ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บทบาทของ “มูลนิธิรามาธิบดี ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปี สร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก มูลนิธิรามาธิบดีฯ ถือเป็นส่วนสนับสนุนภารกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด

โดยเฉพาะกับภารกิจที่ทำหน้าที่เป็น ‘สะพาน’ ให้กับผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่าย ผ่านทุนของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ที่ผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันระดมทุนอย่างต่อเนื่อง

มากไปกว่านั้น มูลนิธิรามาธิบดีฯ ยังทำหน้าที่เติมเต็มภารกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาฯ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันทางการแพทย์แห่งนี้เป็นเลิศทั้งในด้านการผลิตบุคลการทางการแพทย์-พยาบาล ที่เป็นภารกิจหลัก รวมถึงภารกิจการวิจัยเพื่อพัฒนาการรักษาโรคซับซ้อน และการบริการสุขภาพของโรงพยาบาลรามาฯ ให้มีมาตรฐานคุณภาพที่สูงมากขึ้น

จากเงินบริจาคที่เป็นจุดเริ่มต้นของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ตั้งแต่ปี 2508 ปัจจุบัน จากพลังศรัทธาของคนไทยที่ร่วมบริจาคเข้ามูลนิธิ ผลบุญที่เกิดขึ้นก็ได้ช่วยผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์นับล้านคนได้เข้าถึงการรักษา และต้องช่วยค่าใช้จ่ายถึงปีละกว่า 100 ล้านบาท

รวมไปถึงการเติมเต็มเทคโนโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่อีกนับหลายร้อยล้านบาทให้กับโรงพยาบาลรามาฯ เพื่อนำไปช่วยรักษาผู้ป่วยให้ได้ผลดีมากขึ้น ที่ก็มีจำนวนมากเช่นกัน

ความมั่นคงของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ที่แม้ว่าจะเป็นมูลนิธิอันดับหนึ่งในหัวใจของคนไทย และทุกวันนี้ก็ยังมีการบริจาคสมทบทุน หรือการระดมทุนที่ได้รับการตอบรับอย่างดีมาตลอด แต่ทว่าในอนาคต ที่เทคโนโลยีทางการแพทย์มีราคาสูงขึ้น รวมถึงภารกิจต่างๆ ของคณะแพทยศาสตร์ในการยกระดับและพัฒนาทางการแพทย์ก็ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก

ทิศทางข้างหน้าของมูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงจำเป็นต้องหารายได้เข้าสู่มูลนิธิ เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนทั้งประเทศ

หนึ่งในรายได้ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือโปรเจก 'ศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา' ที่จะเป็นสถานพยาบาลผู้ป่วยนอกระดับพรีเมียม ราคาค่าบริการแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐ แต่ไม่เท่ากับโรงพยาบาลเอกชน ที่สำคัญคือ จะมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ชำนาญ และเชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาฯ คอยดูแล 

"The Coverage" พูดคุยกับ 'พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ' ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ ซึ่งทำให้เห็นภาพทิศทางข้างหน้าของมูลนิธิรามาธิบดีฯ และของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาฯ ผ่านโปรเจกศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา ได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะนี่คือโปรเจกที่ไม่ใช่การระดมทุน เพราะมูลนิธิรามาธิบดีฯ ต้องการหารายได้เอง เพื่อสนับสนุนภารกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาฯ และเป็นรายได้ที่จะย้อนกลับไปโรงพยาบาลรามาฯ เพื่อนำไปพัฒนาระบบการแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วยต่อไป

1

พรรณสิรี ฉายภาพโปรเจกศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา ที่ยังไม่เป็น “ชื่ออย่างทางการ” แต่ที่ทางการคือเป็นการลงทุนของมูลนิธิรามาธิบดีฯ โดยตรง ซึ่งจะสร้างศูนย์การแพทย์ระดับพรีเมียมที่ดูแลผู้ป่วยนอกแบบครบวงจร ซึ่งมูลนิธิรามาธิบดีฯ ใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลเดชา ย่านพญาไท กรุงเทพมหานคร โดยเป็นการซื้อที่ดินเดิมของโรงพยาบาลเดชา และสร้างอาคารขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับภารกิจดังกล่าว โดยจะเชื่อมต่อกับ BTS พญาไท ด้วย

