ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ราชกิจจานุเบกษา” เผยแพร่ประกาศสภาเทคนิคการแพทย์เรื่อง การตรวจวิเคราะห์ด้วยการตรวจเลือดสด (Live Blood Analysis) ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการในวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ 


เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 เผยแพร่ ‘ประกาศสภาเทคนิคการแพทย์’ เรื่อง การตรวจวิเคราะห์ด้วยการตรวจเลือดสด (Live Blood Analysis) ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการในวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ 

ทั้งนี้ เหตุผลคือ 1. การตรวจวิเคราะห์เม็ดเลือดด้วยกล้องจุลทรรศน์ อาศัยการย้อมสีเฉพาะและใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพื้นหลังสว่าง (Bight - field microscope) ซึ่งจะทำให้เห็นลักษณะทั้งขนาดรูปร่าง องค์ประกอบภายในเซลล์ เพื่อประกอบการระบุจำนวน และจำแนกชนิดของเม็ดเลือดขาว การระบุรูปพรรณของเม็ดเลือดแดง และปริมาณเกล็ดเลือด ไม่สามารถตรวจด้วยการดูเลือดสดผ่านกล้องจุลทรรศน์ชนิด dark field หรือกล้องจุลทรรศน์ชนิดอื่นใด

2. การตรวจดูเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในเลือด

จะต้องอาศัยการเพาะเชื้อจากเลือดเป็นลำดับแรกก่อน แล้วจึงย้อมดูด้วยสีเฉพาะ และตรวจดูโดยใช้

กล้องจุลทรรศน์ชนิดพื้นหลังสว่าง (Bright field microscope) ไม่สามารถตรวจด้วยการดูเลือดสด

ผ่านกล้องจุลทรรศน์ชนิด dark field หรือกล้องจุลทรรศน์ชนิดอื่นใด เว้นแต่การตรวจดูเชื้อกลุ่ม Spirochete ซึ่งก็ไม่ใช่การตรวจจากเลือดสดอีกเช่นเดียวกัน

3. การตรวจปริมาณสารเคมีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไขมัน น้ำตาล ฮอร์โมน สารที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือสารอื่น ๆ จะตรวจในน้ำเหลือง (Serum หรือ plasma) ไม่ใช่ตรวจดูเม็ดเลือด ดังนั้นจึงไม่สามารถตรวจด้วยการดูเลือดสดผ่านกล้องจุลทรรศน์ ชนิด dark field หรือกล้องจุลทรรศน์ชนิดอื่นใด

สำหรับประกาศฉบับดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากมีบางหน่วยงานหรือองค์กร ได้นำวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เรียกว่าการตรวจเลือดสด หรือ Live Blood Cell Analysis (LBA) เข้ามาให้บริการกับประชาชน โดยมีการประชาสัมพันธ์ว่า "การดูลักษณะเม็ดเลือดในเลือดสดเพียงหยดเดียวด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดพื้นหลังมืด (dark fieldmicroscope) สามารถระบุว่ามีความผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกายได้" 

เช่น 1. การวิเคราะห์ความสมบูรณ์ทางชีวภาพของเม็ดเลือด ภาวะเลือดผิดปกติ ภาวะเลือดจาง 2. การมีสารโลหะหนักสะสมในร่างกาย 3. แนวโน้มในการเป็นภูมิแพ้และความไม่สมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน 4. ความเป็นพิษในระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต 5. การมีเชื้อแบคทีเรียและพยาธิแอบแฝง 6. การบ่งชี้สารอนุมูลอิสระในเลือด 7. การมีไขมันตกค้างในระบบไหลเวียนโลหิต 8. ภาวะขาดสารอาหารหรือวิตามินบางชนิด 9. ความผิดปกติในระบบฮอร์โมนต่างๆ ของร่างกาย 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนที่รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และไม่ให้

ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์กระทำผิดมาตรฐานการให้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ จนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินการด้านจรรยาบรรณ และป้องกันมิให้มีผู้แวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการกระทำดังกล่าว สภาเทคนิคจึงออกประกาศนี้