ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดทำ “แนวทางการพัฒนาระบบบริการโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual Hospital) กรมการแพทย์​” ซึ่งกำลังจะเป็นระบบริการแห่งอนาคต โดยประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ผ่าน ‘โลกออนไลน์’

ปัจจุบัน กรมการแพทย์ ได้สนับสนุนให้โรงพยาบาลและสถาบันในสังกัดกรมการแพทย์ที่มีการตรวจแบบ ‘โรคทั่วไป’ หรือ ‘โรคเฉพาะทาง’ ทั้งที่เป็นผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ดำเนินการจัดระบบบริการโรงพยาบาลเสมือนจริง (virtual hospital) 

หัวใจสำคัญคือใช้การสื่อสารทางไกล (telemedicine) การบริการให้คำปรึกษา (tele consult) ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการส่งต่อการรักษาในสถานพยาบาลแต่ละระดับและการบริการผู้ป่วยในที่บ้าน (home ward หรือ hospital care at home) เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

สำหรับหน่วยบริการจำเป็นต้องวางแผนงานและเตรียมความพร้อมให้ครอบคลุมองค์ประกอบทั้ง 4 ด้าน คือ 1. Infrastructure การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน การจัดเก็บข้อมูล การเชื่อมต่อข้อมูลที่จำเป็น การบูรณาการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูล 2. System Redesign ปรับเปลี่ยนกระบวนการให้บริการของโรงพยาบาลให้สอดรับ กับการให้บริการต่างๆ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 3. People Readiness การปรับความพร้อมของบุคคลทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการที่ต้องมีความรู้ดิจิทัลมากขึ้น และ 4. Budget การปรับระบบการเรียกเก็บเงิน และการเบิกจ่ายเงินคืน 

นอกจากนี้ ความพร้อมของรูปแบบโรงพยาบาลเสมือนจริง ที่ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ ได้แก่ 1. แพลตฟอร์มเสมือนจริง (virtual platform) 2. การจัดเก็บข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการจัดโครงสร้างข้อมูลในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ในทิศทางเดียวกัน (online synchronized database) 3. การจัดเก็บข้อมูลการให้บริการ การประมวลผล และการคาดการณ์จากข้อมูล (big-data driven management & add-on services) 

การพัฒนานี้ สอดคล้องกับนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่กำหนดให้ สธ.เป็น “สาธารณสุขยุคใหม่ (MOPH Plus)” ยกระดับการดูแลสุขภาวะทุกมิติโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท พลัส ที่มุ่งเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคนทุกกลุ่มวัย มุ่งเน้นนโยบายดิจิทัลสุขภาพ (digital health) โดยการพัฒนา virtual hospital ซึ่งปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุบริการการแพทย์ทางไกล เป็นสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้วตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา

อนึ่ง ปัจจุบันแนวโน้มของโรงพยาบาลเสมือนจริงนั้นเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าและการพัฒนาระบบสาธารณสุข และบริการทางการแพทย์ของประเทศต่างๆ ในโลกที่ต่างเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดต้นทุน โดยยังคงมีผลลัพธ์ทางการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างหลากหลาย และมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของประเทศไทย สธ. ได้เร่งรัดพัฒนาในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างเท่าทัน และสิ่งที่เป็นความสำเร็จที่สำคัญของประเทศไทยประการหนึ่งก็คือ การกำหนดมาตรฐานตามกฎหมายเพื่อส่งเสริมการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์ ที่มีผลบังคับใช้แล้วมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 

นั่นคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาล โดยใช้ระบบบริการการแพทย์ทางไกล พ.ศ. 2564 และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงการกำหนดมาตรฐานตามกฎหมายของคลินิกออนไลน์ (online clinic) และมาตรฐานปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ (medical artificial intelligence) ในสถานพยาบาล 5 ซึ่งอยู่ในระหว่างการเตรียมการเพื่อออกเป็นกฎหมายลำดับรองและการบังคับใช้เพื่อการคุ้มครอง ผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพและส่งเสริมการประกอบกิจการสถานพยาบาลต่อไป

เมื่อพิจารณาการจัดบริการโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual Hospital) ในต่างประเทศ พบว่าในปี พ.ศ. 2563 มีการนำบริการการแพทย์ทางไกล (telemedicine) หรือการตรวจเสมือนจริง (virtual care) มาใช้อย่างแพร่หลาย ในหลายประเทศทั่วโลก โดยใช้แอปพลิเคชันในการโต้ตอบทั้งภาพและเสียง อาทิ WeChat WhatsApp และ VDO conference และมีการพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถตอบกลับหรือส่งข้อความต่างๆ อาทิ การปรับเปลี่ยน พฤติกรรม และการติดตามการรักษา 

จากการศึกษาทดลองแบบที่มีกลุ่มควบคุม (clinical trials) และการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการดูแลรักษาแบบโรงพยาบาลที่บ้านเมื่อเทียบกับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลไม่แตกต่างกันในเรื่องของอัตราการตาย การกลับเข้ามารักษาใหม่ และระยะเวลา การนอนรักษาตัว

เช่นเดียวกับหอพักผู้ป่วยเสมือนจริงที่ส่งผลให้การเข้าใช้บริการที่แผนกฉุกเฉินและการเข้า รับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยทั่วไปการบริการสุขภาพทางไกลหรือการดูแล เสมือนจริง มีการนำมาจัดบริการดูแลผู้ป่วยได้ 5 ระดับ

1. การดูแลเบื้องต้น เป็นการดูแลเสมือนจริงในระดับปฐมภูมิ ในการนัดตรวจทางอิเล็กทรอนิกส์แบบ เห็นหน้ากันระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการผ่านระบบที่ปลอดภัยและสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ เหมาะสำหรับ การเจ็บป่วยที่มีความรุนแรงต่ำ

2. การดูแลฉุกเฉิน เทียบได้กับการดูแลขั้นพื้นฐานการดูแลภาวะวิกฤต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสามารถลด การใช้แผนกฉุกเฉินและเพิ่มการมีส่วนร่วมในการดูแลปฐมภูมิ การดูแลอย่างเร่งด่วนให้ความสะดวกและเข้าถึงได้ แต่ไม่ได้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน เป็นการดูแลเสมือนจริงเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์ ระหว่างสถานที่ดูแลฉุกเฉินและสถานพยาบาลปฐมภูมิ

3. การดูแลเฉพาะทาง โดยใช้แพลตฟอร์มเสมือนจริงในการดูแลเฉพาะทางให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว อำนวยความสะดวกเป็นการสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการทั่วไปกับผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่ซับซ้อน ในการถาม คำถามเกี่ยวกับการวินิจฉัยและการจัดการสำหรับปัญหาที่ไม่ฉุกเฉิน

4. การดูแลโรงพยาบาลกรณีเฉียบพลัน เป็นการดูแลเสมือนจริงในการจัดตั้งโรงพยาบาลเฉียบพลัน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงศูนย์บริบาลระดับตติยภูมิเข้ากับชนบทและพื้นที่ที่มีทรัพยากรจํากัด ซึ่งเป็นการแพทย์ ทางไกลสำหรับผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด (NICU) ที่เชื่อมต่อ NICU ระดับตติยภูมิเข้าและโรงพยาบาลชุมชน

5. การดูแลหลังเฉียบพลัน เป็นการให้บริการในช่วงที่ผู้ป่วยย้ายจากผู้ป่วยในไปที่บ้าน ความต้องการ หลังการรักษาในโรงพยาบาล เช่น โภชนาการบำบัด การจัดการการดูแล ยา และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทั้งนี้สามารถอ่าน “แนวทางการพัฒนาระบบบริการโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual Hospital) กรมการแพทย์​” ฉบับเต็มได้ที่นี่