ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นพ.วิชัย” บรรยายพิเศษ 40 ปีการสาธารณสุขมูลฐาน มองอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพต้องเท่าเทียม แนะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงสร้างระบบสุขภาพดีด้วยต้นทุนต่ำ (Good Health at Low Cost) เพิ่มบทบาทประชาชน-ท้องถิ่นมากขึ้น

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข บรรยายพิเศษหัวข้อ “40 ปี การสาธารณสุขมูลฐาน” ภายในงาน “มหกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น 12 ปี กปท. เดินหน้า พลังท้องถิ่นไทย รอบรู้ สร้างสุขภาพ อย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 21 ส.ค.62 ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า หลังจากการประชุมเรื่องการสาธารณสุขมูลฐานครั้งแรกที่กรุงอัลมาอะตา รัฐคาซักสถาน สหภาพโซเวียตรัสเซีย ในปี 2521 มา 40 ปี ได้มีการประชุมกันอีกครั้งและเกิดปฏิญญาแอสทานา โดยมีหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

สำหรับ SDGs ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพโดยตรงคือเป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยหนึ่งในนั้นคือการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยบรรลุเป้าหมายนั้นแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ยังจะจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพราะในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยนั้นยังมีประเด็นที่ต้องปรับปรุงอีกหลายเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพไทยนั้นถือว่าทำได้ดีในงบประมาณที่ต่ำ เพราะมีการใช้เงินในระบบบัตรทอง 4.6% ของ GDP แต่สามารถทำให้ประชาชนพึงพอใจได้ 90% ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องใช้เงินถึง 10% ของ GDP แต่สามารถสร้างความพึงพอใจได้เพียง 65% หรือแม้แต่สหรัฐอเมริการที่ใช้เงินถึง 17.9% ของ GDP เพื่อให้สามารถครอบคลุมประชากรได้ 80-90%

นพ.วิชัย กล่าวว่า ในอนาคตจะต้องรักษาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไว้และพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายมากขึ้น โดยสร้างความเท่าเทียมอย่างแท้จริง เพราะขณะนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำ เช่น ข้าราชการที่ยังได้สิทธิประโยชน์อะไรมากกว่า ขณะเดียวกันยังต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพยั่งยืนตามแนวคิด “สุขภาพดีด้วยต้นทุนต่ำ” (Good Health at Low Cost) มีระบบคัดกรองและประเมินให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มี

นอกจากนี้ ยังจะต้องให้ประชาชนเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพอย่างแท้จริง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องมีบทบาทมากขึ้นตามมาตรา 47 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เช่นเดียวกับที่รัฐต้องกระจายอำนาจให้ อปท. มากขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และตามประเทศเจริญแล้วทั่วโลก รวมถึงต้องทำให้หลักการ “สร้าง นำ ซ่อม” ปรากฏเป็นจริง

ขณะเดียวกัน อนาคตของระบบสุขภาพไทยยังจำเป็นที่จะต้องทำให้เป้าหมายนโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นความจริง ทั้งเป้าหมายที่ 2 กระจายความเจริญ เพิ่มบริการสาธารณสุขส่วนภูมิภาคโดยเฉพาะในชนบท และเป้าหมายที่ 3 ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นพ.วิชัย กล่าวว่า นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำเนิดขึ้นในปี 2491 มีการบัญญัติไว้ในธรรมนูญโดยนิยามว่าสุขภาพหมายถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยถือว่าการบรรลุมาตรฐานสูงสุดของสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน อย่างไม่มีข้อจำกัดเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่วนนี้กลายเป็นรากฐานที่ทำให้ทั่วโลกผลักดันให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า