ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้นำ 5 องค์กรแสดงจุดยืนพร้อมรวมพลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน (3P Safety) ด้วย Growth Mindset


ผู้นำ 5 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน ร่วมกล่าวบรรยายในหัวข้อ การผนึกกำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3P Safety ระยะที่ 2 พ.ศ. 2567-2570 ในงานประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 24 ซึ่งจัดโดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เมื่อเร็วๆ นี้

ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องการรวมพลังสร้างความเข้มแข็งและแรงใจให้บุคลากรสาธารณสุข หากไม่มีหลายฝ่ายมาร่วมมือกันคงไม่เกิดความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบาย 3P Safety

ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์

ศ.พญ.สมศรี กล่าวต่อไปว่า ในด้านการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุขนั้น ด้วยความที่ตนมีหน้าที่ใน 2 องค์กร คือแพทยสภา และ แพทยสมาคม การที่ 2 องค์กรนี้ร่วมมือกันจะช่วยทำให้เกิดความเข้มแข็งในหลายด้าน บางอย่างที่แพทยสภาทำไม่ได้ก็ได้แพทยสมาคมเข้ามาช่วย เช่น ในปี 2547 ช่วงที่สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้กำลังร้อนระอุ แพทยสมาคมก็ได้ทำประกันชีวิตให้แพทย์กว่า 200 คนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ หรือในปี 2564 ช่วงโควิด-19 ระบาด แพทยสมาคมก็ทำประกันสุขภาพให้แพทย์ พยาบาล ทั้งประเทศ เป็นต้น

ขณะที่ในด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขนั้น แพทยสภามีโครงการต่างๆ ที่พัฒนาให้แพทย์มีประสบการณ์และทำให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังรวมพลังกับวิชาชีพอื่นภายใต้สมาพันธ์สภาวิชาชีพ ซึ่งนอกเหนือจากด้านสาธารณสุขแล้ว ยังมีวิชาชีพวิศวกร บัญชี ทนายความ ซึ่งจะช่วยขยายพื้นที่การทำงานงานได้อีกมาก

“สรุปคือถ้าทุกคนรู้หน้าที่ตนเองว่ามีหน้าที่อะไร ก็จะทำให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพที่ดี สมบูรณ์เป็น 3P Safety อย่างที่ตั้งใจไว้”ศ.พญ.สมศรี กล่าว

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ของ 3P Safety ซึ่งเน้นการสานพลังชุมชนสังคมเพื่อสุขภาพที่ปลอดภัย มี 5 กลยุทธ์ที่แต่ละหน่วยบริการนำไปปรับใช้ได้ คือ 1. การสร้างการมีส่วนร่วม 2. การใช้ประสบการณ์ผู้ป่วยและความคาดหวังของประชาชนมาพัฒนาบริการ 3. การสร้างทีมนำและเครือข่าย 4.การพัฒนาระบบบริหารจัดการ เป็นการสร้างกลไกเพื่อเรียนรู้และพัฒนา และ 5.การสื่อสารสังคมเกี่ยวกับ 3P Safety

นพ.สุเทพ เพชรมาก

นพ.สุเทพ กล่าวว่า เมื่อนำกลยุทธ์ทั้ง 5 ข้อนี้ไปสู่การปฏิบัติ ตนคิดว่า 1. ต้องมีกลไกในพื้นที่เพื่อนำนโยบาย/ยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ 2. การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคลากร ซึ่งเรื่องนี้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว 3.สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นอีกส่วนที่ให้ประชาชนเข้ามาร่วมออกแบบและจัดบริการได้ 4. กลไกต่างๆ ของ สช. เป็นแพลตฟอร์มที่หน่วยงานต่างๆนำไปใช้ได้ จุดแข็งของ สช. คือมีเครือข่ายในทุกพื้นที่ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในการใช้เครือข่ายและกลไกร่วมกันได้ และ 5. การสื่อสารสังคม ซึ่งเมื่อพูดว่า Better healthcare แปลว่ามันก็ต้องดีขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นต้องสานพลังร่วมกันเพื่อขับเคลื่อน 3P Safety ตามที่ทุกฝ่ายคาดหวังไว้

