ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รอง ผอ.รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ยอมรับมีผู้ป่วยจิตเวชจากเขตสุขภาพที่ 10 ส่งต่อมารักษาตัวเพราะใช้ยาเสพติดมากขึ้นจริง เหตุเพราะคนเข้าถึงสารกระตุ้นประสาทได้ง่าย แต่ไม่ฟันธงเพราะสูตรปรุงน้ำใบกระท่อมหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยรองรับ มั่นใจยังดูแลได้ ผนึก "ศูนย์มินิธัญญารักษ์" ดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุม 


พญ.กนกกาญจน์ วิโรจน์อุไรเรือง รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และการพัฒนา โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยกับ "The Coverage" ตอนหนึ่งว่าขณะนี้ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีสัดส่วนการรับส่งต่อผู้ป่วยสุขภาพจิต ที่มีปัญหามาจากการใช้สารเสพติดที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท อันส่งผลให้มีอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการก่อเหตุรุนแรงต่อตนเองและผู้อื่น มากขึ้น

สำหรับ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช ที่รับส่งต่อจาก 5 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 10 คือ อุบลราชธานี มุกดาหาร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร ซึ่งสาเหตุที่มีผู้ป่วยถูกส่งต่อเข้ารับการรักษามากขึ้น พบว่าเกือบทั้งหมดเกิดจาการเข้าถึงสารเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทได้อย่างสะดวก ทำให้ตัวเลขของผู้ป่วยในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นตามมา

ตัวอย่างเช่น ในปี 2566 มีผู้ป่วยกลุ่มโรคจิตเวชที่มีสาเหตุจากการใช้สารเสพติดในกลุ่มเมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า และกลุ่มน้ำใบกระท่อม จำนวน 2,381 คน โดยต้องรับเป็นผู้ป่วยในเพื่อบำบัดระยะยาว 394 คน ส่วนกลุ่มที่ใช้ยาเสพติดอื่นๆ ร่วมด้วย มีจำนวน 2,143 คน รับเป็นผู้ป่วยใน 372 คน และยังมีผู้ป่วยจิตเวชจากสุรา อีกจำนวน 1,466 คน และต้องรับเป็นผู้ป่วยใน 340 คน

พญ.กนกกาญจน์ กล่าวว่า ในส่วนน้ำใบกระท่อมที่หลายคนกังวลว่าเป็นอีกสาเหตุทำให้มีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบว่ามีการผสมสูตรต่างๆ จนทำให้มีฤทธิ์หลอนต่อระบบประสาทที่รุนแรงมากขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่ออกมาบ่งบอกว่า การผสมน้ำใบกระท่อมในสูตรต่างๆ ทั้งผสมกับน้ำอัดลม ชาเขียว หรือยาแก้ไอ ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างไร และเมื่อผสมกันแล้วจะมีอนุพันธ์สารที่ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร

"แต่ในทางการแพทย์ ใบกระท่อมมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอยู่แล้ว ยิ่งไปผสมกับสารอื่นๆ ก็จะมีผลทำให้กระตุ้นอาการทางจิตได้ แต่ทว่าในบ้านเรายังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลการใช้น้ำใบกระท่อมที่แบ่งแยกชัดเจน เพราะเมื่อพบว่าผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้สารเสพติดและมีอาการรุนแรง แม้ว่าจะใช้น้ำใบกระท่อม แต่ระบบที่กรอกอาการของผู้ป่วย จะถูกบังคับให้เป็นกลุ่มที่ใช้สารเมทแอมเฟตามีน หรือกลุ่มที่ใช้ยาบ้า จึงทำให้แยกหรือคัดกรองเพื่อวิเคราะห์รายละเอียดของสาเหตุได้ยาก ว่าผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นนั้นมาจากสัดส่วนการกินน้ำใบกระท่อมที่เพิ่มมากขึ้นเพียงอย่างเดียวหรือไม่" พญ.กนกกาญจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ยังเป็นสัดส่วนที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ สามารถดูแลได้ รวมไปถึงโรงพยาบาลชุมชนในสังกัด สธ. ของเขตสุขภาพที่ 10 ต่างก็มีศักยภาพในการดูแลรักษาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับการเพิ่มจำนวนศูนย์มินิธัญญารักษ์ให้มากขึ้น เพื่อเข้ามาเป็นอีกหนึ่งโหนดในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีปัญหาจากการใช้สารเสพติด อย่างที่ จ.อุบลราชธานี ก็มีศูนญ์มินิธัญญารักษ์แล้วใน 4 อำเภอ คือ รพ.ตระการพืชผล รพ.ศรีเมืองใหม่ รพ.บุณฑริก และ รพ.สิรินธร ซึ่งก็ช่วยให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชจากสารเสพติดมีความครอบคลุม

"นอกจากการรักษา รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ยังร่วมกับเครือข่ายในการเข้าไปขับเคลื่อนการป้องกันเชิงรุก โดยคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่ใช้สารเสพติด เพื่อแยกกลุ่มที่มีภาวะเสพ ภาวะเสี่ยง และภาวะติดยาเสพติด ในชุมชนต่างๆ ทุกแห่งร่วมกับเขตสุขภาพที่ 10 รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อประเมินอาการของกลุ่มเสี่ยงต่างๆ และดูแลตามขั้นตอนต่อไป" พญ.กนกกาญจน์ กล่าว