ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ : โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “โรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข” (Patient and  Personnel  Safety  Hospital:  2P Safety Hospital) ในโครงการพัฒนากลไกเพื่อคุณภาพและความปลอดภัยของระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม

นพ.ณรงค์ฤทธิ์ มัศยาอานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยในเวที “แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รพ. 2P Safety Hospital” ภายในงาน Shared vision สู่การเป็น 2P Safety Hospital ซึ่งจัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานบริการ (สรพ.) เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับข้อมูลและความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ 2P Safety Hospital เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว และได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญอันดับที่ 1 สำหรับทุกๆ โรงพยาบาลในการทำ “2P Safety Hospital” คือ ผู้นำจะต้องมีการกำหนดนโยบายคุณภาพและความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยและบุคลากร กล่าวคือต้องกำหนดเข็มมุ่ง 2P Safety Hospital ปักธงให้ชัดเจน

นพ.ณรงค์ฤทธิ์ อธิบายว่า การจะขับเคลื่อน 2P Safety Hospital จะต้องมีแผนที่ชัดเจน ต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์กลยุทธ์ด้านการดูแลสุขภาพ แล้วก็ต้องมีแผนการปฏิบัติงาน (Action Plan) เป้าหมายคือความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร   

ทั้งนี้ การจะสร้างความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขับเคลื่อน เรื่องคุณภาพ ฯลฯ บุคลากรถือเป็นส่วนที่สำคัญมาก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งมีบุคลากรจำนวนมาก อย่างเช่นโรงพยาบาลรามาธิบดีที่มีคนมากถึง 1.2 หมื่นคนนั้น การจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ จะต้องสร้างคนที่มีคุณภาพขึ้นมาเป็นลำดับชั้น

บุคลากรที่ต้องสร้างขึ้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. บุคลากรระดับปฏิบัติการ 2. บุคลากรระดับ Facilitator และระดับ Quality Trainer โดยโรงพยาบาลรามาธิบดีได้จัดให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้ ทักษะ กับบุคลากรแต่ละระดับ และมีการวางโรดแมพ 3 ปี ตามรอบของการรับรอง AHA, ISO และ DSC จะมีการสำรวจอยู่ตลอดเวลา โดยมี Quality Trainer เป็นตัวช่วยขับเคลื่อน

นอกจากนี้ นพ.ณรงค์ฤทธิ์ ยังให้คำแนะนำกลยุทธ์ที่เหมาะกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีความซับซ้อน มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มอาจารย์ที่มีความสนใจในโรคที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ

“เราก็ชวนทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัช และสาธารณสุขอื่นๆ เข้ามารวมเป็นทีม แล้วทำงานดูแลผู้ป่วยแบบบูรณาการและองค์รวม ทำให้มีผลลัพธ์ที่ดี สามารถยื่นขอการรับรองได้ กลยุทธ์อันนี้ ผมคิดว่าช่วยได้มากสำหรับโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่มีความซับซ้อน มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ตรงนี้จะเป็นพื้นฐาน และขับเคลื่อนให้กระบวนการต่อเนื่องไปได้ โดยที่อาจารย์ไม่รู้สึกว่าต้องปลีกเวลาส่วนตัวหรือปลีกเวลาบางส่วนมาทำงานคุณภาพ เพราะมันรวมไปกับงานประจำของเค้าอยู่แล้ว” นพ.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

นพ.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากการพัฒนาบุคลากรแล้ว การประเมินความเสี่ยงก็มีความสำคัญมาก การทำการประเมินความเสี่ยงก็เพื่อวิเคราะห์สาเหตุ แล้ววางแผนจัดการ ซึ่งการจัดการความไม่พึงประสงค์ระดับรุนแรงได้มีการพัฒนาเครื่องมือการรายงาน IOR/ RCA /RR พร้อมกับพัฒนา Mediator มาช่วยประสานงาน หรือเจรจา พูดคุย ทำความเข้าใจกับผู้ได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาล ซึ่งจะช่วยลดในเรื่องของการไม่พึงพอใจ ลดการร้องเรียน และลดเรื่องของการฟ้องศาลไปในตัว

“การวัดผลลัพธ์เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับรุนแรง ( GHI) ในปี 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราต่ำกว่าค่าเป้าหมาย คือน้อยกว่าร้อยละ 1 และมีแนวโน้มที่ลดลงไปเรื่อยๆ ขณะที่การฟ้องศาลยังมีมีจำนวนมาก เนื่องจากการฟ้องศาลแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะจบเคสได้” นพ.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

            นพ.ณรงค์ฤทธิ์ บอกว่า ทุกระบบล้วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและความปลอดภัย ยกตัวอย่างระบบยา เป็นระบบที่ถูกรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เยอะที่สุด โรงพยาบาลรามาธิบดีมีทีมงานของระบบยาที่เข้มแข็ง ทำการวางแผนจะจัดการเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยเริ่มจากต้นน้ำของระบบยา มีการคัดเลือกยาที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีการจัดเก็บในสถานที่ที่จะดูแลคุณภาพของยาได้ ก่อนส่งมอบไปสู่ผู้ใช้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Medication Safety, Medication Error ก็มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ และมีการ Monitoring อยู่เสมอ ทำให้สามารถบริหารจัดการยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าร่วมโครงการ 2P Safety Hospital ได้มีการสำรวจวัฒนธรรมความปลอดภัย ซึ่งได้รับความร่วมมือในการตอบคำถามจากบุคลากรเป็นจำนวนมาก ผลการสำรวจพบว่าบุคลากรเริ่มมีทัศนคติในเรื่องของความปลอดภัยค่อนข้างดีมาก

ทั้งนี้ จากผลประเมิน 12 ด้าน มีการคัดเลือกหัวข้อที่ได้คะแนนน้อยมาวางแผนจัดการ อาทิ หัวข้อความเห็นต่อความถี่ในการรายงานเหตุการณ์มีข้อที่บุคลากรไม่รู้ว่าจะรายงานยังไง ก็เข้าไปเน้นย้ำในเรื่องเครื่องมือ หัวข้อการตอบสนองต่อความผิดพลั้งที่ปราศจากการส่งผลร้ายกับตนในภายหลัง พัวพันในเรื่องของความกังวล สร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจ ไม่นำมาพิจารณาเป็นผลงาน หรือปรับค่าตอบแทน ส่วนหัวข้อการจัดคนทำงาน แก้ไขโดยการจัดอัตรากำลังคนให้เหมาะสมกับงาน

“เห็นได้ว่าถ้าทีมนำหรือผู้นำองค์กรได้มีโอกาสเข้ามานำผลลัพธ์จากวัฒนธรรมความปลอดภัย มาใช้ในการติดตามเพื่อกำหนดนโยบายและปรับปรุงในการส่งเสริมสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ก็จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อน 2P Safety Hospital สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น” นพ.ณรงค์ฤทธิ์ ระบุ