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ระบบสาธารณสุขของไทยเดินมาถึงอันดับ 5 ของโลก มาจากการเดิน 2 ขา ขาซ้ายคือระบบบริการ ขาขวา คือ การพัฒนาระบบสาธารณสุขมูลฐาน ดังนั้น 3P Safety ตัว 2 P แรกอยู่ในระบบบริการสุขภาพ แต่ P ตัวสุดท้าย เป็นเรื่อง Primary health ที่ประชาชนต้องดูแลตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมี 2 เรื่องสำคัญที่เป็นตัวคุกคามระบบสุขภาพ คือ 1.การมาถึงของภาวะสังคมสูงอายุเร็วกว่าที่คาด วันนี้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ มีผู้สูงอายุ 20% และอัตราการเกิดลดลง จำนวนประชากรเริ่มลดลง ดังนั้นถ้าเตรียมตัวไม่ดีมีปัญหาแน่ 2.โรคติดต่อไม่เรื้อรัง มีจำนวนมากขึ้น ภาระงานก็จะมากขึ้น ทั้งผู้ป่วยไตวาย ผู้ป่วย Strock ผู้ป่วยโรคหัวใจ และจำเป็นต้องมีการดำเนินการที่จริงจังมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่จะมาช่วยเรื่อง 3P Safety กำลังใกล้ตัวเข้ามามากขึ้น เช่น การนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ฟิล์มเอ็กซเรย์ซึ่งจะทำให้หมอสะดวกในการวินิจฉัยมากขึ้น การใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัด ช่วยในความแม่นยำในการทำหัตถการ ระบบ Decision support system ที่จะช่วย warning แพทย์ป้องกันความผิดพลาด เช่นสั่งยาผิด สั่งแลปซ้ำ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้บุคลากรต้องเรียนรู้มัน และท้ายที่สุดคือการคิดนอกกรอบในการแก้ปัญหา รวมทั้งการเริ่มต้นการขับเคลื่อนงานด้วย Passion ทำเพื่อประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์เป็นรางวัลที่ดีที่สุดที่จะตอบแทนเรา ไม่ใช่เรื่องทองหรือตำแหน่งใดๆ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันไม่ได้ดูแลเรื่องเงินอย่างเดียว แต่ดูเรื่องคุณภาพด้วย ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพมีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งเน้นเรื่องการส่งเสริมคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัย เช่นเดียวกับปรัชญาของ สรพ. ที่มองเรื่องคุณภาพเป็นเรื่องของการส่งเสริม ไม่ใช่บังคับ ซึ่งตนคิดว่ามาถูกทางแล้ว

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า Growth mindset เป็นจุดตั้งต้นที่ดี และในอนาคตควรมี Mindset เป็นตัวนำในเรื่องคุณภาพ ยกตัวอย่างเช่น การวัดความพึงพอใจของผู้รับบริการ ซึ่ง สปสช. ได้ความพึงพอใจ 98% ถ้าใช้ Mindset เดิมก็เป็นเรื่องที่พอใจ แต่ถ้าใช้ Mindset ใหม่ ต้องมองคนที่ไม่พอใจอีก 2% ด้วยคืออะไรและพยายามปรับระบบให้ตอบสนองคนกลุ่มนี้มากขึ้น เช่น การลดขั้นตอนการทำงาน การลดความแออัดในโรงพยาบาล เป็นต้น

หรือในเรื่องแรงกดดันของ สปสช. ที่ต้องคุมค่าใช้จ่ายในภาพรวมให้ได้ ซึ่งก็ต้องปรับ Mindset ไปขับเคลื่อนที่ปฐมภูมิ ตั้งแต่ Self-care หรือการไปรักษาที่หน่วยบริการต่างๆ เช่น ร้านยา แพทย์แผนไทย ฯลฯ เพื่อให้คนที่เข้าไม่ถึงบริการ สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของการปรับ Mindset ทั้งสิ้น

ด้าน พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนมีโอกาสเกิด error ได้เป็นปกติ ความผิดพลาดเหล่านี้ไม่ได้เกิดจาก Bad people แต่มาจากการทำงานใน Bad system ดังนั้น การมีระบบที่เข้มแข็งจึงเป็นเรื่องสำคัญ

1

พญ.ปิยวรรณ กล่าวอีกว่า ในการออกแบบระบบหรือกระบวนการนี้ จะอยู่ในวงล้อกระบวนการพัฒนาคุณภาพโดยมีเป้าหมายคือคือ 3P patients personnel people ต้องปลอดภัย โดยในการออกแบบวิธีการทำงานแล้ว ต้องออกแบบว่าใครเป็นคนทำและทำกับใคร สำหรับคนกลุ่มไหน ครอบคลุมแค่ไหน และต่อด้วยว่าควบคุมกำกับอย่างไร ข้อมูลอะไรที่ต้องเก็บเพื่อประเมินผล เมื่อรู้ทุกอย่างแล้วถึงจะเริ่ม Action

“ถ้าวางไม่ครบ loop เราจะไม่เกิดการพัฒนาเพราะเราไม่รู้ว่าผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร สรพ. ชวนทำเรื่องคุณภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการกลับมาดู Process และ System และอยากบอกว่าหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือการออกแบบแล้วเอาไป implement อย่างเป็นระบบ รู้ว่าทำอย่างไร กับใคร แค่ไหน ติดตามผลอย่างไร การออกแบบต้องคำนึงถึงคนและทรัพยากรที่มี ไม่ออกแบบเกินกว่าสิ่งที่มี และการออกแบบต้องดูว่ามีความเสี่ยงอะไรเพื่อให้บริหารจัดการความเสี่ยงได้ ท้ายที่สุดต่อให้มีระบบที่ดี แต่ถ้าคนไม่ทำก็ไม่สามารถเกิดสิ่งที่ดีได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเรื่องภายใน หรือ Mindset ถ้าคนตระหนักและพร้อมทำเรื่องที่ดี มี Growth mindset สิ่งต่างๆจะเกิดขึ้นได้”พญ.ปิยวรรณ กล่าว