ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกได้จัดประชุมระดับโลกในหัวข้อ “การซื้อบริการเชิงกลยุทธ์ (strategic purchasing) สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC)” ณ สำนักงานใหญ่ กรุงเจนีวา ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2560 โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในด้านนี้จากกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานผู้ซื้อบริการ มูลนิธิ และนักวิชาการจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม มีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้

“การซื้อบริการ” ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เมื่อกล่าวถึง การซื้อบริการ หรือ Purchasing นับว่าเป็นงานที่ถูกให้ความสำคัญไม่มากนักในระบบการเงินด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในระบบบูรณาการของภาครัฐ และด้วยความมุ่งมั่นของทั่วโลกที่จะผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า strategic purchasing จึงได้รับความสนใจมากขึ้นเพราะรัฐบาลไม่ต้องการเพียงแค่การจ่ายเงินในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่ Strategic purchasing ยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้สามารถเริ่มดำเนินการตามยุทธศาสตร์การเงินด้านสุขภาพได้ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงวาระของ strategic purchasing จากเงินกองทุนที่รวบรวมได้ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนของกองทุนอื่นๆด้วย

ในขณะที่ strategic purchasing ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลับพบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงบริบทที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น มีผู้บริหารระบบหลายฝ่าย มีผู้ซื้ิอบริการหลายหน่วย และการสร้างอุปสงค์ใหม่ต่อภาระหน้าที่ ซึ่งรวมถึงความต้องการความร่วมมือจากภาคประชาสังคม และแน่นอนว่าเรื่อง strategic purchasing นั้นไม่เพียงมีขอบเขตเฉพาะเรื่องการเงินด้านสุขภาพ แต่ยังเป็นระบบที่บูรณาการกลไกที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการรับรู้ที่ผิดๆเกี่ยวกับ strategic purchasing ว่าเป็นระบบที่จะทำได้แต่ในระบบประกันสุขภาพเท่านั้น  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ในระบบที่บูรณาการกันของประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

แนวคิดของการซื้อบริการเชิงกลยุทธ์

การซื้อบริการเชิงกลยุทธ์ หรือ strategic purchasing ประกอบด้วยแนวคิดความหมายเกี่ยวกับ การออกแบบสิทธิประโยชน์ ระบบบริหารข้อมูลสารสนเทศ การบริหารจัดการระบบ ระบบการจ่ายเงิน รวมทั้งการเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ระบบการให้บริการ การกำหนดราคายา และการบริหารระบบสุขภาพโดยรวม  

นอกจากแนวคิดในการดำเนินงานแล้ว เรื่องการอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรวมถึงการสร้างและการขยายชุมชนด้านวิชาการสำหรับ strategic purchasing เพื่อทำให้เกิดการรวบรวมองค์ความรู้จากทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ผ่านการสร้างแผนการทำงานหรือโครงการร่วมกัน และการสร้างหน่วยงานเสมือนเพื่อการประสานงานร่วมกัน 

อย่างไรก็ตาม สำหรับ WHO แนวคิดนี้ไม่ใช่หลักการสำหรับทุกประเทศ แต่เป็นกรอบคิดที่สามารถปรับปรุงให้ตรงกับบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ด้วยตรรกะของยุทธศาสตร์ “FIT for purpose, FIT for context” (FIT for Foundations, Institutions, Transformation) และยอมรับว่าแนวคิดและหลักการนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั่วไปสำหรับทุกประเทศ แต่แนวทางปฏิบัติหรือขอบเขตของการตอบสนองต่อนโยบายที่เป็นไปได้ มีความเฉพาะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ดังนั้นจึงไม่มีพิมพ์เขียวกลางสำหรับทุกประเทศ แต่หลักการของการซื้อบริการเชิงกลยุทธ์จะต้องให้ความสนใจต่อพลวัตรของบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละประเทศด้วย

ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาแนวคิดการซื้อบริการเชิงกลยุทธ์  (Strategic purchasing) สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การซื้อบริการเชิงกลยุทธ์นั้น เป็นรูปแบบการดำเนินการแบบบูรณาการที่มีมุมมองแบบองค์รวมของระบบสุขภาพที่เกี่ยวข้อง โดยมีปัจจัยสำคัญในการพัฒนาแนวคิดการซื้อบริการเชิงกลยุทธ์  ได้แก่

