ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากพูดในเชิงของระบบสุขภาพ อาจมองได้ว่าพื้นที่ “ปริมณฑล” ซึ่งอยู่โดยรอบกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งมีลักษณะพิเศษ ด้วยการบริหารจัดการในรูปแบบจังหวัด แต่ก็มีความเป็นเขตเมืองสูง ทำให้ลักษณะพิเศษนี้มีได้ทั้งจุดเด่น และจุดด้อยไปในตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดปริมณฑลอย่าง “นนทบุรี” ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ต้องเผชิญทั้งโอกาสและอุปสรรคของการบริหารจัดการระบบสุขภาพด้วยเช่นเดียวกัน

เพื่อทำความเข้าใจภาพของการจัดบริการสุขภาพในพื้นที่ปริมณฑลแห่งนี้ได้ดียิ่งขึ้น The Coverage ได้พูดคุยกับ นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี (นพ.สสจ.นนทบุรี) เพื่อมาร่วมฉายภาพถึงการดำเนินงานที่เป็นอยู่ ไปจนสู่สิ่งที่ควรจะเป็น

ประชากร ‘นนทบุรี’ พุ่ง คนทะลักมาก-ภาระสุขภาพเพิ่ม

แน่นอนว่าด้วยลักษณะของความเป็นสังคมเมือง จ.นนทบุรี จึงมีลักษณะไม่ต่างกับพื้นที่อื่นๆ นั่นคือเกิด “ความแออัด” ในระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่แห่งนี้กำลังถูกตอกย้ำด้วยจำนวนประชากรที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการพัฒนาที่อยู่อาศัย หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นเป็น “หลักพัน” โครงการ ในอำเภอต่างๆ อย่าง บางใหญ่ บางบัวทอง หรือ บางกรวย

เขาเทียบให้เห็นภาพว่า จากเมื่อก่อนที่โรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่ง ควรจะรองรับประชากรแห่งละประมาณ 3-5 หมื่นคน ปัจจุบันในอำเภอเหล่านี้ต้องรองรับประชากรถึง 1-2 แสนคน หรืออาจมากถึง 3 แสนคนสำหรับ อ.บางใหญ่ เป็นต้น

1

แน่นอนว่าเมื่อมีคนเข้ามาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น ความต้องการด้านสุขภาพ การดูแลรักษาโรค ก็ย่อมมีมากขึ้นไปในตัว ผนวกกับสถานการณ์การเข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” ด้วยจำนวนผู้สูงวัยที่มีมากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการพึ่งพิงทางสุขภาพ โดยจากข้อมูลปัจจุบัน จ.นนทบุรี มีอัตราผู้สูงอายุอยู่ที่ 22%

นพ.สสจ.รายนี้ ยังระบุด้วยว่า ในส่วนของตัวโรคภัยไข้เจ็บเองก็มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด ฯลฯ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาของจังหวัด ขณะเดียวกันเมื่อโครงการพัฒนาได้ดึงประชากรจากนอกพื้นที่ให้อพยพเข้ามาอยู่อาศัย ก็ทำให้การทำงานเชิงรุก การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ทำได้ยากขึ้น ซึ่งหากทำได้ไม่ดี นั่นก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหรือโรคระบาดตามมา

นอกจากนี้ อีกหนึ่งลักษณะของความเป็นปริมณฑล ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่ กทม. เมืองหลวงที่มีประชากรอาศัยอยู่รวมกว่า 10 ล้านคน ทำให้การจัดระบบบริการสุขภาพย่อมมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ ตัวอย่างเช่น สถาบันบำราศนราดูร แทนที่จะเป็นหน่วยบริการหลักของ จ.นนทบุรี แต่ก็จำเป็นจะต้องรองรับผู้ป่วยของ กทม. ด้วย

“ด้วย กทม. มีประชากรรวมหลักสิบล้านคน ขณะที่นนทบุรี เรามีประชากร 1.2 ล้านคน กับประชากรแฝงอีกกว่า 1.8 ล้านคน และยังเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้ภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น และทำให้เราต้องเร่งพัฒนาหน่วยบริการมารองรับการให้บริการสุขภาพ” นพ.รุ่งฤทัย สรุป

โมเดล ‘ศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี’ รองรับ รพ.หลัก

สำหรับภาพรวมการให้บริการในเขต อ.เมืองนนทบุรี นพ.รุ่งฤทัย เล่าว่า หากเป็นตัวเลือกของโรงพยาบาลรัฐ คนส่วนใหญ่มักจะเดินทางไปที่ รพ.พระนั่งเกล้า ซึ่งแม้จะเป็นโรงพยาบาลใหญ่ขนาด 600 เตียงแต่ก็มีความแออัดสูงทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) โดยที่ผ่านมาทางผู้บริหาร สธ. ก็มองหาแนวทางที่จะเข้ามาช่วยเสริมและลดความแออัด

