ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 24 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อกลางเดือน มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา นอกจากจะมีการมอบประกาศนียบัตรการรับรองคุณภาพประเภทต่างๆ ให้แก่สถานพยาบาลแล้ว ไฮไลท์ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการแสดงผลงานงานนิทรรศการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย (Poster Presentation) ที่โรงพยาบาลต่างๆ ส่งเข้าร่วมประกวดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

จากข้อมูลของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. พบว่าโรงพยาบาลทั่วประเทศให้ความสนใจและส่งผลงานเข้าร่วมมากกว่า 3,000 ผลงาน ในจำนวนนี้มี 800 ผลงานที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาแสดงในงาน และมี 18 รางวัลที่ได้รับรางวัล แต่มีเพียงผลงานเดียวที่ได้รางวัลชนะเลิศ ซึ่งก็คือผลงาน "หมอน้องทำดี หมอพี่กด like" จากโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร นั่นเอง

น.ส.ปาริชาติ ชุมพูนุช ตัวแทนของ PCT ศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวถึงผลงานดังกล่าวว่า โรงพยาบาลชุมพรฯ เป็นแม่ข่ายในการรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บทางสมอง (Traumatic Brain Injury : TBI) ทั้งจากโรงพยาบาลชุมชนใน จ.ชุมพร และ จ.ระนอง ด้วย มีจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการประมาณ 3,000 รายต่อปี เป็นผู้ป่วยใน (IPD) ประมาณ 900 รายต่อปี และผู้ป่วยที่ส่งมาจากโรงพยาบาลลูกข่ายอีกประมาณ 800-900 รายต่อปี

ในปี 2561 PCT ศัลยกรรมประสาทได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าผู้ป่วยที่ส่งมาจากโรงพยาบาลลูกข่ายมีอัตราตายสูงเกือบ 20% และผลจากการทำ Root cause analysis พบว่าปัญหาเกิดจากการเตรียมผู้ป่วยและการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลชุมชน ไม่เหมาะสมตามมาตรฐาน ATLS 10th edition โดยมีการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวน้อยกว่า 67.4% เมื่อศึกษาลึกลงไปพบว่าเกิดจากการขาดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่ม TBI ของแพทย์ใช้ทุนและทีมห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งขาด feedback จากโรงพยาบาลปลายทาง ผลที่ตามมาคือผู้ป่วยเกิดอันตรายระหว่างทาง มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหรือถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้

ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา PCT ศัลยกรรมประสาท นำทีมโดย นพ.บุญเลิศ มิตรเมือง หัวหน้า PCT ศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จึงเริ่มโครงการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนใน 2 จังหวัด ให้เตรียมผู้ป่วยให้ได้ตามมาตรฐาน ATLS 10th มากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายว่า ผู้ป่วยบาดเจ็บทางสมองจากโรงพยาบาลลูกข่ายจะได้รับการดูแลตามแนวทาง ATLS 10th ทั้ง 5 ประเด็น คือ การใส่ท่อช่วยหายใจ การสวม Philadelphia collar การเย็บแผลห้ามเลือด การทำ Nasal packing และการให้ยา Tranexamic acid ครบถ้วน 100% และลดอัตราตายให้น้อยกว่า 8% ภายในปี 2566

สำหรับกระบวนการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลลูกข่ายนั้น ทาง PCT ศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้นำหลัก OPTIMA model ซึ่งคิดค้นขึ้นมาเอง เข้ามาใช้ในการดำเนินการ

หลักของ OPTIMA Model จะประกอบด้วย O = onsite visit PCT ศัลยกรรมประสาท ซึ่งประกอบไปด้วยประสาทศัลยแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หัวหน้าศูนย์รีเฟอร์ หัวหน้าห้องฉุกเฉิน หัวหน้าห้องบัตร หัวหน้าห้องผ่าตัด หัวหน้าวิสัญญี หอหน้า ICU หัวหน้าหอผู้ป่วยใน เภสัชกร และบุคลากรอื่นๆ จะลงพื้นที่เยี่ยมโรงพยาบาลชุมชน เพื่อรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และรับฟังการ feedback จากแพทย์ใช้ทุนและพยาบาลห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลชุมชน

