ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ระบบสุขภาพและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือสิ่งที่ทำให้แต่ละประเทศตอบสนองต่อโรคโควิด-19 แตกต่างกัน”

นี่คือบางช่วงบางตอนจากบทความเรื่อง COVID-19 (coronavirus): Universal health coverage in times of crisis ที่เพิ่งเผยแพร่ผ่านเว็ปไซต์ธนาคารโลก (World Bank) เมื่อไม่นานมานี้

บทความดังกล่าว เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ Prof. Ilona Kickbusch จากสถาบันศึกษานานาชาติและการพัฒนา เจนีวา และ Dr. Githinji Gitahi จากแอมเรฟ เฮลท์ แอฟริกา (AMREF Health Africa) ที่ต้องการเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งสองสิ่ง

หนึ่งคือ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” อีกหนึ่งคือ “ความสามารถในการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ”

ตลอดระยะเวลาร่วม 6 เดือน ที่โลกต้องเผชิญกับโควิด-19 พบว่าแต่ละประเทศมี “ราคาที่ต้องจ่าย” แตกต่างกัน แปรผันตามความพร้อมของระบบสุขภาพและความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤตการณ์นั้นๆ

อย่างไรก็ดี โควิด-19 ได้ทำให้โลกใบนี้เห็นพ้องร่วมกันว่า “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” คือเครื่องมือสำคัญที่ใช้รับมือกับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความของ 2 นักวิชาการชั้นนำ จึงได้เน้นย้ำว่า ประเทศที่ไม่มีระบบสุขภาพและระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากพอ รวมไปถึงประเทศที่จำกัดการให้บริการด้านสุขภาพและจำเขี่ยในการสนับสนุนงบประมาณ ล้วนแล้วแต่ต้องพบกับ “โศกนาฏกรรมจากโรคระบาด” 

“ประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น คนยากไร้ คนสูงวัย หรือคนที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว คือผู้ที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตมากที่สุด นั่นคือเหตุผลที่เราต้องการจะเน้นยำถึงความเชื่อมโยงระหว่างการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และความสามารถในการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ” Kickbusch และ Gitahi ระบุ

พูดให้ชัดก็คือ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” และ “การจัดการวิกฤต” คือสิ่งที่อยู่คู่กันเหมือนสองด้านของเหรียญ

เห็นได้ว่าประเทศหรือเขตการปกครองที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว อาทิ ประเทศไทย ไต้หวัน เกาหลีใต้ 
สามารถรับมือกับโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี นั่นเพราะรัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณส่วนนี้แก่ประชาชนมาก่อนแล้ว

ฉะนั้นเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ประเทศจึงมีงบประมาณ “พร้อมใช้จ่าย” สำหรับกิจกรรมการยับยั้งโรคโดยไม่จำเป็นต้องร้องขอให้รัฐสภาอนุมัติงบประมาณใหม่ ตรงนี้ทำให้การตอบสนองต่อโรคระบาดรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มักมีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่ดีพอสมควร และมีประสบการณ์ในการจัดระบบสุขภาพสำหรับประชาชนจำนวนมากอยู่แล้ว

นั่นทำให้สามารถรับมือสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลได้ดี แม้ว่าอาจประสบภาวะทุลักทุเลอยู่บ้างในช่วงเริ่มต้น

น้ำเสียงและสาระสำคัญจากบทความข้างต้นนี้ สอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกับภาคประชาสังคมและผู้เชี่ยวชาญนานาประเทศ ที่ต่างออกมาเรียกร้องให้ผู้นำประเทศ “ยกระดับความสำคัญ” ของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชน

ตัวอย่างเช่นในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งกำลังตั้งไข่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเคยยกคณะมาดูงานที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง ก็มีท่าทีที่น่าสนใจ

Steve Reid นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ ได้แสดงความเห็นผ่านบทความเรื่อง “Coronavirus pandemic holds lessons for South Africa’s universal health care plans” โดยระบุว่า โควิด-19 จะผลักดันให้ผู้นำประเทศแอฟริกาใต้ต้องเร่งสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า “โดยไม่เกี่ยงว่าใครจะมีความเห็น (คัดค้าน) อย่างไร”

สำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนต้องซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทเอกชนเอง นั่นทำให้คนหลายล้านคนไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพใดๆ เลย

การควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำได้ยากลำบาก เพราะเมื่อประชาชนกังวลกับค่ารักษาพยาบาล จึงเลือกที่จะไม่ตรวจเชื้อ

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้นักวิชาการ ภาคประชาชน และนักการเมืองจำนวนหนึ่ง ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนให้มีการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อรองรับวิกฤตครั้งต่อไปที่จะไม่มีคนกลุ่มใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

Alison Galvani นักระบาดวิทยาชาวสหรัฐฯ พร้อมคณะนักวิชาการ ได้ตีพิมพ์ความเห็นเรื่อง “The imperative for universal healthcare to curtail the COVID-19 outbreak in the USA” ในวารสารเดอะแลนเซท (The Lancet) พร้อมทั้งแสดงความกังวลต่อระบบสุขภาพของสหรัฐฯ ที่มีผู้ตกหล่นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้น้อย หรือประชากรผิวสี

“แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมีนโยบายตรวจเชื้อโควิด-19 ฟรี แต่หากพบการติดเชื้อ ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลในอัตราที่สูงมากเอง ฉะนั้นทางออกของความท้าทายนี้ คือต้องเห็นระบบสุขภาพเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน” ตอนหนึ่งในบทสรุปความเห็น

สำหรับประเทศไทย ทุกวันนี้ประชากร 99.6% มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะที่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุน นี่จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าภูมิใจ ที่เรารับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีจนนำมาซึ่งเสียงชื่นชม