ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Best Practice รพ.ตากใบ โครงการให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกในศูนย์สุขภาพชุมชนแบบเบ็ดเสร็จ ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยใน ประชาชนได้ประโยชน์ แม้ รพ.จะได้งบลดลง

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ จ.นราธิวาส นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. และคณะกรรมการควบคุมฯ ติดตามการดำเนินงานของอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับพื้นที่ พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมหน่วยบริการ โดยในวันนี้ตรวจเยี่ยม รพ.ตากใบพร้อมประชุมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินงานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ โดยมี นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผอ.รพ.ตากใบ นำเสนอ Best Practice และการจัดการคุณภาพและการคุ้มครองสิทธิ์ของ รพ.ตากใบ

รพ.ตากใบเป็น รพ.ชุมชนขนาด 60 เตียง แต่มีเตียงผู้ป่วยในที่เปิดให้บริการจริง 88 เตียง มีแพทย์ full time 12 คน แบ่งเป็น แพทย์ทั่วไป 7 คน แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 4 คน และแพทย์สุขภาพจิตชุมชน 1 คน มีแพทย์ Part Time 4 คน เป็นอายุรแพทย์ 2 คน สูตินรีแพทย์ 1 คน และจิตแพทย์ 1 คน สถิติที่น่าสนใจของ รพ.ตากใบคือ แม้จะมีจำนวนผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นทุกปี จากปีละ 132,899 คนในปี 2556 เพิ่มมาเป็น 179,596 คนในปี 2560 แต่กลับพบว่าจำนวนผู้ป่วยในมีอัตราคงที่ไม่เพิ่มตามไปด้วย ซ้ำยังลดลง คือ จากปีละ 7,461 คนในปี 2557 ลดเป็น 6,632 คนในปี 2560

ซึ่งเรื่องนี้ นพ.สมชาย บอกว่าเป็นผลมาจากการที่ รพ.ตากใบมีโครงการให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกในศูนย์สุขภาพชุมชนแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งทำมากว่า 10 ปีแล้ว มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยใน ซึ่งเรื่องนี้แม้จะทำให้ รพ.ได้รับเงินลดลง เพราะได้เงินจากผู้ป่วยในน้อย แต่ นพ.สมชายบอกว่าคุ้มค่า เพราะประโยชน์ได้ตรงกับประชาชนที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น รพ.ได้เงินลดลงไม่เป็นไร แต่ผู้ป่วยได้ประโยชน์ และ รพ.ตากใบไม่มีปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องแม้ว่าจะเป็น รพ.ชุมชนที่ได้รับเงิน UC น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ รพช.ใน จ.นราธิวาสก็ตาม ซึ่ง นพ.สมชายบอกว่า สธ.มีระดับการเงิน รพ.กำหนดไว้ที่ระดับ 1-7 แต่ รพ.ตากใบอยู่ที่ระดับ 0

“มีหลายคนบอกว่า ไม่มีปัญหาเรื่องเงินเพราะผมอาจจะใช้งานเจ้าหน้าที่หนักเกินไปหรือเปล่า ผมก็ไปเดินดูตลอด ก็ยังเห็นแต่ละคนทำงานด้วยความสุขกันอยู่นะ ก็เลยเบาใจคิดว่าไม่น่าใช้งานหนักเกิน ไม่อย่างนั้นคงมีคนลาออกแล้ว” 

โครงการที่ รพ.ตากใบทำนี้ได้รับรางวัลดีเด่นคุณภาพการให้บริการ (Best Practice) ประเภทนวัตกรรมการให้บริการเมื่อปี 2550 จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ด้วย

วิธีการที่ รพ.ตากใบทำ คือ จัดให้มีทีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ศูนย์เวชศาสตร์ครอบครัวร่วมออกบริหาร 8 ครั้งใน 8 ตำบล/สัปดาห์ บริการแบบเบ็ดเสร็จหรือ One Stop Service มีระบบการจัดการสำหรับผู้ป่วยรับยาต่อเนื่องเหมือน รพ.ทุกประการ มีการใช้ระบบไอที การตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่นเดียวกับทาง รพ. มีระบบการเยี่ยมครอบครัวผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ขาดนัด มีปัญหาการรักษา โดยแพทย์ที่ประจำแต่ละตำบลอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละไม่น้อยกว่า 6 ครอบครัว และมีเยี่ยมบ้านผู้ป่วยพิการ ติดเตียง ที่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพร่วมกับนักกายภาพบำบัด อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละไม่น้อยกว่า 4 ครอบครัว

โมเดลที่น่าสนใจของ รพ.ตากใบอีกเรื่องคือ ไม่ได้ทำแค่เรื่องรักษา ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ แต่ยังดูไปถึงการช่วยเหลือคุณภาพชีวิตครอบครัวผู้ยากจนด้วย เป็นการช่วยเหลือแบบองค์รวมให้มีชีวิตที่พึ่งพาตัวเองได้ ที่นี่มีกองทุน รพ.ตากใบเพื่อมนุษยธรรม ที่ รพ.ตากใบบอกว่า “เป็นหนึ่งกำลังใจให้คุณ เป็นทุนสู้ชีวิต” ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือ 50 ครอบครัวต่อปี กระจายไปแต่ละตำบล ใช้วิธีให้ชุมชนคัดเลือกมาก่อน และคณะกรรมการจะลงพื้นที่ไปคัดเลือกอีกครั้ง ครอบครัวที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับทุน 5,000 บาท สำหรับไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวในลักษณะเงินลงทุนเพื่อสร้างอาชีพ เช่น ลงทุนอุปกรณ์ทำมาหากิน ซึ่งได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามาก เค้าสามารถพัฒนาและยกระดับชีวิตของครอบครัวขึ้นมาได้ด้วยเงินเพียง 5,000 บาทที่ได้รับไป

อีกประเด็นที่ นพ.สมชายยกตัวอย่างคือเรื่องการฝึกอบรมทักษะคนตาบอดใช้ไม้เท้าขาว ซึ่งการฝึกอบรมทักษะคนตาบอดในบริบทพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ที่ รพ.ตากใบดำเนินการนี้ ได้รับรางวัลดีเด่น Best Practice ด้านบริการภาครัฐแห่งชาติประจำปี 2557 จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ด้วย