ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'หมอธีระ' เผยระบบ FDH ของ สธ. ใช้เบิกจ่ายสิทธิ UCEP ใน รพ. สังกัด สธ. แค่เชื่อมระบบ หลังไม่พบมีการเชื่อมต่อ รพ. อื่นนอกสังกัด สธ. เชื่อจากนี้คงพูดคุยกัน ชี้ เป็นระบบการเงินที่มาแก้จุดอ่อนการเบิกจ่ายในอดีต ช่วยสร้างความเชื่อมั่นโรงพยาบาลได้เงินแน่ แต่ไม่มั่นใจ สธ. จะคุมการจ่ายเงินแทน สปสช. ได้ไหว  


จากกรณีที่เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ได้ให้สัมภาณ์ภายหลัง เป็นประธานในการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาระบบข้อมูลการเบิกค่าบริการสาธารณสุขระหว่าง สธ. และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะมีการใช้ระบบศูนย์กลางข้อมูลทางการเงิน (MOPH Financial Data Hub หรือ FDH) เข้ามาบริหารจัดการการเบิกจ่ายกรณีสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) สำหรับโรงพยาบาลในสังกัด สธ. แทนวิธีเดิมที่ สปสช. เป็นผู้จ่ายให้โรงพยาบาลก่อน และไปเรียกเก็บเงินจากกองทุนอื่นๆ 

ล่าสุด รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ "The Coverage" ถึงประเด็นดังกล่าวว่า แนวคิดการให้ระบบ FDH ของ สธ. เข้ามาเป็นกลไกเพื่ออำนวยความสะดวกในการเบิกจ่ายการให้บริการสิทธิ UCEP โดยตรงได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี และยังเป็นระบบที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ทุกที่โดยไม่ต้องติดเงื่อนไขใดๆ 

อย่างไรก็ตาม ในสภาพการณ์จริงอาจต้องคำนึงถึงโรงพยาบาลที่จะใช้ระบบ FDH เพราะหากครอบคลุมเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ก็จะเป็นข้อจำกัดต่อการให้บริการหรือไม่ เพราะสิทธิ UCEP ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ทุกโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลในสังกัด สธ. และนอกสังกัด อาทิ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน 

"ส่วนตัวผมคิดว่า สธ. อาจต้องการเชื่อมระบบ FDH ให้เข้ากับโรงพยาบาลในสังกัดก่อน และดูกับทาง สปสช. ว่ามีปัญหาในการเบิกจ่ายหรือติดขัดส่วนใดหรือไม่ จากนั้นคงมีการเจรจาหารือกับโรงพยาบาลนอกสังกัดอื่นๆ เพื่อเชื่อมระบบการเบิกจ่ายเป็นระบบเดียวกัน หรือใช้ระบบอื่นๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมก็เป็นได้" รศ.นพ.ธีระ กล่าว

รศ.นพ.ธีระ กล่าวด้วยว่า ระบบ FDH ของ สธ. จะเป็นอีกระบบที่เข้ามาตอบโจทย์ปัญหาการเบิกจ่ายที่เคยมีมาในอดีต ทำให้โรงพยาบาลในฐานะหน่วยบริการ ก็มั่นใจได้ว่าการรักษาพยาบาลที่ให้บริการไปจะได้รับการเบิกจ่ายชดเชยครบถ้วน รวมไปถึงผู้รับบริการก็มั่นใจว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินใดๆ เมื่อต้องเจ็บป่วยฉุกเฉินและเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล 

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าประเด็นนี้จะไม่กระทบต่อประชาชนที่จะไปรับบริการ เพราะสิทธิ UCEP ก็ยังให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติทุกสิทธิการรักษา เข้าถึงการรักษาได้กับทุกโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดเหมือนเดิม ซึ่งเป็นสิทธิทางสุขภาพของประชาชน  

รศ.นพ.ธีระ กล่าวตอนท้ายว่า แต่หาก สธ. จะเข้ามาสร้างระบบเพื่อดูแลการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการสุขภาพแทนที่ สปสช. ส่วนตัวไม่แน่ใจว่า สธ. จะสามารถบริหารจัดการผ่านระบบ FDH ทั้งหมดได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ระบบกลไกการเบิกจ่ายทุกอย่าง สปสช. ทำหน้าที่ดูแลทั้งหมดกว่า 10 ปี อีกทั้งยังเป็นกลไกที่ สปสช. เข้ามาบริหารจัดการ จนเกิดการควบคุมดูแล และเกิดเป็นความสามารถในการการเจรจาต่อรองราคาอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ ยา กับบริษัทต่างๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาที่อาจหยุมหยิมกับงานบริหารของ สธ. อยู่มาก