ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. เห็นชอบวงเงินจัดหายาที่เพิ่มเข้ามาในบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวนกว่า 44 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ป่วยบัตรทอง เพิ่มความครอบคลุมการรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบประสาทจากภูมิคุ้มกันตนเอง และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอุตัน หนุนนโยบายรัฐบาลยกระดับ 30 บาทฯ และมะเร็งครบวงจร  


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการรับทราบ “รายการยาที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ” และเห็นชอบอนุมัติวงเงินงบประมาณในจัดหายาจำนวน 44.326 ล้านบาท 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

ทั้งนี้ รายการยาที่เพิ่มเข้ามาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ครั้งนี้ มี 2 กลุ่ม รวม 6 รายการด้วยกัน ประกอบด้วย 1. กลุ่มยาเดิมเพิ่มเงื่อนไข ได้แก่ ยาอะดาลิมูแมบ (adalimumab) สำหรับรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดไม่มีอาการทางระบบ ยาริทูซิแมบ (rituximab) สำหรับรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน ชนิดฟอลลิเคิลระยะลุกลาม ยาทราสทูซูแมบ (trastuzumab) สำหรับรักษาโรคมะเร็งต่อมเต้านมระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ แต่มีขนาดของก้อนมะเร็งเต้านมโตมากกว่า 2 เซนติเมตร  และ ยาอิมมูโนโกลบูลิน (intravenous immunoglobulin หรือ IVIG) สำหรับรักษาโรคระบบประสาทสั่งการอักเสบหลายตำแหน่ง และโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน

2. กลุ่มยาใหม่ ได้แก่ ยาบอร์ทีโซมิบ (bortezomib) สำหรับรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดมัยอีโลมา ที่เข้าเงื่อนไขการปลูกถ่ายไขกระดูก และ น้ำมันเอธิโอไดซ์ (ethiodized oil) สำหรับใช้ผสมกับยาเคมีบำบัดในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับ หรือใช้ผสมกับกาวไซยาโนอะคริเลต (cyanoacrylate glue) ในการทำหัตถการที่ผ่านสายสวนหลอดเลือดแดงในการเปิดหลอดเลือดแดงที่อุดตัน (endovascular treatment) เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดผิดปกติ  

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า รายการยา 5 อันดับแรกนี้ ตามกระบวนการจะใช้วิธีการจัดซื้อร่วม มีเพียงยารายการสุดท้ายให้เป็นการจ่ายชดเชยในระบบ DRGs เนื่องด้วยอัตราการจ่ายชดเชยได้รวมค่ายาแล้ว โดยประมาณการณ์รวมทั้งหมดใช้งบประมาณจำนวน 75 ล้านบาท ซึ่งในช่วงก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2567 (มี.ค.-ก.ย.) การจัดหายาจะใช้งบประมาณอยู่ที่ 44 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณที่ได้จากการประหยัดจากการจัดซื้อร่วมตามแผนการจัดซื้อยาฯ ของปีงบประมาณ 2567

“ยา 6 รายการนี้จัดอยู่ในกลุ่มยาที่มีราคาแพง ที่ในอดีตเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย แต่ภายหลังจากที่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้ให้การรับรองประสิทธิผลการรักษา สปสช. จึงได้ดำเนินการจัดซื้อให้แก่ผู้ป่วยในระบบโดยเร็ว เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากที่สุด” เลขาธิการ สปสช. กล่าว