ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หากจะเปรียบเทียบอาการปวดประจำเดือนนั้น ก็ลองตัดนิ้วโดยไม่ใช้ยาชา” 

“ความแย่ของการปวดประจำเดือน เกือบเทียบเท่ากับหัวใจวาย” 

“ผู้หญิงกว่า 40% ไม่มีอาการปวดเมื่อหัวใจวาย และมันจะยิ่งอันตรายสำหรับผู้หญิงที่คิดว่าหัวใจวายนั้น แย่พอๆ กับการปวดท้องเมนส์”

วรรคตอนข้างต้นมาจาก ดร.เจน กันเทอร์ สูตินรีแพทย์เจ้าของเว็บบล็อกชื่อดังว่าด้วยเรื่องของสุขภาพผู้หญิง รวมถึง ศ.จอห์น กิลโบด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทางเพศและการเจริญพันธ์ ระบุถึงความเจ็บปวดที่ผู้หญิงต้องเจอระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งการปวดประจำเดือนนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท นั้นคือปวดแบบปฐมภูมิ หรือปวดแบบทุติภูมิ หากเทียบให้เห็นภาพก็คือการปวดแบบขั้นแรก และปวดแบบรุนแรงนั่นเอง โดยสาเหตุของการปวดนั้นเกิดจากการที่ฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก

สำหรับบางรายมักเกิดอาการปวดเกร็ง หรือไม่สบายตัวได้ แต่บางรายอาจจะปวดจนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำในชีวิตประจำวัน รวมถึงไม่สามารถไปเรียนหรือทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับอาการทางการแพทย์ได้ เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อันเกิดจากการที่เซลล์ผนังมดลูกเจริญเติบโตในส่วนอื่นของร่างกาย อาทิ ท่อนำไข่ รังไข่ ฯลฯ รวมถึงการตีบของปากมดลูก ซึ่งเป็นความผิดปกติทางระบบสืบพันธุ์ โดยมีสาเหตุมากจากการที่ปากมดลูกเล็กและแคบ ทำให้ประจำเดือนไหลได้ช้า รวมถึงเป็นการเพิ่มแรงดันภายในมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุของการปวดด้วย

อย่างไรก็ดี อาการปวดประจำเดือนแบบรุนแรงนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคน แต่อาจจะเกิดขึ้นกับบางคน เช่น ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สูบบุหรี่ หรือผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ช่วงวัยสาวก่อนอายุ 11 ปี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในช่วงระหว่างมีประจำเดือนนั้น จากบทความ JAMA เมื่อปี 2019 ระบุว่า อาการปวดประจำเดือนขั้นแรกนั้น เป็นอาการที่พบได้ 50-90% ของผู้หญิง โดยครึ่งหนึ่งระบุว่ามีอาการปวดปานกลาง หรือรุนแรง แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น บ่อยครั้งที่อาการเหล่านี้ก็ไม่ได้รับการรักษาที่เพียงพอ ไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือยังคงถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ 

“หากความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้ผู้หญิงไม่สามารถไปโรงเรียนหรือทำงานได้ นั่นไม่ใช่เรื่องปกติ” ผศ.ดร.คารา ซิมสัน อาจารย์ประจำสาขานรีเวชวิทยาและสูติศาสตร์ โรงพยาบาลจอห์น ฮอปสกินส์ ให้สัมภาษณ์พร้อมระบุว่าหากเกิดอาการเหล่านี้ ควรได้รับการประเมินโดยสูตินรีแพทย์

การปวดประจำเดือน แม้จะเป็นเรื่องที่ผู้หญิงส่วนมากมีประสบการณ์ร่วมกัน แต่ก็ไม่ได้ความว่าจะเหมือนกันทุกคน เพราะจากตัวอย่างที่กล่าวไปข้างต้น บางคนอาจจะปวดเกร็งปกติ แต่สำหรับบางคนอาจเกิดความเจ็บปวดจนไม่สามารถขยับตัวไปไหนได้ และอาจจำเป็นต้องใช้ “วันลา” เพื่อการหยุดพัก

จากการศึกษาของวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ มหาวิทยาลัยอเมริกัน ระบุว่า อาการปวดประจำเดือน เป็นประสบการณ์ที่ผู้หญิงพบเหมือนกันในทุกๆ 1-2 วันแรกของการมีประจำเดือน หรือบางราย ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานด้วย

อย่างไรก็ดี “สเปน” ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ให้สิทธิผู้หญิง “ลาปวดประจำเดือน” หรือ “Menstrual Leave” ได้ราว 3 วันต่อเดือน หรืออาจจะขยายได้ถึง 5 วันต่อเดือนสำหรับผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรง โดยที่ยังได้รับค่าจ้าง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิสุขภาพทางเพศ และอนามัยการเจริญพันธุ์​

สำหรับการลาปวดประจำเดือนในประเทศอื่นๆ นั้น จากกฎหมายแรงงานของ “เกาหลี” ในมาตรา 73 ระบุให้ผู้หญิงสามารถลาปวดประจำเดือนได้เดือนละ 1 ครั้ง จากการลาป่วย เนื่องจากปัจจัยทางสรีรวิทยา

รวมถึงกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศในการจ้างงาน ตามมาตรา 14 ของ “ไต้หวัน” ก็อนุญาตให้พนักงานหญิงมีสิทธิในการลาปวดประจำเดือนได้เดือนละ 1 ครั้ง โดยจะยังได้รับค่าแรงครึ่งหนึ่ง ส่วนในกรณีที่พนักงานใช้สิทธิลาปวดประจำเดือนมากกว่า 3 ครั้งต่อปี วันที่เกินมาก็จะถือว่าเป็นการลาป่วยตามปกติ

ขณะที่ “เวียดนาม” เองกมีกฎหมายกำหนดให้พนักงานหญิงสามารถพักได้ 30 นาทีในวันที่มีประจำเดือน กระทั่งปี ค.ศ. 2020 ก็มีการแก้เพิ่มให้สามารถลาปวดประจำเดือนได้ 3 วันต่อเดือน ส่วนผู้ที่ไม่ใช้สิทธินั้นจะได้รับค่าจ้างเพิ่ม

สำหรับประเทศ “ไทย” เมื่อครั้งการประชุมสภาผู้แทนราษฎร น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้มีการเสนอขยายสิทธิวันลาจากการปวดประจำเดือน โดยไม่นับเป็นการลาป่วย ซึ่งเธอก็ได้อ้างอิงผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ที่ระบุว่าอาการปวดประจำเดือนเลวร้ายพอๆ กับอาการหัวใจวาย แต่อาการที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนถูกประเมินต่ำ หรือถูกมองข้าม และมองว่าเป็นเงื่อนไขส่วนบุคคล ทำให้การปวดประจำเดือนไม่ถูกให้ความสำคัญในระดับสวัสดิการ

ขณะเดียวกัน การป่วยจากโรคระบาดหรืออุบัติเหตุ กลับได้รับความคุ้มครองจากภาครัฐและเอกชนมากกว่า ซึ่งหากมองการลาปวดประจำเดือน เป็นการลาประเภทเดียวกับการลาป่วย เท่ากับผู้หญิงจะมีวันลาเนื่องจากสุขภาพน้อยกว่าผู้ชาย

“นั่นเป็นการตระหนักถึงประจำเดือนในฐานะการเจ็บป่วย มากกว่าเรื่องเงื่อนไขทางร่างกาย อันเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศในสถานที่ทำงาน จึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขหมวด 3 เรื่องการใช้แรงงานหญิงในมาตรา 38-43 เรื่องการกำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานได้ พ.ศ. 2547 เพื่อเป็นการยุติการเลือกปฏิบัติ” น.ส.ขัตติยา ระบุ


ที่มา :
https://www.washingtonpost.com/world/2023/02/17/spain-paid-menstrual-leave-countries/
https://www.businessinsider.com/are-period-cramps-more-painful-than-heart-attack-2018-3
https://www.healthline.com/health/painful-menstrual-periods