ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัยโรคพิษสุนัขบ้าจากสหรัฐอเมริกาแนะนำ วิธีการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ วอนสาธารณะศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดในอนาคต 

เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา มีรายงานค้นพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในลูกแมวตัวหนึ่งที่เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่พบในแรคคูนแถบเทือกเขาแอปพาเลเชียนทางตะวันออกของเท่านั้น 

การค้นพบเชื้อในลูกแมวที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดโรคเป็นระยะทางหลายร้อยไมล์ สร้างความกังวลต่อการเกิดโรคระบาดในอนาคต ทำให้เจ้าหน้าที่เปิดปฏิบัติการปูพรมให้วัคซีนต้านโรคพิษสุนัขบ้ากับแรคคูนในพื้นที่

นักวิจัยโรคพิษสุนัขบ้า รอดนี่ โรด์ (Rodney Rohde) จากมหาวิทยาลัยรัฐเท็กซัส (Texas State University) และ ชาร์ลส รูพเพรช (Charles Rupprecht) จากมหาวิทยาลัยออเบิร์น (Auburn University) ติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด พร้อมเขียนบทความเผยแพร่ในสื่อ The Conversation เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งสองระบุว่า แม้การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จะลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรคพิษสุนัขบ้าได้สำเร็จ แต่สาธารณะควรเข้าใจรูปแบบการติดต่อของเชื้อ การทำงานของวัคซีนต้านพิษสุนัขบ้า และวิธีการป้องกันตัวเองจากโรค เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคระบาดที่ไม่สามารถควบคุมได้ในอนาคต

โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสไลซ่า (Lyssavirus) ที่มีในโลกมาตั้งแต่หลายพันปีก่อน การฟักตัวของเชื้อใช้เวลาตั้งแต่ไม่กี่วันถึงหลายเดือน แรกเริ่มมักมีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป แล้วพัฒนาสู่อาการรุนแรง เช่น การติดเชื้อในสมอง ระบบประสาทโดนทำลาย นำไปสู่อาการโรคอัมพฤกษ์ ความคิดสับสัน มีพฤติกรรมก้าวร้าว และเสียชีวิตในที่สุด

เชื้อไวรัสนี้แพร่กระจายได้เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีในสัตว์บางชนิดเป็นพาหะ เช่น ค้างคาว จิ้งจอก หมาป่า แรคคูน และสกังค์ มนุษย์สามารถรับเชื้อผ่านบาดแผลจากการโดนกัด อย่างไรห็ตาม พบกรณีการติดเชื้อผ่านแผลเปิด ตา จมูก และปาก แต่ก็เกิดขึ้นน้อย 

ในส่วนของการระบาด สามารถตรวจวัดได้ยากเพราะขาดการสอบสวนและติดตามโรค โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรยากจนที่ขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข และไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนต้่านพิษสุนัขบ้า 

ในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าหลายหมื่นราย ในส่วนของประชากรสัตว์ มีรายงานว่าสหรัฐอเมริกาพบเชื้อในสัตว์ลดลง 18.2% ระหว่างปี 2563 และ 2564 

การระบาดของเชื้อโควิด-19 ก่อนหน้านี้ทำให้เกิดแนวโน้มที่เชื้อจะแพร่กระจายในประชากรสัตว์ป่า เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้วัคซีนในระหว่างที่เกิดวิกฤตโรคระบาด

นอกจากนี้ มีปัจจัยด้านนิเวศวิทยา สังคมและเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อในมนุษย์ เช่นในกรณีของจีน พบการกระจายของเชื้อสัมพันธ์กับความห่างไกลจากเมืองและศูนย์กลางการขนส่ง 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมการแพร่กระจายของเชื้อ เพราะสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคเปลี่ยนที่อยู่อาศัยตามอุณหภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ยิ่งโลกร้อนขึ้น สัตว์ที่เป็นพาหะซึ่งมักอาศัยอยู่ในเขตร้อนก็ยิ่งสามารถกระจายตัวได้มากขึ้น 

การป้องกันโรคสามารถทำด้วยการให้วัคซีนกับสัตว์พาหะ ซึ่งหลายประเทศเริ่มให้วัคซีนทางปากกับสัตว์ป่าตั้งแต่ทศวรรษที่ 2510 เป็นต้นมา และสามารถควบคุมการกระจายของเชื้อได้ดีในกลุ่มหมาป่า จิ้งจอก และแรคคูน ที่อาศัยในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ การให้วัคซีนทางปากกับสุนัขก็สามารถควบคุมโรคในอินเดียและไทยได้ดี

อีกทางคือการให้วัคซีนต้านเชื้อพิษสุนัขบ้าในมนุษย์ก่อนหรือหลังสัมผัสเชื้อ ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น นักชีววิทยาสัตว์ป่า สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ฝึกสัตว์ และผู้เดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าสูง การรับวัคซีนเพียงสองโดสก็สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

วัคซีนสามารถให้หลังสัมผัสเชื้อเช่นกัน โดยควรรับวัคซีนโดสแรกภายในวันที่ถูกสัตว์กัด และอีกสามโดสภายใน 14 วันหลังจากนั้น จึงจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อย่างไรก็ดี มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เข้ารับวัคซีนหลังถูกสัตว์กัด เพราะคิดว่ารอยกัดมีขนาดเล็ก ไม่น่าติดเชื้อ หรือบางคนอาจจำไม่ได้ว่าตนเองสัมผัสเชื้อเมื่อไร เพราะโรคพิษสุนัขบ้าอาจมีระยะฟักเชื้อหลายเดือน 

ในบางกรณี แพทย์ตัดสินใจให้วัคซีนทันที หากพบว่าผู้เข้ารับวัคซีนมีปัจจัยเสี่ยง เช่นในสหรัฐอเมริกา มีการให้วัคซีนกับผู้สงสัยว่าสัมผัสกับค้างคาว แม้ไม่ได้ถูกค้างคาวกัด 

โรด์และรูพเพรซสรุปวิธีการป้องกันโรคพิษสุขัขบ้า ดังนี้ 

  • ให้วัคซีนต้านพิษโรคสุนัขบ้ากับสัตว์เลี้ยงทุกปี
  • หลีกเลี่ยงสัตว์ป่าที่มีพฤติกรรมแปลก เช่น ก้าวร้าวผิดปกติ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ป่วย บาดเจ็บ หรือซากสัตว์ที่เสียชีวิต 
  • หลีกเลี่ยงการแหย่สัตว์ รบกวนการนอน หรือนำลูกสัตว์ออกจากที่อยู่อาศัยของมัน
  • หากถูกสัตว์กัด ควรเข้าพบเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคหรือแพทย์ เพื่อพิจารณาความเสี่ยงและการรับวัคซีนต่อไป

อ่านข่าวต้นฉบับ
https://theconversation.com/rabies-is-an-ancient-unpredictable-and-potentially-fatal-disease-two-rabies-researchers-explain-how-to-protect-yourself-219199