ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสภาเทคนิคการแพทย์ ยัน ‘รับรู้ปัญหา-พยายามหาทางแก้’ แตไม่มีอำนาจสั่งการโดยตรง ทำได้เพียง ‘สะท้อนปัญหา-ให้ข้อมูล-ติดตามการแก้ไข’ สุดท้ายเรื่องจึงติดอยู่ที่ ‘สธ.-ก.พ.’ 


ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ตั้งแต่อดีตจนเริ่มวาระของคณะกรรมการชุดใหม่ของสภาเทคนิคการแพทย์ (2566-2569) มีการประสานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อสะท้อนปัญหา ให้ข้อมูล รวมถึงใช้ช่องทางอื่นๆ เท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อหาทางออกอยู่เสมอ แม้ที่ผ่านมาจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง หรือถูกละเลย แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา มีตัวแทนจาก สธ. มาประชุมร่วมกับสภาฯ โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะเข้ามาดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมในทุกด้าน

ทั้งนี้ ปัญหาหลักๆ ที่สภาฯ เห็นว่ามีความสำคัญ และได้พยายามผลักดันแก้ไขจะมีในส่วนกรอบอัตรากำลัง ความขาดแคลนบุคลากร ภาระงานที่เพิ่มขึ้น ค่าตอบแทน รวมถึงเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (พ.ต.ส.)  และโดยเฉพาะเรื่องนักเทคนิคการแพทย์ในระบบสาธารณสุขของรัฐส่วนหนึ่งที่เป็นลักษณะการจ้างเหมาบริการ ซึ่งไม่มีความชัดเจนในแง่ของความมั่นคง เพราะคิดการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายวัน ลาป่วยหรือหยุดงานก็จะไม่ได้รับเงิน โดยล่าสุด สธ. ก็มีการหารือ และมีผลสรุปการประชุมว่าการบริหารกรอบอัตรากำลังจะไม่ให้มีการจ้างงานในรูปแบบนี้ 

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติยังไม่มีความชัดเจน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นข้อสรุปที่รับรู้ หรือรับทราบกันโดยทั่วไป แต่ไม่มีหนังสือสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งผู้บริหารโรงพยาบาลบางแห่งจะไม่ดำเนินตามแนวทางข้อสรุปดังกล่าว หาก สธ. ไม่มีการทำหนังสือสั่งการ ทำให้ผลสุดท้ายสถานะการจ้างของนักเทคนิคการแพทย์กลุ่มนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยน

“ทางสภาเราได้แจงไปที่กระทรวงว่าจากข้อสรุปต่างๆ ในที่ประชุมบางครั้งก็ต้องมีลายลักษณ์อักษรให้ผู้ที่ไปปฏิบัติงานได้มีกรอบที่ชัดเจนในการปฏิบัติงาน ถ้าบอกว่ามีผลสรุปอยู่ในสไลด์เพาเวอร์พ๊อยท์ คือแล้วยังไงต่อ” ทนพ.สมชัย กล่าวเสริม

ทนพ.สมชัย กล่าวต่อไปว่า อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่พูดให้ถึงที่สุดในเชิงปฏิบัติแต่ละเขตสุขภาพไม่มีมาตรฐานในเรื่องอัตราค่าจ้างด้วย คือมีตั้งแต่ 600-800 บาทต่อวัน ซึ่งลักลั่นกันอย่างมาก และด้วยการจ้างในส่วนนี้เป็นการใช้เงินบำรุงโรงพยาบาล โดยบางแห่งจะเอาเงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวซึ่งเป็นการเหมาจ่ายบริการมาหารด้วยจำนวนวัน เช่น 16,800 บาท หาร 30 วัน ถ้าหยุดก็โดนหักออก ทำให้อัตราค่าจ้างที่ได้รับยิ่งแตกต่างกันระหว่างพื้นที่

