ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ดิ อิโคโนมิสต์ นิตยสารการเมืองและเศรษฐกิจระดับโลกฉบับวันที่ 26 เมษายน 2561 มีรายงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และได้ระบุว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายที่ทรงพลังเสมอแม้ในประเทศยากจน และการจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ทั่วโลกนั้นก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม เพราะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้แม้ในประเทศยากจน

ดิ อิโคโนมิสต์ รายงานว่า มาตรการอันหลากหลายส่งผลให้การสาธารณสุขของโลกดีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาอัตราตายในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบลดลงเหลือเพียง 5.6 ล้านคน ขณะที่อายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไปที่ 71 ปี เด็กที่ได้รับวัคซีนก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุบัติการณ์ของมาลาเรีย วัณโรค เอชไอวี/เอดส์ก็ลดน้อยลงเป็นลำดับ

อย่างไรก็ดีช่องว่างของการรักษาพยาบาลในปัจจุบันก็กว้างอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนเช่นกัน ประชากรโลกกว่าครึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นทั้งการดูแลหลังคลอด มุ้งกันยุง การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมถึงวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน  และบาดทะยัก ส่วนการผ่าตัดพื้นฐานที่ปลอดภัยนั้นเล่าก็ยังเป็นสิ่งเกินเอื้อมสำหรับประชากรโลกกว่า 5 พันล้านคน

ผู้ป่วยที่โชคดีพอที่จะได้พบแพทย์ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลราคาแพง ผู้ป่วยกว่า 800 ล้านคนสูญเงินกว่าร้อยละ 10 ของรายได้ทั้งปีไปกับค่ารักษาพยาบาล ขณะที่ประเมินว่าค่ารักษาพยาบาลในราว 180 ล้านคนดีดขึ้นไปสูงกว่าร้อยละ 25 อย่างไรก็ดีผู้ป่วยกลับได้รับบริการรักษาพยาบาลที่ด้อยคุณภาพ โดยมีผลสำรวจจากคลินิกแถบชนบทของอินเดียและจีนระบุว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคถูกต้องเพียงร้อยละ 12-26 เท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความสูญเปล่าอย่างยิ่ง  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเกิดขึ้นได้จริงแม้ในประเทศยากจน  และการแพทย์สมัยใหม่ก็จะไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่หากปราศจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

คนอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือตายได้อย่างไร 

การรักษาพยาบาลถ้วนหน้ามีความสำคัญในระดับเดียวกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อทั้งสังคมและตัวบุคคล  กระนั้นการประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องอาศัยการบังคับอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่ทราบกันดีว่าหลักการประกันสุขภาพนั้นบังคับเอางบประมาณจากคนรวย คนหนุ่มสาว และคนแข็งแรงเพื่อมาใช้เกื้อกูลคนจน คนชรา และคนเจ็บไข้ จึงไม่แปลกที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะบังคับให้ประชาชนต้องจ่ายเงินอุดหนุนในรูปภาษีหรือซื้อประกันสุขภาพ

ในอีกด้านหนึ่งบริการรักษาพยาบาลถ้วนหน้าเป็นหนทางสู่ความสำเร็จของบุคคล  การมีสุขภาพดีเป็นรากฐานสู่การพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ  ขณะเดียวกันก็เป็นการยากอย่างยิ่งที่คนเจ็บไข้ซึ่งต้องแบกภาระค่ารักษาหนักอึ้งจะสามารถยกระดับการศึกษาหรือการงานของตนเอง เราจะพัฒนาที่ดินได้อย่างไรหากผืนดินนั้นเต็มไปด้วยปรสิตแพร่เชื้อโรค? นอกจากนี้การศึกษาวิจัยหลายโครงการยังระบุตรงกันว่าการมีสุขภาพดีเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บุคคลเริ่มต้นธุรกิจของตนเองได้

ประเทศใดก็สามารถผลักดันให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นรูปธรรมโดยไม่ต้องรอให้รวยเสียก่อน บริการสุขภาพเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งแรงงานคนเป็นหลัก ดังนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนซึ่งโดยทั่วไปได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าแพทย์และพยาบาลจึงมีบทบาทสำคัญในประเทศรายได้น้อย และแม้ประเทศยากจนส่วนใหญ่มีรายจ่ายด้านสาธารณสุขก้อนโตแต่ขาดวิธีบริหารรายจ่ายที่มีประสิทธิภาพ เช่น อินเดียและไนจีเรียซึ่งร้อยละ 60 ของรายจ่ายด้านสุขภาพหมดไปกับการจ่ายส่วนต่างค่ารักษาพยาบาล ทั้งที่ความจริงแล้วหากนำเงินดังกล่าวมารวมกันและใช้หลักการเฉลี่ยความเสี่ยงก็จะสามารถให้บริการรักษาพยาบาลได้ทั่วถึงกว่าเดิม

หนทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ได้เป็นเพียงทฤษฎี หากแต่มีตัวอย่างจากหลายประเทศที่ประสบผลสำเร็จ

ชิลีและคอสตาริกาใช้งบประมาณเพียง 1 ใน 8 ของสหรัฐโดยที่มีผลลัพธ์ด้านสุขภาพและอายุคาดเฉลี่ยไม่ต่างกัน   ประเทศไทยใช้งบราว 220 ดอลลาร์/คน/ปีแต่มีผลลัพธ์ด้านสุขภาพใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศโออีซีดีโดยมีสถิติอัตราตายในหญิงตั้งครรภ์เพียงครึ่งหนึ่งของอัตราตายในหญิงอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ฟากรวันดามีโครงการประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 90 ขณะที่อัตราตายในทารกก็ลดฮวบฮาบจาก 120/100,000 รายเมื่อปี 2543 เหลือเพียง 30/100,000 เมื่อปีก่อน

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถปฏิบัติได้จริงและเป็นการป้องกันการผลักภาระด้านสุขภาพไปให้คนอื่น เช่น  ปัญหาผู้ป่วยล้นห้องฉุกเฉินหรือการแพร่โรคระบาด นอกจากนี้ยังไม่จำเป็นต้องอาศัยการผลักดันในระดับรัฐบาล  เพราะแม้แต่ภาคเอกชนหรือสถานพยาบาลก็สามารถเข้ามามีบทบาทได้เช่นกัน

อันที่จริงแล้วหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินมหาศาล หลายประเทศเริ่มต้นโครงการประกันสุขภาพโดยมอบสิทธิประโยชน์มากมายแก่ประชาชนเพียงหยิบมือและคาดหวังว่าจะขยายการดูแลไปสู่ประชาชนกลุ่มอื่น (ข้าราชการหรืพนักงานของรัฐมักได้รับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลเสมอ) วิธีนี้ไม่เพียงอยุติธรรมและไร้ประสิทธิภาพ หากยังเสี่ยงก่อให้เกิดแรงต้านเมื่อจะขยายการดูแลไปสู่ประชาชนกลุ่มอื่น ทางเลือกที่ดีกว่าจึงเป็นการดูแลประชาชนให้ทั่วถึงที่สุดแม้ครอบคลุมบริการสุขภาพไม่มากนักดังที่เม็กซิโกใช้มาก่อน

งบประมาณเพียงเล็กน้อยอาจมีประโยชน์เหลือคณา การศึกษาวิจัยโดยดีน เจมิสัน (Dean Jamison) นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขได้ระบุว่า การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ 200 รายการรวมถึงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและการผ่าตัดพื้นฐาน ซึ่งรวมถึง การให้วัคซีน และหัตถกรรมที่ถูกละเลย เช่น การผ่าตัดพื้นฐาน ในภาพรวมบริการเหล่านี้อาจจะทำให้ประเทศยากจน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงสัปดาห์ละ 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่ช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรลงมากกว่า 1 ใน 4 และพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของเงินกองทุน ถูกจ่ายให้กับสถานีอนามัย ไม่ใช่โรงพยาบาลในเมืองใหญ่ ที่ได้รับส่วนแบ่งทางการเงินสูงมากอยู่แล้วในปัจจุบัน 

สุขภาพของคนทั้งชาติ

ลองนึกถึงตัวเลขความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขปีละ 37,000 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาเงินส่วนนี้ได้ช่วยผู้คนหลายล้านจากโรคระบาด แต่ความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศอาจทำให้นโยบายของสถานพยาบาลในประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือผิดเพี้ยนไป เช่น ตั้งโครงการที่ดำเนินภารกิจเดียวกัน หรือใช้บุคลากรสาธารณสุขไปกับโครงการด้านสัตว์เลี้ยง  แนวทางที่ดีกว่าจึงเป็นการผลักดันโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้านดังเช่นในรวันดาซึ่งใช้งบประมาณที่ได้รับจากกองทุนโลก ต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค และ มาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria) ไปกับงานสาธารณสุขชุมชนที่ไม่ใช่แค่ให้การรักษาผู้ป่วยเอดส์ วัณโรค และ มาลาเรียเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ด้วย

ยุโรปกังขามานานแล้วว่าเหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงเมินเฉยต่อประสิทธิภาพและประโยชน์ด้านสุขภาพจากการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในขณะที่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลับเติบโตในประเทศกำลังพัฒนา วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่พัฒนามาหลายศตวรรษจะไม่สามารถให้ผลคุ้มค่าตราบใดที่ครึ่งหนึ่งของประชากรโลกยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น  ขณะที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นหนทางที่ช่วยให้การแพทย์สมัยใหม่แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ 

แปลและเรียบเรียง จาก Universal health care, worldwide, is within reach. The case for it is a powerful one-including in poor countries จากนิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2561