ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมืองพัทยาใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตั้งโครงการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 เน้นประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ประชาชนในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งสนับสนุนเจลล้างมือ-หน้ากากอนามัยแจกกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แนะท้องถิ่นอื่น ๆ ใช้งบกองทุนนี้ดำเนินการ หากปฏิบัติตามระเบียบก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกตรวจสอบ เรื่องนี้เป็นกรณีโรคระบาด มีความจำเป็นต้องป้องกันเร่งด่วนเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์

นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) หรือ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เมืองพัทยาซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีประชากรแฝงกว่า 5 แสนคน จึงได้ตั้งโครงการป้องกันโรคติดต่อโดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น เพื่อจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ ตลอดจนให้ความรู้การป้องกันไวรัสว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร พร้อมทั้งจัดซื้อหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือแจกให้แก่กลุ่มเสี่ยง เช่น ตามโรงเรียน แหล่งท่องเที่ยว สถานประกอบการและชุมชนที่มีผู้พักอาศัยหนาแน่น

นายมาโนช กล่าวต่อว่า สถานการณ์นี้ถือเป็นโรคระบาดต้องดำเนินการป้องกันเร่งด่วน สามารถใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นดำเนินการได้เพื่อให้ทันเหตุการณ์ โดยหากท้องถิ่นมีเงินสำรองเพียงพอก็สามารถตั้งโครงการเสนอให้คณะกรรมการกองทุนอนุมัติได้ ซึ่งในส่วนของเมืองพัทยาได้ใช้งบไปทั้งสิ้น 150,000 บาท จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์และจัดซื้อเจลล้างมือตลอดจนหน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้นเพื่อแจกตามชุมชนและโรงเรียนให้เด็กได้ใช้ก่อน

"เรายังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวตามชุมชน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ไปตามโรงแรมและโรงเรียนเพื่อให้ความรู้ในการป้องกันตัวเองซึ่งผู้ประกอบการที่ใกล้ชิดกับทัวร์จีนก็เข้ารับการอบรมและให้ความร่วมมือในการใส่หน้ากาก ขณะที่คนในชุมชนก็มีการปรับพฤติกรรม ไม่ค่อยออกมาบริเวณที่มีกลุ่มเสี่ยง หรือถ้าออกมาก็ป้องกันตัวตามคำแนะนำ ไม่ไปสัมผัสหรือใกล้ชิดกันมาก โชคดีที่แม้เมืองพัทยาจะมีกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ ตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มสุดท้ายเดินทางออกไปตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.2563 ที่เหลืออยู่เป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรปและนักท่องเที่ยวประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย" นายมาโนช กล่าว

นายมาโนช กล่าวว่า ในส่วนของท้องถิ่นอื่น ๆ ก็สามารถนำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นมาใช้ในกรณีนี้ได้ เพราะงบดังกล่าวใช้ได้อยู่แล้วในการป้องกันโรคระบาด แม้ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ข้ามปี แต่ถ้าท้องถิ่นมีเงินเหลือหรือกันเงินไว้ในกรณีฉุกเฉินก็สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์นี้ได้ ขอเพียงดำเนินงานให้ถูกระเบียบและประกาศ เพราะประกาศของ สปสช.เปิดให้สามารถนำมาใช้ป้องกันไว้ก่อนได้