ศูนย์การแพทย์แห่งนี้จะมีอาคารสูง 25 ชั้น 1 อาคาร และอาคารสูงประมาณ 8 ชั้นอีก 1 อาคาร พร้อมกับมีชั้นจอดรถใต้ดิน ซึ่งจะให้บริการในระดับพรีเมียมกับผู้ป่วยนอก ที่จะมีค่าบริการที่สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ แต่ก็จะไม่สูงเท่ากับโรงพยาบาลเอกชน แต่สิ่งสำคัญที่ผู้รับบริการจะได้รับ คือการได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ของโรงพยาบาลรามาฯ ที่เชี่ยวชาญ

อีกทั้ง ยังมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และได้มาตรฐานสูงให้บริการ และคาดว่าจะรองรับผู้ป่วยนอกได้ประมาณ 1,000 คนต่อวัน และถูกวางเป้าหมายให้เป็นศูนย์การแพทย์ด้านการตรวจสุขภาพที่มีมารตรฐานสูงของประเทศ  

พรรณสิรี ให้ภาพว่า การลงทุนสร้างศูนย์การแพทย์ดังกล่าว จะไม่เป็นการเปิดระดมทุนกับสาธารณะ เพราะเป็นโครงการที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาฯ ต้องการหารายได้ เพื่อสนับสนุนภารกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาฯ

2

“มากไปกว่านั้น รายได้จากศูนย์การแพทย์ จะเป็นรายได้ที่นำกลับไปดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาฯ เพื่อเป็นที่พึ่งอย่างยั่งยืน และเป็นการช่วยให้การบริหารของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาฯ มีเสถียรภาพและเกิดความคล่องตัว รวมถึงเป็นรายได้ที่ลงทุนด้านต่างๆ เพื่อยกระดับทางการแพทย์ของคณะ ทั้งด้านการวิจัย และเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการแพทย์” ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ ย้ำ

พรรณสิรี เสริมด้วยว่า ศูนย์การแพทย์แห่งนี้ใช้งบประมาณลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนของมูลนิธิรามาธิบดีฯ และบางส่วนจะมีผู้ที่รู้จักและคุ้นเคยกับมูลนิธิสนับสนุนเพิ่มเติมในฐานะเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2568

โปรเจกนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพของประเทศ แต่กระนั้น ในบทบาทอื่นมูลนิธิก็ยังคงเดินหน้าและสานต่อไม่ให้ขาดช่วง พร้อมกับยกระดับการสนับสนุนในด้านต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น

ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ บอกถึงภารกิจสำคัญของมูลนิธิ ที่ต้องขอแรงภาคส่วนสาธารณะร่วมระดมทุนมีประมาณ 7 โครงการ แต่จะมีโครงการหลักที่สำคัญ คือ โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาฯ และย่านนวัตกรรมโยธีแห่งใหม่ ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะแบ่งเบาภาระงานของอาคารโรงพยาบาลรามาฯ เดิม เพื่อเพิ่มพื้นที่ แก้ปัญหาความแออัด และเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น สามารถรองรับเครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีของการรักษาโรคซับซ้อนและก้าวหน้าขึ้นในอนาคต

3

"โครงการนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ และคณะแพทยศาสตร์ ต้องการระดมทุน เพราะนอกจากการลงทุนก่อสร้างอาคารแล้ว ยังต้องการการสนับสนุนเงินทุนเพื่อจัดซื้อเครื่งมือด้านการแพทย์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการแพทย์ต่างๆ ที่จำเป็นและทันสมัยพร้อมกับได้มาตรฐานสูงอีกประมาณ 9,000 ล้านบาท" พรรณสิรี กล่าว

ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ บอกตอนท้ายด้วยว่า มูลนิธิรามาธิบดีฯ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทย มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงมีการระดมทุนเข้าโครงการทุนการศึกษารามาธิบดี เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการศึกษาในการสร้างบุคลากรการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพเข้าสู่ระบบสาธารณสุขไทยในอนาคต

"รวมไปถึงมุ่งเน้นหนุนเสริมการทำงานขององค์กรให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายขอบเขตความร่วมมือกับโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนให้พัฒนาศักยภาพ และประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น เพื่อจะเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสุขภาพของชุมชน" ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ ระบุ 

4