ทั้งนี้ แนวทางสำคัญหนึ่งคือการพัฒนา “โรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี” ขึ้นเมื่อราว 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความแออัดและเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้ป่วยในเขต อ.เมืองนนทบุรี โดยเฉพาะ ในลักษณะที่เน้นให้บริการเคส OPD พร้อมมีแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ เข้ามาร่วมให้การดูแล

4

ในส่วนของการให้บริการสุขภาพ โรงพยาบาลแห่งนี้ก็ได้ปรับใช้รูปแบบบริการใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล หรือ “เทเลเมดิซีน” เข้ามาในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการผู้ป่วยปรึกษากับแพทย์ หรือแพทย์ปรึกษากับแพทย์ด้วยกันเอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการให้บริการแบบ “ไดร์ฟทรู” ในการเจาะเลือดหรือสิ่งส่งตรวจต่างๆ ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตลอดจนบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS) ที่ถูกนำมาใช้ด้วยเช่นกัน

นพ.รุ่งฤทัย ระบุว่าในช่วงที่ผ่านมา รพ.ศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี แห่งนี้ได้ช่วยแบ่งเบาภาระงานด้านสุขภาพของจังหวัดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งที่นี่กลายเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนหลัก ที่ช่วยรองรับการจัดฉีดวัคซีนแบบเป็นกลุ่ม รวมถึงการตรวจ RT-PCR ซึ่งเข้ามาเป็นที่พึ่งของการตรวจหาเชื้อภายในจังหวัดได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นพ.สสจ.รายนี้ ยอมรับว่า รพ.ศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี ยังมีช่องว่างที่จะต้องถูกพัฒนาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นระบบการเชื่อมต่อกับ รพ.พระนั่งเกล้า ซึ่งยังทำได้ไม่เต็มที่ และยังมีแพทย์เฉพาะทางที่เข้ามาร่วมให้การตรวจได้เพียงบางสาขาเท่านั้น ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่เดินทางมาก็อาจพบกับข้อจำกัดในเชิงโครงสร้าง เช่น ที่จอดรถ ซึ่งยังเป็นอุปสรรคสำหรับผู้เข้ารับบริการ เป็นต้น

ดังนั้น เขามองว่าแนวทางการพัฒนาระบบสุขภาพในเขต อ.เมืองนนทบุรี ในระยะต่อไป ยังคงจำเป็นที่จะต้องมีโมเดลในลักษณะของ รพ.ศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี เกิดเพิ่มขึ้นมาอีก 1-2 แห่ง เพื่อเข้ามาร่วมเสริมเครือข่ายการดูแลผู้ป่วย และช่วยแบ่งเบาภาระของ รพ.พระนั่งเกล้า ลงไปได้เพิ่มเติม

ภาพอนาคตระบบสุขภาพ เขตจังหวัดปริมณฑล

นพ.รุ่งฤทัย ให้มุมมองเพิ่มเติมถึงตัวอย่างที่เกิดขึ้นจาก รพ.ศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี ที่เข้ามาช่วยเสริมการทำงานและแบ่งปันทรัพยากรร่วมกับ รพ.พระนั่งเกล้า ว่าลักษณะนี้จะเป็นโมเดลหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพในเขตเมือง โดยที่โรงพยาบาลหลักในพื้นที่จะมีเครือข่ายเข้ามาให้บริการเสริม ที่อาจไม่ถึงขั้นเป็นระดับโรงพยาบาลทั่วไป หากจะคล้ายกับเป็นโรงพยาบาลชุมชน แต่มีศักยภาพที่มากกว่า โดยมีแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ มาให้บริการดูแล

3

ทั้งนี้ โรงพยาบาลทั้งสองแห่งก็จะมีการพัฒนาศักยภาพไปร่วมกัน ในบางสาขา เช่น ห้องฉุกเฉินของ รพ.พระนั่งเกล้า ซึ่งมีแพทย์ฉุกเฉินประจำอยู่ 8 คน ก็จะพยายามออกไปให้คำปรึกษา เพื่อช่วยพัฒนาห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเครือข่ายต่างๆ ให้มีมาตรฐาน และให้บริการได้ใกล้เคียงกัน เพื่อปิดช่องว่างของการส่งต่อ โดยในบางเคสอาจไม่จำเป็นต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลหลัก เพราะทางโรงพยาบาลชุมชนสามารถทำเองได้

