ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะถึงกำหนดการประชุมวิชาการครั้งสำคัญของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง นั่นก็คือการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2563 (PMAC2020) ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 ม.ค.-2 ก.พ. 2563 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ และองค์กรอื่น ๆ อีกหลายองค์กร

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงความสำคัญของงานนี้ว่า ปัจจุบันกิจกรรมของมูลนิธิฯ มี 3 อย่างคือ การพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปีละ 2 รางวัล คือรางวัลด้านการแพทย์และรางวัลด้านการสาธารณสุข นอกจากนี้ยังมีการประชุมวิชาการนานาชาติ และการพระราชทานทุนแก่แพทย์จบใหม่ปีละ 5 คน ซึ่งในส่วนของการจัดประชุมนั้น ไม่ได้เป็นการประชุมวิชาการธรรมดาแต่เป็นการประชุมวิชาการทางนโยบายสุขภาพหรือการพัฒนาระบบสุขภาพตามแต่ประเด็นที่สำคัญในแต่ละปี

"สำหรับการประชุมนี้ เป้าหมายหลักก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนก การเฉลิมพระเกียรตินี้มี 2 ความหมาย ความหมายหนึ่งคือในฐานะที่ท่านเป็นพระบิดาของวงการแพทย์และการสาธารณสุขไทย แต่อีกความหมายที่เกิดประโยชน์กว่านั้นคือเป็นการดำเนินตามพระราชปณิธานที่ว่า ...ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเปนที่สอง

ประโยชน์ของเพื่อนมนุษยเปนกิจที่หนึ่ง... ซึ่งในช่วงเปิดการประชุมก็จะมีวิดีโอสั้น ๆ 5-6 นาทีบอกเล่าเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจต่าง ๆ ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก" ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของประเด็นการประชุมในปีนี้กล่าวได้ว่าเป็นเกียรติภูมิของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการจัดเวทีระดับโลกหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) ซึ่งไทยได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุด ที่ผ่านมา PMAC เคยจัดประชุมวิชาการในหัวข้อเกี่ยวกับ UHC มาแล้ว 2 ครั้งและบังเอิญว่าจัดทุก 4 ปี คือปี 2555 หารือในประเด็นเรื่องการเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพ และปี 2559 ประชุมเกี่ยวกับ priority setting หรือการจัดลำดับความสำคัญของระบบ ส่วนในปี 2563 นี้มีการพูดคุยกันว่าการผลักดันระบบ UHC ยังน่าจะขับเคลื่อนได้ดีกว่านี้ ประจวบกับมีวาระเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งมีเรื่องสุขภาพอยู่ในนั้นด้วย จึงเป็นที่มาของการประชุมในปีนี้ที่จะหารือกันในเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนระบบ UHC ทั่วโลกให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก

"ปี 2563 เราต้องการยกระดับสร้างความก้าวหน้าแก่ UHC เพราะในช่วง 9-10 ปีที่ผ่านมาการขับเคลื่อนมันช้าไป ไม่ทันกิน ก็ต้องมาคุยกันหน่อย" ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

ศ.นพ.วิจารณ์ ขยายความว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีการจัดประชุมในประเด็นย่อยเพื่อหารือกันว่ามีประเด็นสำคัญอะไรที่ทำให้ UHC ดีหรือไม่ดี โดยมีตัวอย่างจากหลายประเทศ เช่น  ประเทศอินเดียพยายามดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพแบบประเทศไทยแต่ก็ประสบความยากลำบาก สาเหตุเพราะมีระบบสาธารณสุขมูลฐานไม่ดีเหมือนไทย เพราะในส่วนของไทยนั้นมีการวางระบบตั้งแต่ 60-70 ปีก่อน มีตั้งแต่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ไล่ลงไปถึงโรงพยาบาลอำเภอ และปัจจุบันลงไปจนครบทุกตำบลคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สิ่งเหล่านี้คือโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพที่ทั่วถึงและทำงานเป็นเครือข่าย แต่อินเดียไม่มีแบบนี้ พอขับเคลื่อน UHC จึงประสบความลำบาก

"ระบบของเรามาจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว มี นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นหัวเรือใหญ่ทำวิจัยกัน คนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งเป็นคนก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีการทดลองกันในพื้นที่เล็ก ๆ ว่าต้องทำอย่างไร จัดระบบอย่างไร จนในที่สุดก็มั่นใจว่าทำได้ทั่วทั้งประเทศ ซึ่ง นพ.สงวนได้คุยกับพรรคการเมือง ซึ่งนักการเมืองในตอนนั้นคือนายทักษิณ ชินวัตร ก็กล้าบ้าบิ่นมาก UHC จึงกลายเป็นนโยบายของพรรคการเมือง เป็นที่มาของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมืองไทยสมัยก่อนจะมีคนบางกลุ่มที่ต้องขายนาขายที่ดินจ่ายค่ารักษาจนสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ดังนั้น UHC ทำให้สังคมไทยดีขึ้นมากมาย  "ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การขับเคลื่อน UHC ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะมาก หัวใจสำคัญคือระบบบริการที่ครอบคลุมผู้รับบริการ (Coverage) ถ้าในญี่ปุ่นและเยอรมันทุกคนต้องจ่ายก่อนจำนวนหนึ่งเพราะ 2 ประเทศนี้ทำระบบหลักประกันสุขภาพมานานและผ่านการเรียนรู้ว่าถ้าให้บริการฟรีเลยไม่ใช่เรื่องดี ต้องเก็บค่าบริการบ้าง ตลอดจนองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้เงิน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ฯลฯ

ประเด็นต่อมาคือนอกจากบริการที่ครอบคลุมผู้รับบริการแล้ว บริการที่จะจัดให้นั้นจะครอบคลุมบริการแบบไหนบ้าง ซึ่งก็ต้องมีการประเมินความคุ้มค่าในการใช้เงินว่าจัดบริการแบบไหนจึงจะคุ้มค่าที่สุด

"สถานการณ์ปัจจุบันคือบริษัทที่มีเทคโนโลยีสามารถตั้งราคาตามอำเภอใจ ถ้ามากดดันให้ระบบ UHC จ่ายก็เท่ากับรัฐบาลจ่าย ซึ่งเงินนั้นก็มาจากภาษีของพวกเราเอง แบบนี้จะเงินไหนไปจ่าย ดังนั้นจึงต้องมีระบบที่ต้องดูความคุ้มค่าซึ่งก็จะวนเข้ามาที่เรื่องวิชาการและความรู้ โชคดีที่ประเทศไทยมีโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งเป็นระบบที่จะตรวจสอบความคุ้มค่าว่ายาแบบไหน บริการแบบไหนที่ครอบคลุมให้ได้ เช่น ยาเม็ดละ 1,000 บาทไม่คุ้ม แต่ถ้าเม็ดละ 50 บาท คุ้ม เราก็ต่อรองให้ได้ราคานี้เป็นต้น เพราะบริษัทยาเขาตั้งราคาตามความสามารถในการจ่าย ไม่ได้ตั้งตามราคาทุน เราก็บอกว่าคุณจะได้เงินปีละเท่านี้ ๆ นะหรือไม่ได้เลย เขาก็ลดราคาให้ อเมริการาคาหนึ่ง ญี่ปุ่นราคาหนึ่ง เกาหลีราคาหนึ่ง ไทยก็อีกราคาหนึ่งตามความสามารถในการจ่าย นี่คือรายละเอียดที่มีเยอะมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือถ้าทำไม่เป็น ต่อรองราคาไม่เป็น หมดตัวแน่ บางประเทศเคยทำเกี่ยวกับวัคซีนแต่ก็หมดตัวเพราะต่อรองราคาทำไม่เป็น" ศ.นพ.วิจารณ์

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าคำว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่คำที่พูดตื้น ๆ แต่มีมิติที่ลึกกว่านั้น แม้แต่พื้นฐานที่มาที่ไปของระบบสุขภาพในแต่ละประเทศก็ยังแตกต่างกัน อย่างเช่น ญี่ปุ่นจัดบริการโดยเอกชนเป็นหลัก ส่วนของไทยใช้บริการของภาครัฐเป็นฐานใหญ่ ดังนั้นการพัฒนาระบบ UHC ของแต่ละประเทศจึงไม่จำเป็นต้องทำแบบเดียวกัน

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับความคาดหวังจากการประชุมในครั้งนี้นั้น อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าต้องการผลักดันให้มีการขับเคลื่อน UHC ในแต่ละประเทศให้มากขึ้น  ดังนั้นจึงหวังว่าหลังการประชุมนี้จะทำให้เกิด Action ในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพอย่างเอาจริงเอาจังโดยเฉพาะประเทศที่มีฐานะยากจนหรือระบบสาธารณสุขยังไม่พัฒนา แน่นอนว่าหากประเทศไหนไม่เอาจริงก็คงไม่มีใครไปบังคับได้ แต่เชื่อว่าประเทศที่ขับเคลื่อน UHC อย่างจริงจัง จะเป็นประโยชน์กับประชาชนของตนอย่างแน่นอน