ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จะเรียกว่าเป็น “ทางแพร่ง” ก็คงไม่ผิดความหมายจนเกินไปนัก เมื่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศขยายการบรรจุข้าราชการโควิด-19 เป็นรอบ 2 จำนวน 27,809 อัตรา พอดิบพอดีกับการออกประกาศ “ถ่ายโอนภารกิจ” ของ สถานีอนามัยฯ – โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

ทางแพร่งดังกล่าว คือ “การตัดสินใจ” เลือกอนาคตของตัวเองของบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ใน รพ.สต.

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ กรอบอัตราการบรรจุ 27,809 นั้น สธ.เป็นผู้ขอ และจะต้องนำมาใช้กับบุคลากรที่อยู่ภายใน สธ. เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามที่ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. ได้บอกกับ “The Coverage” ไว้ว่า บุคลากรที่อยู่ในกรณีของการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้กับ อบจ. เท่ากับว่าเขาเหล่านั้นไปอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งโดยหลักการแล้ว ก็จะไม่ได้รับการบรรจุในส่วนนี้ (https://www.thecoverage.info/news/content/2662?fbclid=IwAR3k8T8O2mYVwfI-XxlGqVolN7YB3Gvnla4hxCY-mlAjerm1v33rQAsL94U)

การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. จะดีเดย์วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ดังนั้นถ้าว่ากันตามที่ นพ.สุระ อธิบาย ย่อมหมายความว่าหาก “มีการถ่ายโอนภารกิจก่อนการบรรจุ” บุคลากรที่ตัดสินใจไปอยู่กับ อบจ. ก็จะกลายเป็นบุคลากรของท้องถิ่น ซึ่งจะไม่เข้าเกณฑ์การรับบรรจุของ สธ.

อย่างไรก็ดี หาก “มีการบรรจุก่อนการถ่ายโอน” หรือที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเรื่องการบรรจุข้าราชการโควิด-19 ออกมาอย่างเป็นทางการในระยะเวลาอันใกล้นี้ ประเด็นข้อกังวลข้างต้นก็จะตกไป

“The Coverage” ได้พูดคุยเพิ่มเติมกับ “นายริซกี สาร๊ะ” รองเลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน ในฐานะโฆษกสภาการสาธารณสุขชุมชน ซึ่งมีเนื้อหาสาระถึงข้อกังวลต่อความไม่ชัดเจนในการบรรจุข้าราชการโควิด-19 โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกจ้างเหมารายวัน-รายคาบ ตลอดจนเจ้าพนักงานที่ถูกจ้างต่ำกว่าวุฒิ และบางสายงานที่ยังตกหล่น

‘ลูกจ้างเหมา’ ไร้ทางเลือก-เสี่ยงตกงาน

นายริซกี บอกว่า การบรรจุข้าราชการรอบแรก กลุ่มลูกจ้าเหมารายวัน รายคาบ ไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์การบรรจุ แต่ในการบรรจุรอบ 2 นี้ ผู้บริหาร สธ. ได้แจ้งว่าจะพยายามให้กลุ่มลูกจ้างเหมาอยู่ในหลักเกณฑ์ ทำให้กลุ่มลูกจ้างเหมายังมีความหวังรอบรรจุฯ ในปีนี้

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้หลักเกณฑ์การบรรจุของ สธ. ก็ยังไม่มีความชัดเจน ประจวบเหมาะกับจะมีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. นั่นยิ่งทำให้กลุ่มลูกจ้างเหมารายวัน-รายคาบ เกิดความสับสน ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะอยู่ต่อที่ สธ. หรือย้ายไปอยู่กับ อบจ. ดี

“ถ้าในปีนี้ หลักเกณฑ์ที่ สธ. ออกไม่ครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างเหมารายวัน-รายคาบ เขาก็จะต้องตกงานถ้าไม่ไปอยู่กับท้องถิ่น เพราะ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปจะต้องหาคนใหม่มาทดแทน แต่ในกรณีที่มีการถ่ายโอนภารกิจไปแล้ว แต่เกณฑ์การบรรจุออกมาว่าครอบคลุมลูกจ้างเหมาด้วย ก็จะทำให้เขาเสียสิทธิในการบรรจุ เนื่องจากเขาถ่ายโอนไปอยู่กับท้องถิ่นแล้ว

“มากไปกว่านั้น ในการบรรจุรอบที่ผ่านมาจะมีการกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ด้วยว่า ห้ามโอนย้ายภายในกรอบระยะเวลา 1-3 ปี ซึ่งนั่นเป็นการห้ามย้ายภายในกระทรวง แต่กรณีการถ่ายโอนภารกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการย้ายข้ามกระทรวง ยังไม่มีความชัดเจนว่า สธ. จะกำหนดอะไร-กำหนดไว้หรือไม่-อย่างไร” นายริซกี ระบุ

นายริซกี ย้ำประเด็นว่า ในกลุ่มข้าราชการจะสามารถตัดสินใจเรื่องการถ่ายโอนได้ง่าย เพราะไม่ว่าจะอยู่กับ สธ. หรือ มท. ก็ยังสามารถทำงานต่อได้ แต่ในกลุ่มของลูกจ้างเหมา หากไม่ตัดสินใจตามหน่วยงานก็อาจต้องตกงาน

“จนถึงขณะนี้ ลูกจ้างเหมาไม่ได้มีสิทธิ์เลือกอะไรเลย” นายริซกี กล่าว

นายริซกี กล่าวต่อไปว่า การถ่ายโอนควรเป็นความสมัครใจของบุคลากร ดังนั้นหากการบรรจุ และเกณฑ์การบรรจุมีความชัดเจน บุคลากรก็จะสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองว่าจะอยู่ใน สธ. หรือถ่ายโอน ถ้าทุกอย่างชัดเจน ย่อมเป็นผลดีกับบุคลากรมากในเรื่องความก้าวหน้าของอาชีพในอนาคต

