ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้แทนสภาเภสัชกรรม นำโดย “ภก.กิตติ” นายกสภาฯ เข้ายื่นหนังสือถึง “นายกสภาพยาบาล” จี้ให้ทบทวนการออกประกาศกำหนดรายการยา และสารวินิจฉัย สำหรับพยาบาลวิชาชีพและพยาบาลเวชปฏิบัติในการรักษาโรคเบื้องต้น เหตุขัดต่อกฎหมาย


รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม พร้อมด้วยผู้แทนสภาเภสัชกรรม อาทิ ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม ดร.ภก.นพดล อัจจิมาธีระ เลขาธิการสภาเภสัชกรรม ภญ.เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองร้านยาคุณภาพ สภาเภสัชกรรม และ ภก.ชัยวัฒน์ สิงห์หิรัญนุสรณ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 ต่อประเด็นที่สภาการพยาบาลได้ออกประกาศ “เพิ่มรายการยา” ให้พยาบาลวิชาชีพ-พยาบาลเวชปฏิบัติ จ่ายให้ผู้ป่วยได้ โดยมีเลขาธิการสภาการพยาบาล พร้อมคณะ เป็นผู้แทนรับหนังสือ

สำหรับหนังสือฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. สภาเภสัชกรรมเรียกร้องให้ สภาการพยาบาลทบทวนการออกประกาศสภาการพยาบาล “เรื่อง กำหนดรายการยา และสารวินิจฉัย สำหรับพยาบาลวิชาชีพและพยาบาลเวชปฏิบัติในการรักษาโรคเบื้องต้น พ.ศ. 2565” เนื่องจากขัดต่อกฎหมายว่าด้วยยา และกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม และเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สภาเภสัชกรรมในอดีตมีการทักท้วงมาตลอด และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการพิจารณาตีความในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องยาไว้โดยขัดแจ้งแล้ว

2. สภาเภสัชกรรมยินดีที่จะร่วมหารือเพื่อพิจารณาทบทวนกรอบรายการยาและสารวินิจฉัยที่ไม่ขัดต่อกฎหมายยาอีกครั้ง เพื่อให้การยอมรับและสร้างความสามัคคีอันดีระหว่างวิชาชีพสุขภาพ สภาเภสัชกรรม 3. ขอนำเรียนให้ทราบว่าอาจมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากยังมีการใช้บังคับตามประกาศสภาการพยาบาลฉบับดังกล่าว

สำหรับรายละเอียดของประกาศ ให้รายละเอียดไว้ใน 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

1. จากบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง การรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรคในสถานพยาบาล เรื่องเสร็จที่ 520/2555 ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่งหรือผู้ประกอบการวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง สามารถทำการรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรคในสถานพยาบาลได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาในการบำบัดโรคแก่คนไข้เพื่อแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยและบรรเทาอาการของโรคก็สามารถจ่ายยาตามคู่มือการใช้ยาที่สภาการพยาบาลกำหนดตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพการพยาบาลตามข้อกำหนดในการรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรค พ.ศ. 2545 ได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยยา ซึ่งความในมาตรา 12 และมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ยกเว้นการขอใบอนุญาตขายยา ให้แก่การขายยา (ขายปลีก ขายส่งจำหน่าย จ่าย แจกแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ทางการค้า และให้หมายรวมถึงการมีไว้เพื่อขายด้วย) ของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลสำหรับคนไข้ของตนในคลินิกการพยาบาล เว้นแต่ เป็นการขายยาสามัญประจำบ้าน

2. ภายใต้ขอบเขตนิยาม "วิชาชีพเภสัชกรรม" มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นั้น การจ่ายยา และการขายยา โดยเฉพาะกลุ่มยาอันตราย และการจ่ายยาควบคุมพิเศษตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การสัตวแพทย์ เป็นการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งแยกจากการตรวจรักษา วินิจฉัยโรค ตามนิยามคำว่า "วิชาชีพเวชกรรม" อย่างชัดเจน

3. ในการประชุมได้อ้างถึงการเห็นชอบร่วมกันของทุกวิชาชีพ ในข้อกำหนดฯ ในการรักษาโรคเบื้องต้นฯ ฉบับแรก เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 นั้น ทางสภาเภสัชกรรมได้เคยมีหนังสือลงวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ถึงนายกสภาการพยาบาลและผู้อำนวยการกองประกอบโรคศิลปะ เพื่อขอความกระจ่างและขี้แจงว่า นายกสภาเภสัชกรรมลงนามเห็นชอบในหลักการของการรักษาโรคเบื้องต้นฯ เท่านั้น และสภาเภสัชกรรมไม่ได้ร่วมเป็นคณะทำงานในการจัดทำคู่มือการใช้ยาดังกล่าวแต่อย่างใด รวมทั้งได้มีหนังสือทักท้วงเกี่ยวกับการจัดทำคู่มือการใช้ยาในการรักษาโรคเบื้องตันอีกครั้ง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2549 นอกจากนั้น สำหรับการประชุมภาคีวิชาชีพด้านสุขภาพ ในการประชุม ครั้งที่ 8/2558 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 ไม่มีผู้แทนจากสภาเภสัชกรรมเข้าร่วมพิจารณา ดังนั้น สภาเกสัชกรรมยังไม่ได้เห็นชอบในรายการยาและสารวินิจฉัยสำหรับพยาบาลวิชาชีพและพยาบาลเวชปฏิบัติในการรักษาโรคเบื้องต้น แต่อย่างใด

ดังนั้น เพื่อเป็นป้องกันความเสี่ยงในการฝ่าฝืนกฎหมายของผู้ประกอบการวิชาชีพการพยาบาลที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่ารายการยาหลายรายการที่กำหนดขัดต่อ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 และการจ่ายยาดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 และเพื่อให้รายการยาและสารวินิจฉัยสำหรับพยาบาลวิชาชีพและพยาบาลเวชปฏิบัติในการรักษาโรคเบื้องต้นเป็นที่ยอมรับและได้รับความเห็นชอบจากสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง รวมทั้งเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐที่ดีมากขึ้น สมดังเจตนารมณ์และไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยยา สภาเภสัชกรรมจึงขอเสนอให้สภาการพยาบาลพิจารณา ดังนี้

1. ทบทวนและปรับปรุงประกาศฯ โดยกำหนดขอบเขตการใช้ยาตามรายการยาและสารวินิจฉัยสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติในการรักษาโรคเบื้องต้น ให้สอดคล้องตามกฎหมาย

2. สภาเภสัชกรรมยินดีที่จะร่วมหารือเพื่อพิจารณาทบทวนกรอบรายการยาและสารวินิจฉัยที่ไม่ขัดต่อกฎหมายยาอีกครั้ง เพื่อให้การยอมรับและสร้างความสามัคคีอันดีระหว่างวิชาชีพสุขภาพ

3. สภาเภสัชกรรมขอนำเรียนให้ทราบว่าอาจมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายหากยังมีการใช้บังคับตามประกาศสภาการพยาบาลฉบับดังกล่าว

12