ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาชน-หน่วยบริการ-ท้องถิ่น ร่วมระดมความเห็นแนวทางพัฒนา Smart Contact Center 1330 แนะปรับปรุงลดระยะเวลารอคอยสาย สร้างระบบเครือข่ายการทำงาน ให้ภาคีในพื้นที่ร่วมตอบคำถาม-แก้ไขปัญหาแก่ประชาชน 


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดงานเสวนาและรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนา Contact Center 1330 เพื่อบริการประชาชนและคุ้มครองสิทธิหลักประกันสุขภาพ” ณ โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ แจ้งวัฒนะ กทม. เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ ซึ่งมีตัวแทนผู้ใช้บริการสายด่วน 1330 ร่วมแสดงความเห็นต่อทิศทางพัฒนาสายด่วน 1330 ในอนาคต โดยมี น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา

ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และประธานคณะทำงานพัฒนาการรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สายด่วน สปสช. 1330” เป็นกลไกสำคัญของการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป็นช่องทางสื่อสารของประชาชนกับ สปสช. นอกจากการสอบถามข้อมูลใช้สิทธิและการเข้ารับบริการแล้ว ยังคุ้มครองสิทธิ รับเรื่องร้องเรียนและการร้องทุกข์ให้กับประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เริ่มเมื่อปี 2563 ทำให้ สายด่วน สปสช. 1330 ได้เข้ามาเป็นกลไกประสานการรักษาพยาบาล และร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมขยายศักยภาพทางระบบออนไลน์ Contact Center 1330 และในวันนี้จะเป็นอีกก้าวหนึ่งในการขับเคลื่อนสู่ Smart Contact Center 1330 ซึ่งในวันนี้ สปสช. จะทำการรวบรวมข้อมูล ข้อเสนอและความเห็นต่าง เพื่อสู่การพัฒนาต่อไป

นายนาวิน ปะจักโก ประธานเครือข่ายฮีโมฟีเลียภาคอีสาน ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.บึงกาฬ กล่าวว่า ตนทำงานอยู่บริเวณรอบต่อ จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ และใช้บริการ 1330 ตั้งแต่ยังเป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในพื้นที่จะมีปัญหาตั้งแต่ปัญหาสถานะทางทะเบียนและต้องตรวจ DNA แรงงานที่มาทำงานต่างจังหวัด หรือคนที่หนีทหารแล้วถูกจำหน่ายด้วย ทร.97  ซึ่งคนเหล่านี้ยังไม่เกิดสิทธิในระบบบัตรทอง แต่ก็ได้สายด่วน 1330 ให้คำแนะนำช่องทางใด การเปลี่ยนสิทธิ ย้ายสิทธิ ซึ่งก็ได้คำตอบที่ชัดเจนตรงประเด็น โดยรวมแล้วถือว่าดี เป็นตัวเชื่อมระหว่างชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ว่าจะสามารถที่จะไปดำเนินการต่อที่ไหนได้บ้าง อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่อยากให้ปรับปรุง คือปัจจุบัน 1330 มีหลากหลายบริการมาก โทรเข้าแต่ละครั้งมีเบอร์ให้กด 1 กด 2 ฯลฯ มากมาย รู้สึกรอนานจนลืมว่าจะถามเรื่องอะไร หรือบางครั้งก็เยอะจนจำไม่ได้ ดังนั้นอยากให้ปรับเวลาการรอสายให้สั้นลง

นางกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สตูล กล่าวว่า ในฐานะที่ทำงานรับเรื่องร้องเรียนในพื้นที่จึงมีโอกาสได้ใช้บริการ 1330 เยอะมาก เรียกได้ว่านึกอะไรไม่ออกก็โทรหา 1330 ซึ่งขอชมเจ้าหน้าที่ที่สามารถให้ข้อมูลได้ตั้งแต่เรื่องง่ายๆไปจนถึงเรื่องยากๆ และเวลาทำงานหน้างานที่ต้องการคำตอบทันทีก็สามารถค้นหาข้อมูลและตอบได้ภายในตอนนั้นเลย

ในส่วนของข้อเสนอพัฒนา นางกัลยทรรศน์ กล่าวว่า พื้นที่ภาคใต้มีประชากรมุสลิมที่ใช้ภาษายาวี บางคนพูดภาษาไทยไม่ได้ เวลาสอบถามข้อมูลก็มีคนช่วยแปล อาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลได้ จุดนี้ก็อาจจะนำเป็นประเด็นในการพัฒนา 1330 ต่อไป เช่นเดียวกับการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ห่างไกล เช่น บนเกาะ ประชาชนเหล่านี้ใช้เวลาหาเลี้ยงชีพ และยังไม่เข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้ อยากให้มีประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้น และข้อเสนออีกประการคือ กรณีโทรสายด่วน 1330 แล้วสายไม่ว่าง อยากให้มีระบบเชื่อมโยงสายไปที่ สปสช. เขต ได้ด้วย

