ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ร่วมงานวันไตโลก ประจำปี 2562 “ทุกคนทั่วไทย ไตแข็งแรง” กระตุ้นเตือนประชาชนตระหนักเสี่ยงโรคไต เลี่ยงพฤติกรรมกินรสเค็ม มุ่งลดอัตราผู้ป่วยโรคไต แนะใช้กลไก “กองทุนสุขภาพตำบล” ร่วมป้องกันโรคไต เผยตลอด 3 ปี มี โรงเรียน รพ.สต. ศูนย์เด็กเล็ก หน่วยงานประชาชน เสนอหลากหลายโครงการ ร่วมลดกินเค็มกว่า 55 ล้านบาท

นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคไตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือการบริโภคอาหารรสเค็มมากเกินไป การปรับพฤติกรรมการบริโภคและเลี่ยงอาหารรสเค็มจึงเป็นมาตรการสำคัญ “วันไตโลก” (World Kidney Day) ประจำปี 2562 นี้ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข, เครือข่ายลดบริโภคเค็ม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย องค์การเภสัชกรรม สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมจัดงานรณรงค์ภายใต้คำขวัญ “Kidney Health for Everyone Everywhere” หรือ “ทุกคนทั่วไทย ไตแข็งแรง”

ทั้งนี้งานนี้เป็นการสร้างกระแสความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคมเพื่อลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลง ดังที่ทราบกันดีว่าตัวเลขผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไตมากขึ้นทุกปี ทั้งการล้างไตผ่านช่องท้องและการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียมทำให้รัฐบาลต้องใช้ทรัพยากร เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และงบประมาณในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น และสิ่งที่น่ากังวลคือสถิติผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคไตจากพฤติกรรมการกินเค็ม แสดงให้เห็นว่าเกิดในกลุ่มคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากนิสัยการกินเค็มในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ติดมาจนถึงเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกันอย่างจริงจังและเร่งด่วน

นพ.ปานเทพ กล่าวว่า กลไกของ สปสช.ในการสนับสนุนเพื่อร่วมป้องกันโรคไตและส่งเสริม Health literacy ในเรื่องการลดเค็มที่อยากเน้น คือกลไก “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือ “กองทุนสุขภาพตำบล” ซึ่งที่ผ่านมามีโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์เด็กเล็ก หน่วยงานภาคประชาชน นำเสนอและดำเนินโครงการเพื่อร่วมป้องกันโรคไต นับเป็นกลไกในระดับตำบล ที่จะผลักดันให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพในระดับชุมชนได้จริง ยั่งยืน ตามบริบทพื้นที่แต่ละแห่ง ไม่แต่เฉพาะในพื้นที่ชนบทเท่านั้นที่มีกลไกกองทุนสุขภาพตำบล แต่ในพื้นที่ กทม. สปสช.ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในการจัดตั้งกองทุนท้องถิ่นเช่นกัน โดยเริ่มดำเนินการมาในปี 2561 ซึ่งยังมีงบประมาณให้ทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอีกมากมาย

“จากข้อมูลตลอด 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561 มีการใช้งบประมาณกองทุนสุขภาพตำบลในโครงการที่เกี่ยวกับการลดเค็มไปประมาณ 55 ล้านบาท มองว่ายังน้อยหากเทียบกับงบประมาณที่รัฐต้องเสียไปเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยไตวาย เฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีละกว่า 8,000 ล้านบาท รวมถึงคุณภาพชีวิติของผู้ป่วยและครอบครัวที่เสียไปแบบประเมินค่าไม่ได้ จึงเป็นประโยชน์การนำกองทุนสุขภาพตำบลมาขับเคลื่อนเรื่องนี้” ผอ.สำนักสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ สปสช. กล่าว