“เราก็เข้าใจว่าในเมื่อกรอบอัตรากำลังมันไม่เปิด แต่ทางโรงพยาบาลต่องใช้คน มันก็ต้องจ้าง แต่ตรงจ้างนี้แหละที่เราพยายามเรียกร้องตอนนี้ให้มันมีมาตรฐานกลางตัวหนึ่ง ให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับการดูแลในระดับหนึ่ง และถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ไปอยู่ในระบบเป็นรายเดือน ซึ่งตรงนั้นจะมีข้อมูลบันทึกการจ้างและสะท้อนว่ามีตัวตนอยู่จริง” นายกสภาเทคนิคการแพทย์ ระบุ 

มากไปกว่านั้น ประเด็นความก้าวหน้าทางวิชาชีพก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะต้องยอมรับจริงๆ ว่าปัจจุบันความก้าวหน้าของนักเทคนิคการแพทย์น้อยมาก โดยส่วนใหญ่คนปฏิบัติงานสมมติบรรจุเข้ารับราชการก็จะเป็นตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์ปฏิบัติการ และก็จะได้รับประเมินขึ้นเป็นนักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการ โดยอันนี้ทุกคนขึ้นได้ แต่ติดและตันอยู่ตรงนี้เป็นกลุ่มก้อนใหญ่มาก ซึ่งโอกาสที่จะขึ้นเป็นชำนาญการพิเศษยากมาก 

“บางคนถ้าอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนก็เกษียณในระดับชำนาญการก็มี มันก็จะมีคำพูดเหมือนแทงใจของคนทำงานว่า จริงๆ ได้เลื่อนแล้ว แต่เป็นนักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการ นานเป็นพิเศษ” ทนพ.สมชัย กล่าว

ทนพ.สมชัย กล่าวอีกว่า นอกจากปัญหาต่างๆ ในสายงานนักเทคนิคการแพทย์ที่สภาเทคนิคการแพทย์พยายามผลักดันแล้ว ยังมีอีกประเด็น คือ เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ที่ตอนนี้ไม่มีเข้ามาใหม่แล้วเป็นบุคลากรเดิมทั้งหมด โดยกลุ่มนี้จะมีการพัฒนาความรู้จนคุณวุฒิขึ้นเทียบเท่าเป็นระดับปริญญาตรี สอบใบประกอบวิชาชีพนักเทคนิคการแพทย์ได้แล้ว ซึ่งสมัยก่อนช่วงหนึ่งจบมาก็จะสามารถปรับให้เป็นนักเทคนิคการแพทย์ แต่ปัจจุบันทำไม่ได้ โดยมีการอ้างเรื่องงบประมาณ หรือไม่มีระเบียบรองรับ

นอกจากนี้ เมื่อทางสภาฯ สื่อสารไปยังผู้บริหารของ สธ. ก็ได้รับคำตอบว่าได้นำเรื่องไปเสนอที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แล้ว กำลังรอการพิจารณาอยู่ ซึ่งก็เหมือนเลือกปฏิบัติ เพราะถ้ามองไปที่สายงานพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลไปจบตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพปรับได้เลย ตรงนี้ส่วนตัวมองว่าเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง และก็ได้มีการสนับสนุนเรียกร้องให้กับคนปฏิบัติงานอยู่เสมอ เพราะเข้าใจว่าทุกคนก็อยากเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อุตส่าห์ไปเรียนต่อเพื่อปรับคุณวุฒิ 

“หลายเรื่องก็มีการขยับไปข้างหน้าในระดับนึง แต่ถ้าถามคนที่เขาเดือดร้อน มันยังไงก็ไม่เร็ว เขาฟังยังไงก็ช้า เพราะต้องเข้าใจว่าคนที่เขาเจ็บเขารู้สึกว่าต้องรอถึงเมื่อไหร่ ซึ่งผมว่าถ้าทุกฝ่ายเข้าใจปัญหา และดูแลอย่างทั่วถึงมันก็น่าจะเดินไปได้” นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าว