1. กระบวนการออกแบบสิทธิประโยชน์ (Benefit package design processes) ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอนที่สำคัญได้แก่ การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การหารืออย่างมีส่วน และการตัดสินใจที่รวมถึงการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมและประชาชนด้วย

2. ระบบจ่ายชดเชยผู้ให้บริการแบบผสม (Mixed provider payment systems, MPPS) มีความจำเป็นต้องเป็นระบบที่เข้าใจร่วมกัน โดยการใช้มุมมองเชิงระบบที่ช่วยประเมินผลกระทบของการมีระบบการจ่ายเงินที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการใช้เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง หรือวิธีการจ่ายเงินวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่เป็นการสร้างแรงจูงใจที่สอดคล้องกันในระบบการจ่ายเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

3. ระบบการเงินแบบจ่ายตามผลงาน (Pay-for-performance, P4P) คือวิธีการหนึ่งสำหรับจ่ายชดเชยให้กับผู้ให้บริการ นอกจากนี้ยังเป็นเสมือนปัจจัยกระตุ้นสำหรับการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่ต้องมีการขยับจากแนวคิดที่เรียบง่ายไปสู่มุมมองแบบองค์รวมในหลายมิติของบริการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ่ายตามผลงาน การลงทุนในระบบข้อมูลที่ดี และการจัดลำดับความสำคัญของสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจน 

4. ระบบบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ (Information management systems) การพัฒนาระบบข้อมูลที่มีมาตรฐานเดียวกัน เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาไปสู่การซื้อบริการเชิงกลยุทธ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแนวคิดก้าวหน้าเกี่ยวกับกระบวนการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ รวมทั้งระบุอุปสรรคสำหรับการปฏิรูปดังกล่าว

5. การกำกับดูแล (Governance) การบริหารจัดการในการกำกับดูแลการซื้อบริการเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย ก) ตลาดที่มีผู้ซื้อหลายราย ข) ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลบริการกับหน่วยงานผู้ซื้อ และ ค) การบริหารจัดการภายในของหน่วยงานผู้ซื้อบริการ โดยบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลระบบมีความสำคัญมากในระบบการเงินด้านสุขภาพที่มีหลายระบบ ในขณะที่จำเป็นต้องมีการกำหนดความรับผิดชอบและบทบาทด้านการกำกับดูแลระบบให้ชัดเจน รวมถึงการแยกการบริหารงานของกระทรวงต่าง ๆ หน่วยงานผู้ซื้อบริการ และหน่วยงานบริหารจัดการด้านการซื้อบริการอย่างชัดเจน และต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งความโปร่งใสของการกำกับดูแลระบบ และของผู้ทำหน้าที่ในการซื้อบริการในระดับประเทศและในระดับพื้นที่

ปัจจุบันการซื้อบริการเชิงกลยุทธ์ ได้รับความสนใจมากขึ้นอีกครั้งเมื่อทั่วโลกต่างมุ่งมั่นที่จะบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นไปได้ในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การเงินด้านสุขภาพและจะทำได้ก็ต้องเริ่มจากการกำหนดแนวคิดที่จำเป็น วางกรอบแนวคิดด้านการซื้อบริการเชิงกลยุทธ์ และจัดทำร่างคำนิยามและเป้าหมาย โดยมีธรรมาภิบาลเป็นหัวใจสำคัญของกรอบแนวคิดนี้

นอกจากนี้  ความจำเป็นในการกระตุ้นและส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติก็สำคัญเพื่อให้เกิดการสนับสนุนการขับเคลื่อนแนวคิดการซื้อบริการเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดวาระและแนวคิดเรื่องการซื้อบริการเชิงกลยุทธ์สำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (strategic purchasers for UHC) ทั้งในระดับประเทศและระบบโลก สำหรับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญนั้นได้แก่ การบริหารจัดการองค์ความรู้ ระบบการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร รวมทั้ง การหารือเชิงนโยบาย และการสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นในระดับประเทศ     

เก็บความจาก

การซื้อบริการเชิงกลยุทธ์ (strategic purchasing) สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC): การปลดล็อคศักยภาพ (Strategic Purchasing for Universal Health Coverage: Unlocking the Potentia). Strategic Purchasing for Universal Health Coverage: Unlocking the Potential GLOBAL MEETING SUMMARY AND KEY MESSAGES 25-27 April 2017 | Geneva, Switzerland.