ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคีเครือข่าย สสส. เห็นพ้องผลักดันให้เกิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย พื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์สำหรับเด็กทุกกลุ่ม ด้าน เซีย-ไทยรัฐมั่นใจ นำไปสู่การใช้ การ์ตูน รับใช้สังคมได้


เวทีเสวนาหัวข้อ “พิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย : พื้นที่สร้างสรรค์การอ่าน การเรียนรู้ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เห็นพ้องร่วมกันที่จะผลักดันให้เกิด “พิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย” ขึ้นในประเทศไทย เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน

นางสุดใจ พรหมเกิด อดีตประธานอนุกรรมการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก ในฐานะผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่ยืนยันตรงกันว่า “เด็กกลุ่มเปราะบาง” ขาดโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ และสัมพันธ์กับการเข้าสู่วงจรอาชญากรรมสูงถึงร้อยละ 60 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดตั้งพื้นที่สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กทุกกลุ่มให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้

นางสุดใจ กล่าวอีกว่า แม้การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทยต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แต่จะให้ผลตอบแทนในระยะยาว โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในอนาคต

นายพลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และประเทศมัลดิฟส์ กล่าวว่า การ์ตูนไทยเป็นสื่อที่สำคัญ หากมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทยจะได้เป็นแหล่งรวบรวมเผยแพร่ประวัติการ์ตูน วิวัฒนาการของการ์ตูนไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้และความตระหนักต่อทรัพยากรสารสนเทศ ที่นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในสาขานี้ เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ของโลกที่ภาคภูมิใจในศาสตร์และศักยภาพของสื่อการ์ตูน

นายศักดิ์ แซ่เอียว หรือ “เซีย ไทยรัฐ” การ์ตูนนิสต์ชื่อดังประจำ น.ส.พ.ไทยรัฐ ในฐานะอุปนายกสมาคมการ์ตูนไทยและประธานเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากนักการ์ตูนเยาวชนและนักการ์ตูนชั้นครูมากมาย ที่เข้ามาร่วมกันระดมความคิดในเครือข่ายการ์ตูนไทยกันบ่อยครั้ง ทั้งหมดเพื่อนำเสนอการออกแบบจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย

ทั้งนี้ นักการ์ตูนไทยเห็นตรงกันว่าพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทยจะเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่ที่มีชีวิต มีรายการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการ์ตูนไทย การแสดงศิลปะการวาดการ์ตูน การแข่งขันศิลปะการ์ตูนตั้งแต่รุ่นเล็ก มืออาชีพ การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากการ์ตูน การนำการ์ตูนไปรับใช้สังคม ร่วมรณรงค์ในประเด็นต่างๆ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย เปิดเผยว่า การ์ตูนเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการของเด็กได้ง่ายที่สุด การมีพื้นที่สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กอย่าง “พิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย” จะช่วยสร้างพื้นที่การเรียนรู้ และบ่มเพาะต้นกล้าเล็กๆ ให้เติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงได้อย่างงดงาม