“ส่วนบางเรื่องที่โรงพยาบาลชุมชนมีศักยภาพน้อย ก็อาจมาหนุนเสริมกันว่าควรมีอะไร ในบางสาขา เช่น หัวใจ หลอดเลือด สมอง จะร่วมกันพัฒนาอย่างไรเพื่อให้เวลาคนไข้เข้าไปโรงพยาบาลชุมชน แล้วได้รับการปรึกษา หรือหากต้องผ่าตัดก็สามารถทำได้ทันเวลา มีการ Consult ผ่านระบบเทเลเมดิซีน แบบนี้ก็จะช่วยได้” นพ.รุ่งฤทัย ให้ภาพ

เขาให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงระบบเทเลเมดิซีน ซึ่งปัจจุบันแต่ละโรงพยาบาลล้วนมีการพัฒนาไป แต่เป็นในลักษณะของใครของมัน ดังนั้นทาง จ.นนทบุรี จึงกำลังมีการหารือกันว่าหลังจากนี้อาจจะต้องมีการจัดการใหม่ ภายใต้ระบบเดียวกัน ใช้ซอฟท์แวร์ที่พัฒนามาด้วยกัน เพื่อให้สามารถเข้ากันได้กับทุกโรงพยาบาล รวมถึงให้การเก็บข้อมูลต่างๆ เชื่อมโยงกัน และสามารถส่งข้อมูลร่วมกันได้

“เทเลเมดิซีน ไม่ได้เป็นแค่เรื่องภาพและเสียง แต่อีกส่วนสำคัญคือเรื่องของข้อมูล ซึ่งบางครั้งยังติดในเรื่องสิทธิของข้อมูล ความลับของผู้ป่วย ฯลฯ ดังนั้นก็ต้องมีการจัดการเรื่องระบบความปลอดภัยอะไรต่างๆ ให้ดี โดยเราพยายามคุยกันอยู่ว่าระบบเหล่านี้จะใช้โปรแกรมอะไรเข้ามา จึงกำลังมองหาซอฟท์แวร์ที่ราคาไม่แพง และมีอนาคต สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งจังหวัด” นพ.รุ่งฤทัย ระบุ

2

สำหรับระบบเทเลเมดิซีนที่ใช้ใน รพ.ศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี อยู่นั้น เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างหน่วยบริการกับ ไดเอทซ์ (Dietz.asia) ซึ่งเป็นภาคเอกชน โดย ‘นพ.รุ่งฤทัย’ ระบุว่า ขณะนี้ก็นับว่ามีการใช้งานได้เป็นอย่างดี และไม่มีปัญหาใด แต่อาจต้องมีการประเมินต่อไปเมื่อมีจำนวนผู้ที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

นพ.รุ่งฤทัย สรุปถึงภาพรวมการให้บริการสุขภาพในเขตปริมณฑล ระบุว่าถึงแม้จะมีในส่วนที่เป็นปัญหา แต่การอยู่ใกล้กับพื้นที่ กทม. ก็นับว่ามีความโชคดีจากภาคีเครือข่ายหน่วยบริการพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลใหญ่ หรือโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ที่สามารถช่วยรับส่งต่อการรักษาในศักยภาพที่สูงขึ้นได้ เนื่องจากพื้นที่ไม่ไกลจากกัน

“พื้นที่ปริมณฑลค่อนข้างมีโอกาสที่ดีกว่าอีกหลายจังหวัด เมื่อเทียบกับในเขตสุขภาพของเราเองบางจังหวัด เช่น สิงห์บุรี อ่างทอง ถ้าเจอปัญหาฉุกเฉินอย่างเรื่องหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ อาจต้องเดินทางไกลกว่าจะส่งต่อมาถึง บางจุดใช้เวลาเกิน 2 ชั่วโมง แต่ของเรานอกจาก รพ.พระนั่งเกล้า แล้วยังมีหน่วยบริการใน กทม. ที่ส่งต่อได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้หน่วยบริการของเราโตไม่ทันกับจำนวนประชากร จึงกำลังปรับปรุงระบบการจัดบริการสุขภาพ ยกระดับโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ให้มีคุณภาพและบริการที่ดีขึ้น เพิ่มสมรรถนะและประสิทธิภาพเพื่อรองรับปัญหานี้” นพ.รุ่งฤทัย อธิบาย