ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การประชุม “หลักประกันสุขภาพคนไทย ฝันให้ไกล ไปให้ถึง” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2563 เต็มไปด้วยมุมมองที่สร้างสรรค์ บนความคาดหวังที่จะก้าวไปสู่ระบบสุขภาพ “มาตรฐานเดียว”

ในฐานะนักวิชาการที่ขับเคลื่อนสังคมผ่านบทบาทของเครือข่ายภาคประชาสังคม และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการก่อการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) “นายจอน อึ๊งภากรณ์” ได้เปลือยความคาดหวังและภาพที่ต้องการเห็นในอีก 10 ปีข้างหน้า

อาจารย์จอน บอกว่า ในมุมมองของ “ผู้รับบริการ” อยากเห็นระบบสุขภาพของไทยที่เป็น “ระบบเดียว” ที่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ มีคุณภาพการให้บริการสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้และเท่าเทียมกัน

แน่นอนว่า เรื่องนี้ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่เฉพาะ สปสช. กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เท่านั้น หากแต่รวมถึงทุกฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

“เราต้องยึดหลักที่ว่า การบรรลุถึงระดับมาตรฐานสุขภาพที่สูงที่สุดที่จะเป็นไปได้ ถือเป็นหนึ่งในสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน" อาจารย์จอน ระบุ

เขา อธิบายว่า สุขภาพเป็นสิทธิไม่ใช่สินค้า ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงมาตรฐานบริการสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ในสังคมโดยไม่เกี่ยวว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน ถ้ายึดหลักนี้ สิ่งที่จำเป็นคือต้องมีระบบสุขภาพระบบเดียวครอบคลุมทุกคนในประเทศ ทุกคนได้รับการรักษาเหมือนกันตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงคนไร้บ้าน

"ภาคประชาชนพูดกันมานานเรื่องความจำเป็นในการรวมกองทุน 3 กองทุนสุขภาพ แต่นอกจากนั้นแล้วเราต้องรวมระบบของเอกชนด้วย เพราะที่ผ่านมาเอกชนได้ดูดเอาทรัพยากรทางสาธารณสุขจำนวนมาก ถ้าเอาทรัพยากรเหล่านี้มารวมกันจะทำให้ระบบสุขภาพของไทยมีพลัง” อาจารย์จอน ระบุ

นักวิชาการรายนี้ ขยายความว่า การรวมระบบเอกชนไม่ได้หมายถึงต้องยุบรวมโรงพยาบาลเอกชน แต่โรงพยาบาลเอกชนต้องเข้ามาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นระบบเดียวกัน อาจกำหนดว่าอย่างน้อย 80% หรือ 90% หรืออาจจะ 100% ของเตียง จะต้องอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ

นั่นหมายความว่า เมื่อประชาชนไปรับบริการ โรงพยาบาลเอกชนอาจเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนที่นอกเหนือจากสิทธิ เช่น ห้องพิเศษ อาหารพิเศษ มีคนดูแลกลางคืน ส่วนการรักษาทางการแพทย์ เรื่องยา จะต้องไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยให้มาเบิกจากระบบหลักประกันสุขภาพ

ประเด็นต่อมาคือ ต้องมีการ “ผลิตหมอประจำครอบครัว” ให้มากกว่านี้ เพื่อเข้ามาให้บริการในระดับปฐมภูมิ ยกตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษ เดินไปที่ไหนไม่เกิน 1 กิโลเมตรก็เจอคลินิกหมอครอบครัวแล้ว ฉะนั้นประเทศไทยควรมีแพทย์ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกที่ รวมทั้งควรมีโรงพยาบาลใกล้บ้าน

อย่างในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ควรมีโรงพยาบาลประจำเขตเหมือนกับโรงพยาบาลประจำอำเภอต่างๆ และอยากให้หน่วยบริการปฐมภูมิไม่ควรห่างจากบ้านผู้ป่วยเกิน 5 กิโลเมตร หรือใน กทม. ก็อยู่ในรัศมี 2-3 กม. ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนก็ไม่ควรห่างเกิน 20 นาที

“อีกประเด็นคือ เราควรมีสิทธิที่จะป่วยนอกเวลาราชการ อย่างเร็วๆ นี้ ลูกชายคนเล็กผมหัวแตก เลือดไหลไม่หยุด เกิดปัญหาว่าถ้าไปหน่วยบริการก็อยู่ห่างมาก ขับรถเกือบ 1 ชั่วโมง หน่วยบริการอื่นๆ ก็ปิดหมด สุดท้ายต้องพาไปโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน ขับรถ 3 นาทีถึง แต่ไม่เข้าข่ายฉุกเฉิน ต้องเสียค่าใช้จ่าย 4,600 บาท ดังนั้น ผมอยากเห็นว่าเราสามารถป่วยนอกเวลาราชการได้ แม้จะมีคลินิกบางส่วนปิดแต่ก็สามารถจัดการให้เปิดเป็นบางส่วนได้เช่นกัน" นายจอน กล่าว

นอกจากนี้แล้ว อีกประเด็นที่สำคัญคือต้องทำให้ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต. โรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาบาลจังหวัด ในระยะยาวหน่วยงานเหล่านี้ควรขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ในระยะแรกอาจเป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างชุมชนและกระทรวงสาธารณสุขก็ได้

และทุกโรงพยาบาลควรมีตัวแทนชุมชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะว่าควรปรับปรุงพัฒนาเรื่องใด รวมทั้งเป็นผู้พิจารณาการรับบุคลากรด้วย ขณะเดียวกันชุมชนก็ควรมีทุนให้คนในชุมชนไปเรียนแล้วกลับมาทำงานในสถานบริการเหล่านี้เช่นกัน

ประเด็นสุดท้ายที่ “อาจารย์จอน” นำเสนอ คือต้องใช้ระบบไอทีมาช่วยประหยัดเวลาและการเดินทาง และรอคิว รวมทั้ง้ระบบ Telemedicine สนับสนุนการรักษา

“สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ในทางเทคนิค แต่เป็นเรื่องที่ต้องการการเมือง ต้องการนโยบายสุขภาพของประเทศ ต้องการรัฐธรรมนูญที่ระบุสิทธิชัดเจน เพราะฉะนั้นเราจะต้องสู้เพื่อรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องมีรัฐบาลประชาธิปไตย และหวังว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะร่างโดยประชาชนและระบุว่าการบรรลุถึงระดับมาตรฐานสุขภาพที่สูงที่สุดที่จะเป็นไปได้ เป็นหนึ่งในสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ต้องมีระบบเดียวครอบคลุมประชาชนทั้งหมดและให้บริการที่มีคุณภาพสมศักดิ์ศรีของประเทศไทย” อาจารย์จอน กล่าวในช่วงท้ายสุด