ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จักษุแพทย์แนะนำเครื่องมือพิเศษเครื่องวัดลานสายตา ที่ใช้ตรวจและวิเคราะห์ขอบเขตการมองเห็นของผู้ป่วยมีประโยชน์ในการคัดกรอง วิเคราะห์ ประเมินโรคต้อหิน โรคของเส้นประสาทตา และจอตา


นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การใช้เครื่องมือพิเศษต่างๆ ทางจักษุวิทยามีประโยชน์อย่างมากต่อวงการจักษุวิทยาในการคัดกรอง วิเคราะห์ ประเมินโรค ติดตามผล และวางแผนการรักษาโรคทางจักษุวิยา หนึ่งในนั้นคือ ‘เครื่องวัดลานสายตา’ เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจและวิเคราะห์ขอบเขตการมองเห็นของผู้ป่วย มีประโยชน์ในการคัดกรองและวินิจฉัยโรคต้อหิน โรคของเส้นประสาทตา และจอตา นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งจักต้องมีความรู้และประสบการณ์ ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโรคทางจักษุและโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพของเครื่องมือทางจักษุทั้งหมดได้อย่างดี

นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า เครื่องวัดลานสายตา เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจและวิเคราะห์ขอบเขตการมองเห็นของผู้ป่วย ซึ่งหลักสำคัญและอาจเป็นสิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติในการตรวจวัดลานสายตา คือการอธิบายให้ผู้ป่วยรับทราบถึงวิธีการขั้นตอนการทำ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เพิ่งทำเป็นครั้งแรกผู้ตรวจต้องทำความเข้าใจกับโปรแกรมการตรวจอย่างแม่นยำถูกต้องและตรงตามคำสั่งของจักษุแพทย์  

นายนิพันธ์  ยอดมณี นักวิชาการโสตทัศนศึกษา ปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่เครื่องมือพิเศษ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจความสามารถในการมองเห็นแบ่งได้เป็น 1. การมอง (visual acuity) คือการเห็นรายละเอียด เป็นหน้าที่หลักของ macula 2. การเห็น (visual field) คือ ขอบเขตความกว้างของการเห็น ซึ่งเป็นหน้าที่ของจอตาทุกส่วน 

4

ลานสายตาปกติเมื่อมองตรงจะสามารถเห็นด้านข้างได้ 100 องศา ด้านจมูกได้ 60 องศา และด้านล่างได้ 75 องศา วิธีตรวจลานสายตาด้วยเครื่อง visual Field คือ 1. ผู้ตรวจต้องทำความเข้าใจกับโปรแกรมการตรวจอย่างแม่นยำถูกต้องและตรงตามคำสั่งของจักษุแพทย์ เช่น 10-2, 24-2, 30-2,red target เป็นต้น 2. การเลือกตาข้างที่ตรวจมีความสำคัญมากเพราะถ้าเลือกข้างที่ตรวจผิดผลการวิเคราะห์จะผิดไปด้วย โดยเฉพาะถ้าจะทำการวัดลานสายตาในตาเพียงข้างเดียว 3. การใส่ชื่อนามสกุลหมายเลขต่างๆ ของผู้ป่วยต้องตรงกันทุกครั้ง เพราะเครื่องไม่มีระบบความจำที่จะระบุตัวตนของผู้ป่วยได้ 4. แก้ค่าสายตาของผู้ป่วยก่อนทำเสมอ โดยใช้ผลการวัดสายตาด้วยเครื่องอัตโนมัติหรือใช้กำลัง แว่นสายตาที่ผู้ป่วยใส่มาประกอบ และคำนึงถึงอายุผู้ป่วย ซึ่งจะมีผลกับการแก้ค่าสายตาด้วย 

