ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.บริหารจัดการ “กองทุนบัตรทองปี 62” บรรลุตามเป้าหมาย เบิกจ่ายร้อยละ 99.65 ครอบคลุมดูแลประชากร ร้อยละ 99.88 อัตราการเข้าถึงบริการผู้ป่วยนอก 3.83 ครั้ง/คน/ปี อัตราเข้าถึงบริการผู้ป่วยใน 0.132 ครั้ง/คน/ปี เพิ่มขึ้นจากปี 61 บริการเฉพาะทั้งผ่าตัดต้อกระจก เปลี่ยนกระจกตา ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ปลูกถ่ายตับ ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ขณะที่หน่วยบริการบัตรทองร่วมบริการผู้ป่วยบัตรทองเพิ่มขึ้น 183 แห่ง       

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 5 ปี พ.ศ.2561-2565 มุ่งหวังให้ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ ในการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา สปสช.ได้บริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเบิกจ่ายงบประมาณในการดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองและดำเนินสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้กองทุน เป็นจำนวน 133,802.28 ล้านบาท จากงบประมาณที่กองทุนบัตรทองได้รับจัดสรรจากรัฐบาล จำนวน 134,269.13 ล้านบาท (ไม่รวมเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐ) หรือคิดเป็นร้อยละ 99.65 ครอบคลุมดูแลประชากร 47.52 ล้านคน หรือร้อยละ 99.88

ในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัว ปีงบประมาณ 2562 สปสช. ได้ทำการเบิกจ่ายงบประมาณให้กับหน่วยบริการที่จัดบริการให้ผู้มีสิทธิ จำนวน 117,779.34 ล้านบาท จากงบประมาณที่ได้รับ 119,130.26 ล้านบาท หรือร้อยละ 98.87 เมื่อดูการเข้าถึงบริการ บริการผู้ป่วยนอกมีประชาชนเข้ารับบริการ 182.68 ล้านครั้ง หรือ 3.83 ครั้ง/คน/ปี จากปี 2561 อยู่ที่ 177.27 ล้านครั้ง หรือ 3.69 ครั้ง/คน/ปี บริการผู้ป่วยในมีประชาชนเข้ารับบริการ 6.30 ล้านครั้ง หรือ 0.132 ครั้ง/คน/ปี จากปี 2561 อยู่ที่ 6.21 ล้านครั้ง หรือ 0.130 ครั้ง/คน/ปี ขณะที่บริการเฉพาะภาพรวมมีประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ ผ่าตัดต้อกระจก มีประชาชนเข้ารับบริการ 135,284 ครั้ง เพิ่มจากปี 2561 จำนวน 8,295 ครั้ง ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาอยู่ที่ 614 ครั้ง เพิ่มจากปี 2561 จำนวน 135 ครั้ง ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและรับยากดภูมิ 106 ราย เพิ่มจากปี 2561 จำนวน 18 ราย ปลูกถ่ายตับและรับยากดภูมิ 308 ราย เพิ่มจากปี 2561 จำนวน 37 ราย ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต 75 ราย เพิ่มจากปี 2561 จำนวน 18 ราย และผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลแบบประคับประคอง 24,075 ราย เพิ่มจากปี 2561 จำนวน 7,261 ราย

ขณะที่บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริการแพทย์แผนไทยทั้งการนวดประคบ การดูแลฟื้นฟูแม่หลังคลอด และรับยาสมุนไพรในบัญชี รวมถึงบริการยากำพร้าและยาต้านพิษ จำนวนการรับบริการภาพรวมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ไม่เพียงแต่การเข้าถึงบริการของประชาชนผู้มีสิทธิเท่านั้น แต่ในด้านการให้บริการของหน่วยบริการ ปี 2562 มีหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมขึ้นทะเบียนดูแลผู้มีสิทธิในระบบบัตรทองเพิ่มมากขึ้น มีจำนวน 12,334 แห่ง จำแนกเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ 11,750 แห่ง หน่วยบริการประจำ 1,360 แห่ง และหน่วยบริการรับส่งต่อ 1,382 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 183 แห่ง แบ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการรับส่งต่อ จำนวน 163, 29 และ 27 แห่ง (ตามลำดับ) ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์ภายใต้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้น