1

ขณะที่ นายภัทรกร  ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ หัวหน้างานสายด่วนสภาผู้บริโภค 1502 กล่าวว่า สายด่วน 1330 กลายเป็น Brand Image ของ สปสช. และสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เรียนรู้จาก 1330 มาเยอะมาก ส่วนข้อเสนอในการพัฒนานั้น ในกรณีที่มีปัญหาติดขัดในการสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่นถิ่น สามารถให้เครือข่ายของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีในอยู่ในทุกภูมิภาคต่อสายเข้าไปคุยกัน 3 สายได้ และเสนอว่า 1330 น่าจะมีโครงการเข้าไปให้ความรู้แก่องค์กรเครือข่ายที่เป็นสมาชิกของสภาฯ ด้วย ขณะเดียวกันด้วยสภาฯ ก็มีฐานการทำงานด้านสุขภาพ หรือเป็นศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองด้วย ดังนั้น 1330 สามารถจัดอบรมให้ความรู้แก่ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองตามพื้นที่ต่างๆ จะเป็นการเสริมความรู้และทักษะต่างๆ สร้างความแข็งแกร่งของทั้ง 1330 และของสภาฯ ไปด้วยกัน

น.ส.กนกวรรณ กาหาวงค์ กลุ่มงานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลตากสิน กล่าวว่า โรงพยาบาลตากสินใช้บริการ 1330 อยู่เป็นประจำ ส่วนมากเป็นการประสานงานเรื่องโปรแกรม e-Claim และปัญหาการเบิกจ่าย คำตอบที่ได้ก็จะได้บางส่วนแต่ไม่ทั้งหมด ดังนั้น อยากให้พัฒนาโปรแกรมให้โรงพยาบาลตรวจสอบได้ว่ารายการใดเบิกได้/ไม่ได้ เพดานจ่ายเท่าใด เหตุใดจึงติดรหัส C และจะแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง ส่วนข้อเสนออีกประการคือการหาคำตอบของ Provider Center ค่อนข้างใช้เวลานาน บางที่ต้องรอเป็นชั่วโมง อยากให้พัฒนาโปรแกรมสำหรับสืบค้นข้อมูลที่ดีขึ้น เพื่อให้ได้คำตอบที่รวดเร็ว นอกจากนี้ด้วยโรงพยาบาลต่างๆ มักทำงานต่อเนื่องเลย 16.00 น. ในกรณีที่มีปัญหาหรือข้อซักถามต้องโทร 1330 เพื่อฝากเรื่องไว้ หรือถ้าติดต่อทาง e-Mail ก็ต้องรอเวลาหลายวันกว่าจะได้คำตอบจึงอยากให้ Provider Center ของ 1330 ขยายเวลาตอบคำถามในช่วงหลัง 16.00 น.

ด้าน น.ส.ใจทิพย์ สิงห์คาร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร ในฐานะผู้แทนกลุ่มงานประกันสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า สสจ. ก็เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนเช่นกัน รวมทั้งการทำเรื่องชดเชยตามมาตรา 41 ซึ่งปัญหาที่เจอคือการตอบคำถามต่างๆ ของ 1330 ล่าช้า เพราะบางเรื่องเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เวลาหาข้อมูลเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนถูกต้องครบถ้วน ความล่าช้าในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่มีกรณีที่ไม่ตอบเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข เช่น มีเรื่องร้องเรียนใดที่ยังแก้ไขไม่สำเร็จ หรือส่งต่อไปหน่วยงานใดบ้าง ซึ่ง 1330 ไม่ได้แจ้งข้อมูลเหล่านี้ให้ทราบ

นอกจากนี้ด้วย 1330 เป็นที่รู้จักของประชาชน แต่เป็นการรับเรื่องที่ส่วนกลางและมีเรื่องที่ต้องรับมือเยอะมาก ในการพัฒนาขั้นต่อไปอาจเป็นเรื่องการขยายเครือข่าย ทั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพทั้งในและนอกหน่วยบริการ สสจ. สำนักงานเขตสุขภาพ ควรขยายเครือข่ายลงในพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่ก็จะมีข้อมูลและการจัดการปัญหาได้รวดเร็วกว่าในส่วนกลาง โดยสามารถกด 1330 แล้วเชื่อมโยงไปที่เครือข่ายในจังหวัดนั้นๆได้เลย จะทำให้ขั้นตอนการทำงานลดลง มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ นายประเสริฐ ลิ้นจี่ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เจอคือเวลาโทรถามข้อมูลจาก 1330 แล้วไปที่หน่วยบริการหรือที่เขต ปรากฎว่าข้อมูลไม่ตรงกัน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน อย่างไรก็ดี ตนยังมั่นใจในเรื่องคุณภาพและความมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการของ 1330 และอยากเห็นการพัฒนาของ 1330 และ สปสช. ที่ดียิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