ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วารสารวิชาการ ‘Nature’ ตีพิมพ์ ข้อมูลพันธุกรรมผู้ป่วยมะเร็ง 4 ชนิดที่มีความสัมพันธ์กันกว่า 4,500 คน นับเป็นการศึกษาข้อมูลขนาดใหญ่ ภายใต้โครงการ ‘จีโนมิกส์ประเทศไทย’ พบยีนกลายพันธุ์บ่อย ผู้ป่วยเร็งเต้านม-รังไข่  35% มีสาเหตุจากยีนอื่น นอกเหนือ ‘BRACA1/2’ 


ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผย “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า การถอดรหัสพันธุกรรมขนาดใหญ่ของคนไทย ภายใต้โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย ได้มีการตีพิมพ์ข้อมูลพันธุกรรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ของประเทศไทยที่เกิดจากพันธุกรรม (HBOC) ผ่านเว็บไซต์วารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ Nature จำนวนกว่า 4,500 ราย โดยใช้ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจีโนมิกส์ประมาณ พ.ศ. 2563 ภายใต้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดกว่า 4 หมื่นราย จากเป้าหมาย 5 หมื่นราย ถือเป็นการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมผู้ป่วยมะเร็งขนาดใหญ่ จากเดิมที่เคยศึกษา และตีพิมพ์ในหลักสิบ หรือร้อยราย

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งใน 4 กลุ่มที่มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่ามีสัดส่วนของยีนมะเร็งกลายพันธุ์ และส่งต่อในครอบครัวได้บ่อย โดยพบว่ามียีนที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งรังไข่ 20% หรือพบได้ 1 ใน 5 จากกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาทั้งหมด ขณะที่มะเร็งเต้านมจะพบได้ 1 ราย จากการตรวจ 7 ราย

“การกลายพันธ์จากยีน BRAC 1/2 เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ที่พบได้บ่อย 65% แต่จากการศึกษาครั้งนี้ทำให้รู้ว่า ยังมียีนกลายพันธุ์ชนิดอื่นที่เป็นสาเหตุอีก 35% ที่สำคัญหนึ่งในนั้นเป็นยีน ATM ซึ่งเป็นยีนที่พบบ่อย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยพบในผู้ป่วยตะวันตก เมื่อดูไกด์ไลน์ของต่างประเทศจะไม่มียีนชนิดนี้แนะนำให้ตรวจ แต่เรากลับเจอบ่อย ซึ่งตรงนี้เป็นข้อมูลที่เราไม่เคยทราบมาก่อน” ศ.นพ.มานพ ระบุ

ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า สำหรับยีน ATM พบได้บ่อยรองลงมาจากยีน BRCA 1 และ 2 หากผู้ที่มียีนนี้แต่งงานกับคนที่มียีนเดียวกัน และมีการกลายพันธุ์จะส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีโอกาสเกิดโรคทางสมองที่ทำให้มีปัญหาเรื่องการเดินทรงตัว รวมถึงเมื่อตรวจพบยีนชนิดนี้ก็จะส่งผลต่อการรักษาด้วย เพราะหากตรวจพบว่าผู้ป่วยมียีน ATM แพทย์อาจจะใช้วิธีการอื่นในการรักษา เช่น แนะนำให้ผ่าตัดเต้านม แทนการฉายแสง เพราะอาจจะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งใหม่ได้ 

มากไปกว่านั้น จากการศึกษาข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่นี้ ทำให้พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยที่มียีนกลายพันธุ์มากกว่า 1 ชนิด ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 500 ราย ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้เป็นสิ่งที่ไม่ทราบมาก่อน 

“การศึกษาผ่านโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย เราตรวจทีเดียว 30-40 ยีนส์ หากตรวจพบว่าผู้ป่วยมียีนกลายพันธุ์มากกว่า 1 ยีน การตรวจสมาชิกในครอบครัวก็จำเป็นจะต้องตรวจหายีนอื่นๆ ด้วย เพราะแค่ยีนใดยีนหนึ่งก็มีโอกาสเกิดโรคได้เหมือนกัน” ศ.นพ.มานพ กล่าว

ศ.นพ.มานพ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีสิทธิประโยชน์ ภายใต้บริการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค (PP) สำหรับการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งเต้านม BRCA 1/2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงทุกสิทธิการรักษาหากหากเข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สอดคล้องกับการศึกษาโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย เพราะเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็มีการตีพิมพ์เรื่องการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการตรวจด้วย

สำหรับการพิจารณาบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์นั้น หลักๆ จะพิจารณาความถี่ในการตรวจพบ รวมถึงความคุ้มค่าเมื่อเทียบระหว่างตรวจ และไม่ตรวจ ซึ่งการตรวจยีน BRCA ก็อาศัยข้อมูลในชุดนี้ในการคำนวน รวมถึงเมื่อมีการบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ก็อาจจะทำให้ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามีมากขึ้น เนื่องจากโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยนั้นเป็นเหมือนต้นแบบ หากมีการดำเนินการแพร่หลายขึ้นก็จะทำให้เห็นข้อมูลมากขึ้น ส่งผลต่อการพิจารณาขยายการตรวจให้ครอบคลุมยีนอื่นในระยะยาว 

“ยีน BRCA ยังคงเป็นยีนหลักที่ทำให้เกิดโรค แต่จากองค์ความรู้ที่ได้มากในการศึกษา พบว่าอาจจะยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะยังมียีนอื่นที่พบได้อีก ฉะนั้น เมื่อเทคโนโลยีสามารถตรวจครอบคลุมได้ ก็ควรจะครอบคลุม ซึ่งผมคิดว่าถ้ามีการเก็บข้อมูลที่ใหญ่ขึ้น คนไข้ที่เคยตรวจยีน BRCA ไปแล้วและมีข้อบ่งชี้ว่าต้องกลับมาตรวจซ้ำ ก็อาจจะทำให้เห็นข้อมูลอื่นๆ มากขึ้น” ศ.นพ.มานพ กล่าว