สธ.ต้องไม่ทำให้ ‘กลุ่มจ้างต่ำกว่าวุฒิ-ตกหล่น’ เสียโอกาส

นายริซกี ยังได้สะท้อนข้อกังวลของบุคลากรในกลุ่มที่จบวุฒิปริญญาตรี แต่ถูกจ้างในวุฒิอนุปริญญา หรือ “จ้างต่ำกว่าวุฒิ” ว่า บุคลากรในส่วนนี้ก็ยังไม่ได้รับความชัดเจนเช่นเดียวกัน เนื่องจากโดยหลักการแล้ววุฒิปริญญาตรีจะต้องถูกจ้างในตำแหน่งนักวิชาการ หรือตำแหน่งสายงานวิชาการ แต่กลับถูกจ้างในตำแหน่งเจ้าพนักงาน

“แม้จะมีเลขในระบบ แต่การบรรจุข้าราชการฯ ในปีที่แล้วก็ยังตกค้าง โดยกระทรวงสาธารณสุขก็มีความพยายามจะช่วยเหลือ ด้วยการบอกว่าจะปรับเป็นนักวิชาการให้ เพื่อที่จะได้ทำงานตรงวุฒิและสามารถบรรจุในรอบนี้ได้ แต่จนแล้วจนเล่าก็ยังมีความไม่ชัดเจน หลายๆ คนในกลุ่มนี้ตอนนี้ตำแหน่งก็ยังเป็นเจ้าพนักงานเหมือนเดิม เขาเลยมีความกังวลว่า รอบที่แล้วขนาดมีชื่อมีเลขตำแหน่งก็ยังตกหล่น ฉะนั้นในรอบนี้ สธ. จึงต้องปรับจากเจ้าพนักงานมาเป็นนักวิชาการให้ตรงวุฒิก่อนที่จะเสนอชื่อเข้า ครม.จะได้ไม่ตกหล่นอีกครั้ง” นายริซกี ระบุ

นายริซกี ระบุอีกว่า ปัจจุบัน กระบวนการปรับตำแหน่งลูกจ้าง จากเจ้าพนักงานเป็นนักวิชาการในหลายหน่วยงานยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งก็ได้รับแจ้งมาว่ายังไม่มีหนังสือหรือคำสั่งที่ชัดเจน จึงทำให้บุคลากรกลุ่มนี้ยังมีความกังวล

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ชื่อไม่ได้ปรากฎใน 71 สายงาน อันได้แก่ เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข(อายุรเวช) นักวิชาการสาธารณสุข (ทันตสาธารณสุข) เจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ และเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่เข้าใจว่ากระทรวง-กรมต่างๆ อาจจะยังไม่นิ่ง

รวมถึงนักกีฏวิทยา ที่อยู่ในกรมควบคุมโรค (คร.) ที่ผ่านมาก็ได้มีการประสานงานสอบถามไปยังกรมฯ แต่ทาง กรมฯ แจ้งกลับมาว่าที่ผ่านมาการบรรจุ ต้องไปขอเปิดตำแหน่งงในกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จึงทำให้เกิดความสับสน เพราะหากมีตำแหน่งดังกล่าวปฏิบัติงานอยู่ในระบบราชการของกรมควบคุมโรค ก็ควรจะมีอัตราบรรจุของสายงานนี้ในกระทรวงนี้ และรอบนี้ด้วย

จ่อยื่นหนังสือทวงคืนความเป็นธรรม

“ภายในสัปดาห์หน้า สภาการสาธารณสุขชุมชนและตัวแทนเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจะยื่นหนังสือทักท้วงให้กับกลุ่มที่ไม่ได้ปรากฎใน 71 สายงาน รวมทั้งเรียกร้องให้จ้างเหมา รายวัน รายคาบ และกลุ่มตกหล่น เพื่อให้ข้อมูลขาขึ้นครอบคลุมทุกสายงาน และตรงตามเกณฑ์ไม่มีการตกหล่นอีก  ก่อนที่ สธ. จะเสนอเข้า ครม.

“ฉะนั้น การบรรจุข้าราชการฯรอบนี้ ขอเสนอให้ผู้บริหาร สธ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจให้ครบ-ครอบคลุมทุกกลุ่มในส่วนที่จะต้องเสนอ ครม. ไม่ควรตกหล่นแม้แต่สายงานเดียว เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาการเรียกร้อง การประท้วงตามมาในภายหลังได้ ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ควรต้องคุยกันและให้ความชัดเจนกับกลุ่มลูกจ้างเหมารายวัน-รายคาบ กลุ่มเจ้าพนักงาน ‘จ้างต่ำกว่าวุฒิ และกลุ่มที่ไม่ระบุใน 71 สายงานด้วย

“กลุ่มลูกจ้างเหมา แม้ไม่ได้เป็นลูกจ้าง-พนักงานกระทรวง-พนักงานราชการที่มีเลขตำแหน่ง แต่ก็เป็นกลุ่มที่ทำงานโควิด-19 มาตลอด การบรรจุฯ ในรอบนี้ควรจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมกลุ่มนี้ด้วย รวมไปถึงกลุ่มตกหล่นจากการบรรจุฯ ในปีที่ผ่านมา หรือตกล่นจาก 71  สายงาน ในรอบนี้ไม่ควรมีกลุ่มใดหรือสายงานใดต้อง “อกหัก” จากการบรรจุอีก นายริซกี ระบุ

อย่างไรก็ดี “นายริซกี” ยังเชื่อว่า การบรรจุข้าราชการฯ น่าจะแล้วเสร็จก่อนที่กระบวนการการถ่ายโอนจะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค. 2565