ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอชาตรี “ เผย “คกก.ควบคุมคุณภาพฯ สมัยที่ 4” ขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพมาตรฐานกองทุนบัตรทอง ผ่านองค์ประกอบ 4 ด้าน เน้นสื่อสารความเข้าใจ สานการทำงานอนุกรรมการฯ ร่วมสร้างสมดุลผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ฝ่ายบริหารกองทุน ระบุการช่วยเหลือเบื้องต้น ม.41 ต้องทำเชิงบวก ไม่ไล่หาคนผิด พร้อมฝาก คกก.ควบคุมคุณภาพฯ ชุดใหม่ ต่อยอดพัฒนา สานต่องานบูรณาการ 3 กองทุน สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ฝากครรภ์ ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมรุกกลไกระดับภูมิภาคเชื่อมโยงหน่วยงานพื้นที่  

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ครั้งที่ 4/2563 ซึ่งเป็นการประชุมวาระแรกของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สมัยที่ 5 (พ.ศ. 2563-2567) โดย นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สมัยที่ 4 (พ.ศ. 2558-62) กล่าวถึง “ความท้าทาย” การขับเคลื่อนนโยบายการควบคุมคุณภาพมาตรฐานและการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และข้อเสนอเพื่อการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยเป็นการส่งมอบหน้าที่ให้กับคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ชุดใหม่ โดยมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา เป็นประธาน

นพ.ชาตรี กล่าวว่า การพูดในวันนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว เพราะไม่สามารถพูดแทนคณะกรรมการทั้งหมดได้ เนื่องจากเรามีความคิดที่แตกต่างแต่ไม่แตกแยก การดำเนินงานของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ มี 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. หลักคิดและเป้าหมาย 2.แนวทางดำเนินงาน และ 3.การพัฒนา ตลอด 17 ปีของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีประวัติทั้งหวานชื่น ขมขื่น ความสำเร็จ และสามัคคี เมื่อถึงวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เกิดจากแนวคิดการทำงานที่มีองค์ประกอบ 4 ด้าน (4C) คือ ร่วมทำ (Coordination) ร่วมมือ (Cooperation) ร่วมแรง (Collaboration) และสำคัญที่สุดคือ การสื่อสาร (Communication) เพราะร้อยละ 90 ของการร้องเรียนในระบบมาจากการสื่อสาร ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาเราเน้นเรื่องนี้ ทั้งในส่วนของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ และอนุกรรมการทั้งที่ส่วนกลางและภูมิภาค โดยการทำหน้าที่จะต้องเปิดใจและสวมหมวกของอีกฝ่าย มีเวทีประชุมเสวนาเพื่อสร้างความเข้าใจ เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ที่หลากหลาย ความเข้าใจและเชื่อใจกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  

“ในช่วงแรกของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ วาระที่ 4 ประชุม 10 เรื่อง เราก็ต้องลงมติทั้ง 10 เรื่อง แต่หลังจากที่ได้ช่วยกันทำงาน ทำให้เกิดความเข้าใจและเชื่อใจ ส่งผลให้ช่วงท้ายในการประชุมเราลงมติกันน้อยมาก โดยเรามีเป้าหมายในการทำงานร่วมกันคือชนะกันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และฝ่ายกองทุน ซึ่งเราต้องเห็นใจกองทุนด้วยเพราะงบมีน้อย รวมถึงต้องเข้าใจผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ทั้งหมดจึงต้องสร้างสมดุลให้ดี จึงจะทำให้ระบบเกิดคุณภาพและมาตรฐานที่อยากได้” นพ.ชาตรี กล่าวและว่า แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจด้วยว่า ภายใต้ระบบนี้คนสำคัญที่ทำให้เกิดบริการอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานได้ก็คือผู้ให้บริการ หากผู้ให้บริการมีใจบริการ ประชาชนก็จะพึงพอใจไปด้วย ดังนั้นคณะกรรมการฯ ต้องทำงานเชิงบวก สนับสนุนการทำงานของผู้ให้บริการให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีสมาคมและวิชาชีพทางการแพทย์ร่วมสนับสนุน โดยเป็นองค์ประกอบในส่วนของกรรมการที่ทุกคนต่างทำงานเต็มที่

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้อนุกรรมการชุดต่างๆ ทั้งอนุกรรมการกำกับคุณภาพและมาตรฐาน อนุกรรมการพิจารณาอุทรณ์ฯ มาตรา 41 อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วม และคณะกรรมการสอบสวน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ บรรลุผล สำหรับในส่วนการสอบสวนกรณีช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการ เรื่องนี้เราต้องทำในเชิงบวก เชิงการปกครอง ใช้เกณฑ์มาตรฐานที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยหลีกเลี่ยงการลงโทษรุนแรงหรือไล่หาความผิดเพราะส่วนใหญ่เป็นเหตุสุดวิสัย แต่เน้นสร้างความเข้าใจแทน ซึ่งขณะนี้กลไกนี้ได้อยู่ตัวแล้ว

ส่วนที่เสนอให้เดินหน้าจากนี้ คือการบูรณาการร่วมกับกองทุนอื่น เช่น งานส่งเสริมป้องกันโรคและการฝากครรภ์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เหลื่อมล้ำ เช่นเดียวกับสิทธิประโยชน์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่ 3 กองทุนเหมือนกันเกือบ 100% เพราะได้ร่วมพูดคุยกันและดำเนินการตามนโยบายรัฐ โดยมี สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักในการดำเนินงาน

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า ขณะที่การดำเนินงานในส่วนภูมิภาคเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ เรามีองคาพยพระดับภูมิภาคมาก ไม่ว่าจะเป็นคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) คณะอนุกรรรมการหลักประกันสุขภาพเขตพื้นที่ (อปสข.) คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและการกำกับมาตรฐานหน่วยบริการ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50 (5) ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ ที่ผ่านมาเราสามารถเชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกัน นับว่าประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามยังต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เพื่อให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานและพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบรรลุเป้าหมายและประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น