ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดผลสำรวจสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ พบภาวะหมดไฟในการทำงานเพียบ เหนื่อยล้าจนส่งผลต่อ ความคิด-พฤติกรรม


พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 ตอนหนึ่งว่า จากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 3 ปี ส่งผลให้บุคลาการทางการแพทย์มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะมีภาวะหมดไฟ (Burn-out) ดังปรากฏผลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Health Check In เพิ่มสูงขึ้น

พญ.อัมพร กล่าวว่า ผลการประเมินในปี พ.ศ. 2565 ค่าเฉลี่ย 3 ไตรมาส อยู่ที่ร้อยละ 12.2 โดยมีสาเหตุมาจากภาระความรับผิดชอบในภาวะวิกฤตของผู้ป่วยและจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความเหนื่อยล้าของจิตใจในการดูแลตนเองให้สามารถควบคุมอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมที่เหมาะสมในทุกสถานการณ์อย่างภาวะปกติได้ จึงอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารและศักยภาพการทำงานที่อาจจะลดลง

ดังนั้น หน่วยงานสาธารณสุขควรตระหนักและให้ความสำคัญ เรื่องการดูแลสุขภาพใจบุคลากรทางการแพทย์ โดยต้องช่วยกันสอดส่องดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน คัดกรองสุขภาพใจอย่างสม่ำเสมอด้วย (MHCI) จัดให้มีเวลาและสถานที่ผ่อนคลายให้กับตนเองและมีเวลาให้ครอบครัว พร้อมปรับสภาพแวดล้อมให้สะอาดน่าอยู่น่าทำงาน เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกและทำสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษนอกเหนือจากการทำงานปกติ ให้อิสระและเคารพการตัดสินใจในการรับงานที่ไม่ขัดต่อมาตรฐานในการรักษา รวมทั้งสร้างสมดุลชีวิตและการทำงาน (Work-life balance) เพื่อสุขภาพกายและจิตที่ดีขึ้น ซึ่งหากพบบุคลากรทางการแพทย์ที่มีภาวะเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตควรให้ได้รับการดูแลรักษา

นพ.ศุภเสก วิโรจนาภา หัวหน้าสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูล (MHCI) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่สุด หรือประมาณ 1 ใน 8 คน ที่มีภาวะหมดไฟ (Burn-out)

ทั้งนี้ สอดคล้องจากการศึกษาของต่างประเทศ พบว่า อาชีพ ที่มีภาวะหมดไฟสูงที่สุด คือ อาชีพแพทย์ นอกจากนี้ยังพบว่าในบางพื้นที่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีสถานการณ์ภาวะหมดไฟเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่องเป็นพิเศษ เช่น ในสามเดือนแรก (เดือน ม.ค. – มี.ค.) มีภาวะหมดไฟ ร้อยละ 9.1 และเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.– มิ.ย. เป็น ร้อยละ 14.4 และล่าสุดช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. ยังสูงต่อเนื่องถึงร้อยละ 18.4 และจากสถานการณ์ทั่วประเทศ พบบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาครัฐ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ทั้งสิ้นจำนวนไม่ต่ำกว่า 910 ราย ได้รับการดูแลติดตามต่อเนื่องในระบบสาธารณสุขแล้ว จำนวน 896 ราย คิดเป็นร้อยละ 98 ของผู้มีความเสี่ยง