ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ สปสช. เพิ่มบริการเจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาที่ร้านยาเป็น 32 กลุ่มอาการ ดีเดย์ให้บริการ 3 ก.ย. นี้
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2567 ซึ่งลงนามโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ประกาศ ณ วันที่ 1 ส.ค. 2567
สำหรับสาระสำคัญของประกาศฯ ฉบับดังกล่าว คือ เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ. 2566 เพื่อส่งเสริมให้ประขาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้น จึงให้หน่วยบริการที่เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน ที่ผ่านการรับรองเป็นร้านยาคุณภาพจากสภาเภสัชกรรม หรือผ่านการรับรองเบื้องต้น และอยู่ระหว่างออกใบรับรอง ตามรายชื่อที่สภาเภสัชกรรมกำหนดนั้น ให้บริการตามกลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ที่เป็นไปตามแนวทาง และมาตรฐานการให้บริการทางเภสัชกรรมปฐมภูมิโดยสภาเภสัชกรรม แก่ผู้ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รวม 32 กลุ่มอาการ ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2567
ทั้งนี้ 32 อาการ หรือกลุ่มอาการ ประกอบด้วย 1. เวียนศีรษะ 2. ปวดหัว 3. ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ 4. ปวดฟัน 5. ปวดประจำเดือน 6. ปวดท้อง 7. ท้องเสีย 8. ท้องผูก/ริดสีดวง 9. ปัสสาวะแสบขัด 10. ตกขาว 11. แผล 12. ผื่นผิวหนัง 13. อาการทางตา 14. อาการทางหู 15. ไข้ ไอ เจ็บคอ 16. ติดเชื้อโควิด-19
17. น้ำมูก คัดจมูก 18. มีอาการแผลในปาก 19. ตุ่มน้ำใสที่ปาก 20. แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง 21. อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ 22. อาการจากพยาธิ 23. อาการจากหิด เหา 24. ฝี หนองที่ผิวหนัง 25. อาการชา/เหน็บชา 26. อาการนอนไม่หลับ 27. เมารถ เมาเรือ 28. เบื่ออาหารโดยไม่มีโรคร่วม 29. คลื่นไส้ อาเจียน 30. อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย 31. อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ และ 32. เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก
ประกาศฯ ฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า รายการยาที่จ่าย เป็นกลุ่มยาสามัญประจำบ้านหรือยาอันตรายที่เภสัชกรสามารถจ่ายได้ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 โดยการจ่ายยาเป็นไปตามดุลยพินิจของเภสัชกร และสอดคล้องกับคู่มือเภสัชกรชุมชน ในการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในร้านยาของสภาเภสัชกรรม ส่วนอัตราการจ่ายค่าบริการ เป็นการเหมาจ่ายรวมค่าบริการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม ค่ายาและเวชภัณฑ์ และค่าติดตามอาการและผลการดูแล ในอัตรา 180 ต่อครั้งต่อคน
- 4622 views