P = positive feedback การ feedback ผลการดำเนินงานของแต่ละโรงพยาบาลในเชิงสร้างสรรค์ การกล่าวชม การเสริมพลังในเวทีการประชุมศูนย์รีเฟอร์ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 เดือน 

T = teaching การสอนให้ความรู้แพทย์ทั้งระดับ Extern Intern และพยาบาล โดยการจัด Refreshing course ปีละ 1 ครั้ง การจัด course สอนในที่ประชุมรีเฟอร์ทุก 2 เดือน และการสอนรายบุคคลผ่านทางไลน์หรือโทรศัพท์เมื่อมีการติดต่อส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการดูแลรักษา

I = work instruction การจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติสำหรับแพทย์เวรห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลชุมชนเพื่อเตือนความจำและยึดถือปฏิบัติให้ตรงกัน

M = meeting การจัดประชุมพบปะสนทนาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ เช่น การจัดประชุมรีเฟอร์ การพูดคุยสนทนารายบุคคลผ่านโทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

A = analysis of data การเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่รีเฟอร์เข้ามารายเดือน ทำการวิเคราะห์ข้อมูลตัวชี้วัดทั้ง 5 ข้อ และนำข้อมูลไปเสนอในที่ประชุมรีเฟอร์ เพื่อให้ทีมงานทุกโรงพยาบาลได้รับทราบสถานการณ์

ทั้งนี้ การดำเนินการจะมีการหมุนวงล้อ DALI ทุก 2 เดือนตามวาระการประชุมรีเฟอร์ และมีการปรับแนวทาง OPTIMA ทุก 6 เดือน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและได้ผลดียิ่งขึ้น

น.ส.ปาริชาติ กล่าวต่อไปว่า ผลการจากดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2562 ไปจนถึงสิ้นปี 2566 พบว่าการดูแลเตรียมผู้ป่วยบาดเจ็บสมองเพื่อการส่งต่อได้ถูกต้องเหมาะสมทั้ง 5 ประเด็นมากขึ้น โดยในเรื่องของการใส่ท่อช่วยหายใจ การสวม Philadelphia collar การเย็บแผลห้ามเลือด และการให้ยา Tranexamic acid สามารถทำได้ครบถ้วน 100% ส่วนการทำ Nasal packing ทำได้ 98.2% เนื่องจากแพทย์ใช้ทุนต้องมีการหมุนเวียนทุกปี ทำให้การฝึกอบรมยังทำได้ไม่ 100%

ขณะที่ตัวเลขอัตราตายของกลุ่ม Severe TBI ก็ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จาก 19.7% ในปี 2561 เหลือ 6.3% ในปี 2566 

สำหรับปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินงานนั้น นพ.บุญเลิศ ได้สรุปไว้ 3 ข้อ คือ 1. ผู้นำองค์กร ประสาทศัลยแพทย์และทีมงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ และแก้ไขปัญหาจากหน้างานจริง 2. การมีส่วนร่วมของโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่ายที่ช่วยกันออกแบบแนวทางการดำเนินงานในระบบส่งต่อ และ 3. การสร้างช่องทางให้มีการพบปะ การสื่อสารในเครือข่าย โดยเฉพาะแบบไม่เป็นทางการ เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในเครือข่าย ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นทีมเดียวกัน

หากถามว่าใน 3 ข้อนี้ อะไรสำคัญที่สุด คำตอบคือ ระบบที่มีช่องทางที่ทำให้การสื่อสารในเครือข่ายดีขึ้น โดยสรุปแล้ว Key success = Communication นั่นเอง