ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชาวชุมชนเกาะล้าน ผนึก สช. ระดมแนวทางขยายผลการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพฯ” นำกติกา-ข้อตกลงร่วมที่ประกาศใช้ ไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในพื้นที่ วางประเด็นพัฒนาความปลอดภัยทางบก-ทางน้ำ จัดการสุนัขจรจัด พัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจชุมชน-สิ่งแวดล้อม จัดการขยะในชุมชน ตลอดจนการป้องกันโรค NCDs ลดหวาน-มัน-เค็ม


เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย ชาวชุมชนเกาะล้าน ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนการสื่อสารขยายผลการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน โดยมีตัวแทนชุมชนเกาะล้าน ผู้ประกอบการ โรงเรียน โรงพยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าร่วม ณ โรงเรียนเมืองพัทยา 10 (บ้านเกาะล้าน) อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

1

สำหรับ “ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน” ได้ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 ภายในเวที “สมัชชาสุขภาพเกาะล้าน ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2566” โดยมีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างชาวชุมชนเกาะล้าน เมืองพัทยา สช. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดทิศทางการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะและความเป็นอยู่ของชาวชุมชนคนเกาะล้าน จากผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การละเมิดสิทธิชุมชน การใช้พื้นที่สาธารณะอย่างไม่เป็นระเบียบ การปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ฯลฯ

ในส่วนเนื้อหาของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ได้มีการกำหนดข้อตกลงหรือแนวทางต่างๆ อาทิ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การป้องกันยาเสพติด การพัฒนาบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพ การส่งเสริมกลุ่มอาชีพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมศักยภาพเยาวชน การควบคุมขยะ รักษาทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการใช้น้ำ เป็นต้น

1

นายสรศักดิ์ ทองบงเพชร เลขานุการชุมชนเกาะล้าน เปิดเผยว่า พื้นที่เกาะล้าน จากเคยเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ประกอบอาชีพประมงในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีผู้อยู่อาศัยกว่าหลายพันหลังคาเรือน โดยเมื่อชุมชนเกิดการขยายตัวก็ได้นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ที่ตามมามากมาย ทั้งจากบุคคลภายนอกและคนภายในชุมชน อย่างไรก็ตามพบว่าในหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น หากจะนำเอากฎหมายเข้ามาใช้โดยตรงอาจสร้างความยากลำบาก แต่หากปล่อยปละละเลยก็จะทำให้เกิดผลกระทบมากขึ้น

นายสรศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อชาวชุมชนร่วมกันมองเป้าหมายอยากให้เกาะล้านเป็นทั้งสถานที่ที่ผู้คนอยากมาท่องเที่ยว และยังอยากมาอยู่อาศัยด้วย จึงได้ร่วมกันใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะภายใต้เครื่องมือต่างๆ อย่างสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ ฯลฯ เพื่อรวบรวมข้อมูล สถานการณ์ ประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุบัติเหตุ ทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการขยะ กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ฯลฯ ก่อนกำหนดเป็นข้อตกลงร่วมกันในการอยู่อาศัย ประกอบอาชีพ ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ

4

“จากการสอบถามคนในชุมชน เราพบว่ามากกว่า 90% สนับสนุนให้เกาะล้านมีธรรมนูญฯ หรือข้อตกลงชุมชนร่วมกัน จึงนำมาสู่การเดินหน้ากระบวนการจัดทำและรับฟังความคิดเห็นในหลากหลายเวที โดยมี สช. เข้ามาร่วมเป็นพี่เลี้ยง จนกระทั่งนำมาสู่การประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้านร่วมกันเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 บนเป้าหมาย เกาะล้านน่าอยู่ น้ำทะเลใส หาดทรายขาว ปะการังสวย ชุมชนสามัคคี รักษาประเพณี ท่องเที่ยวยั่งยืน” นายสรศักดิ์ ระบุ

ขณะที่กิจกรรมหลักของเวทีการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้ระดมความเห็นเพื่อขยายผลการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน ภายใต้กระบวนการเวิร์คช็อปปลุกพลังประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา สมอง ใจ มือ และขา ซึ่งเริ่มวิเคราะห์ตั้งแต่การมองเห็น คิด รู้สึกอย่างไร จนนำไปสู่การลงมือทำและจังหวะก้าวเดินต่อไป โดยได้มีการวางประเด็นขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ในเบื้องต้น ได้แก่ การขับเคลื่อนการรักษาความปลอดภัย (กู้ชีพ) ทางบกและทางน้ำ, การจัดการสุนัขจรจัดในชุมชน, การจัดโปรแกรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ ใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม, การจัดการขยะในชุมชน ด้วยชุมชน เพื่อชุมชน, การจัดการและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ลดหวาน มัน เค็ม ในชุมชน

4

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เกาะล้าน นับเป็นส่วนหนึ่งของเมืองพัทยา ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของการท่องเที่ยวในระดับโลก อย่างไรก็ตามการเติบโตในเชิงของเศรษฐกิจ หรือการท่องเที่ยว ก็มีส่วนกระทบไปถึงมิติอื่นๆ ทั้งในเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสุขภาพ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในวันนี้พื้นที่เกาะล้านมีจุดแข็งที่ดีจากความร่วมมือของคนในชุมชน ที่ใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะในการร่วมกันมองภาพฝัน และคิดหาแนวทางเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาที่สำคัญร่วมกัน

“ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน มีเนื้อหาที่ดีและเขียนได้ครบทั้งมิติในแง่ของสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการพัฒนาผู้นำที่จะขึ้นมาร่วมแก้ไขปัญหา สร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการพูดคุยในวันนี้จะเป็นการช่วยกันวางแนวทางการขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะที่ดี ต่อจากเนื้อหาของธรรมนูญฯ ที่ได้มีการคิดร่วมกันไว้ให้เกิดความสำเร็จ ทำให้เกาะล้านเป็นที่ที่น่าอยู่ ทั้งคนที่มาอยู่อาศัยและคนที่มาท่องเที่ยว เป็นแบบอย่างที่ดีที่สามารถนำไปเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป” นพ.สุเทพ กล่าว

4