ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.-ภาคี จัดเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ทบทวน "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฯ" เดินหน้าฉบับใหม่ มุ่งสร้างสุขภาวะทางปัญญา


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย การทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 โดยมี พระเทพเวที, รศ.ดร. (พล อาภากโร) เจ้าคณะภาค 6 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และประธานคณะทำงานวิชาการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 เป็นประธานการประชุมฯ

สำหรับเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้มีคณะสงฆ์ พระเถรานุเถระ พระคุณเจ้า และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมทั้งในห้องประชุมและระบบการประชุมออนไลน์ เช่น ผู้แทนฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ผู้แทนกรมการปกครอง กรมการศาสนา กรมอนามัย โรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สช. เป็นต้น

1

พระเทพเวที, รศ.ดร. (พล อาภากโร) เปิดเผยว่า คณะสงฆ์เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา เป็นต้นทุนสำคัญของการทำงานเชิงรุกเพื่อการสร้างสุขภาวะที่ครอบคลุมทั้งกาย จิต ปัญญา และนำไปสู่การสร้างสุขภาวะของสังคม โดยที่ผ่านมาในช่วงเริ่มต้นการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 อยู่ในช่วงที่คณะสงฆ์กำลังดำเนินงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาทั้ง 6 ด้าน ซึ่งธรรมนูญฯ ถือเป็นการดำเนินงานสำคัญของฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ที่เชื่อมโยงการดำเนินงานของทุกฝ่าย

ในส่วนของการทบทวนธรรมนูญฯ ในครั้งนี้ ยังใช้หลักการ “ทางธรรมนำทางโลก” เช่นเคย แต่จะมีการเพิ่มเติมในประเด็นที่จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานที่มากขึ้น และลดข้อจำกัดจากการดำเนินงานที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานภายใต้ธรรมนูญฯ ฉบับเดิม ได้ทำให้งานส่งเสริมสุขภาวะทางกายของพระสงฆ์มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก อาทิเช่น การตรวจคัดกรองสุขภาพ หรือการเข้าถึงสิทธิในการรักษาสุขภาพ เป็นต้น ในการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฉบับใหม่นี้จึงน่าจะส่งเสริมการสร้างสุขภาวะทางปัญญาเพิ่มมากขึ้น

3

2

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาตินั้น ใช้พลัง “บวร” สร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมในการขับเคลื่อนเป็นอย่างมาก โดยมีพระสงฆ์เป็นแกนหลักที่สำคัญ ซึ่งกรอบของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ยังสามารถเข้าไปหนุนเสริมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาทั้ง 6 ด้านด้วยพลังของภาคีเครือข่าย และเล็งเห็นผลการขับเคลื่อนสุขภาพในระดับพื้นที่ด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ขับเคลื่อนในระดับนโยบายเท่านั้น

ด้าน พระมหาประยูร โชติวโร, ดร. คณะทำงานวิชาการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 กล่าวชี้แจงถึงกระบวนการทบทวนและพัฒนาธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ว่าเป็นกระบวนการมีที่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ได้รับความเมตตาจากคณะสงฆ์ปกครอง เจ้าคณะภาค ในการมอบหมายผู้แทนเข้ามามีส่วนร่วมตลอดกระบวนการทบทวนที่ผ่านมากว่า 8 เดือน

2

พร้อมกันนี้ภายในช่วงท้ายของเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ยังได้รับเมตตาจาก พระมงคลธรรมวิธาน, ผศ.ดร. รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร) กล่าวสัมโมทนียกถาปิดประชุม โดยมีใจความสำคัญถึงการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติในครั้งนี้ว่า ก่อนที่จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ คณะทำงานได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และนำความคิดเห็นนั้นมากลั่นกรองเพื่อยกร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติอย่างรอบด้าน

พระมงคลธรรมวิธาน, ผศ.ดร. ระบุว่า นับเป็นกระบวนการที่งดงาม พระสงฆ์ได้รับการดูแลและเข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึง ไม่มีการแบ่งแยก และนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาวะทางปัญญา เป็นประโยชน์เกื้อกูลทางสังคม โดยพระเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้นำ ธรรมนูญฯฉบับนี้ เป็นสิ่งที่คณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายทำงานเพื่ออุทิศให้กับสังคม ขอชื่อชมและอนุโมทนาให้เกิดความชอบธรรมตามพระธรรมวินัย ฉะนั้นแล้วอาณาจักรกับศาสนจักรจะเกิดการเกื้อกูลกัน จรรโลงพระพุทธศาสนา ให้เป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองได้อย่างแท้จริง