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องที่นักศึกษาพยาบาลทำกันเอง” นริญญา กล่าว

ส่วนเรื่องระบบ SOTUS ในระดับของการทำงาน เธอเล่าว่า ในอดีตอาจจะเข้มข้น แต่ปัจจุบันตอนที่เธอปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่งระบบนี้ก็ไม่ค่อยเข้มข้นแล้ว ไม่มีการบังคับเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกแต่ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า ระบบอาวุโส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ SOTUS ที่ยังอยู่

“จากประสบการณ์ตรงเลยนะ ตอนนั้นอยากจะเรียนต่อเฉพาะทางเคมีบำบัด ซึ่งถ้าเรียนจบแล้วก็จะได้ใบรับรอง เราได้ไปปรึกษากับหัวหน้าพยาบาลว่า อยากจะเรียนสาขานี้ หัวหน้าเป็นคนใจดีเขาก็ให้เราเรียน ซึ่งปกติรุ่นพี่จะได้เรียนก่อนรุ่นน้อง แต่ด้วยความที่เราได้เรียนก่อนก็มีรุ่นพี่บางคนมาบอกว่า ทำไมเราถึงได้ไปเรียนก่อน ทั้งๆ ที่รุ่นพี่คนอื่นยังไม่ได้เรียนเลยนะ” นริญญา กล่าว