นอกจากนี้หลักสำคัญอีกประการและอาจจะเป็นสิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติในการตรวจวัดลานสายตา คือการอธิบายให้ผู้ป่วยรับทราบถึงวิธีการขั้นตอนการทำ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เพิ่งทำเป็นครั้งแรกโดยการอธิบายดังนี้ 1. ต้องอธิบายว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จุดประสงค์ของการตรวจครั้งนี้เพื่ออะไร 2. แจ้งผู้ป่วยว่าต้องปิดตาทำทีละข้าง และจะมีปุ่มกดให้ถือไว้ ระหว่างทำผุ้ป่วยต้องวางคางไว้บนที่วางคางและหน้าผากชิดแถบด้านบน 3. ให้ผู้ป่วยมองตรงที่จุดไฟสีแดงหรือสีส้มที่อยู่ตรงกลาง และห้ามกลอกตาไปมา   4. ให้กดปุ่มที่ถือทุกครั้งที่เห็นไฟกะพริบไม่ว่าจะกะพริบตรงกลางหรือรอบๆ ทั่วในอุโมงค์ โดยไฟที่กะพริบจะมีสีขาวเข้มและจาง(อาจมีสีอื่นได้ตามแต่ละโปรมแกรม) 5. เมื่อเสร็จข้างแรกควรพักสายตาบ้าง และเริ่มทำข้างต่อไปเมื่อผู้ป่วยพร้อมในระหว่างการตรวจ ผู้ตรวจต้องสังเกตผู้ป่วยขณะทำว่าทำถูกต้องหรือไม่หากทำผิดจะต้องเตือนผู้ป่วย หากผิดซ้ำต้องทำใหม่อีกครั้งและอธิบายซ้ำทุกครั้งเพื่อผลการตรวจจะได้ถูกต้องเชื่อถือได้ และไม่เสียเวลาผู้ป่วย แพทย์สามารถใช้แปลผลการตรวจได้ว่าปกติหรือไม่ 

อีกสาเหตุปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของการทำลานสายตา ได้แก่ 1.การจัดท่านั่งและศีรษะของผู้ป่วย 2. ความพร้อมของผู้ป่วย เช่น การเหนื่อยล้า เวียนศีรษะ พักผ่อนไม่เพียงพอ 3. ผู้ป่วยไม่เข้าใจหรือตั้งใจมากเกินไป โดยเฉพาะถ้าเป็นการทำครั้งแรกของผู้ป่วย 4. ผู้ป่วยจ้องจุดไฟตรงกลางผิดที่ 5. ผู้ป่วยมีหนังตาตก ตาแห้ง ตาแห้ง 6. ขนาดรูม่านตา ควรทำในขนาดรูม่านตาปกติ คือ 3 มม. 7. การแก้สายตาของผู้ป่วยก่อนทำ ระวังขอบเลนส์บังการมองเห็นของผู้ป่วย 8. ผนังลูกตาของผู้ป่วยโค้งไม่สม่ำเสมอ 9. หลอดไฟของเครื่องเสื่อม 10. ประสบการณ์และความใส่ใจของเจ้าหน้าที่ เช่น ตั้งโปรแกรมผิดตา เป็นต้น 

ในส่วนของการดูแลรักษาเครื่อง Visual Field คือ 1. ทำความสะอาดทุกครั้งก่อนการตรวจผู้ป่วยทุกคน 2. เมื่อใช้เสร็จต้องทำความสะอาดเช็ดฝุ่น ด้วยผ้าแห้ง 3. คลุมเครื่องมือด้วยผ้าเพื่อป้องกันฝุ่น และ4. หากมีความผิดปกติ แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป ในการใช้เครื่องมือพิเศษต่างๆ ทางจักษุวิทยานั้นมีประโยชน์อย่างมากต่อวงการจักษุวิทยาในการคัดกรอง วิเคราะห์ ประเมินโรค ติดตามผล และวางแผนการรักษาโรคทางจักษุวิทยาผู้ใช้เครื่องมือนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 

ดังนั้นเจ้าหน้าที่เครื่องมือพิเศษทางจักษุวิทยา จึงต้องตระหนักถึงสิ่งสำคัญ 3 ประการได้แก่ 1. ความรู้และประสบการณ์  2. ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโรคทางจักษุและโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 3. ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพ ข้อดีและข้อด้วยของเครื่องมือทางจักษุวิทยาทั้งหมด