ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ยื่นหนังสือ ‘นพ.ชลน่าน’ ประธานบอร์ดหลักประกันสุขภาพ เร่งรัดยารักษาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ด้านนพ.ชลน่าน ตอบรับเอาไปพิจารณา ชี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยจิตเวชต้องเข้าถึงการรักษา 


เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 เครือข่ายภาคประชาชน นำโดย น.ส.ฐิตินบ โกมลมินิ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายธนพล ดอกแก้ว เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ และตัวแทนจากสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) ร่วมกันยื่นหนังสือข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า “เพราะสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” ให้กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

น.ส.ฐิตินบ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสิทธิประโยชน์ทางด้านผู้ป่วยจิตเวชยังมีพัฒนาการที่ค่อนข้างน้อย ขณะที่ชุดสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้กับผู้ป่วยด้านร่างกายกลับมีพัฒนาการที่ดีมากขึ้น ทั้งที่ผู้ป่วยจิตเวชที่อายุ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึง 1.5 ล้านคน ขณะเดียวกัน สัดส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในวัยแรงงาน และกลุ่มวัยเรียนก็เพิ่มสูงขึ้นหลังจากเหตุการณ์โควิด-19 อีกทั้ง ทั้งหมดยังขาดการเข้าถึงการรักษาที่ต่อเนื่อง เพราะต้องแบกรับค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่ายารักษาโรคผู้ป่วยซึมเศร้า ที่ราคาแพง ต้องนำเข้า และอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 

ทั้งนี้ จึงอยากให้ทาง สปสช.  และบอร์ดหลักประกันสุขภาพฯ ได้เร่งรัดพิจารณายารักษาผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่กรมสุขภาพจิต และราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เสนอมาเมื่อปี 2564 รวม 4 ชนิด เพื่อให้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้เข้าถึง เพราะขณะนี้หน่วยบริการจะเรียกเก็บส่วนต่างค่ายา ซึ่งเป็นภาระของผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยอยากหยุดการรักษา

ทั้งนี้ โรคซึมเศร้ารักษาให้หายได้ แต่ต้องได้รับการรักษาที่เข้าถึง มีความต่อเนื่อง รวมถึงได้กินยารักษา แต่ทั้งหมดยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยต้องแบกรับ อีกทั้ง หากไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ก็จะทำให้กลับมาป่วยได้อีก และมีอาการหนักกว่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่การป่วยเป็นโรคผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรัง ที่ต้องกินยาตลอดชีวิต และขณะที่ยาบางตัวมีราคาแพง และอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 

ตัวแทนกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า กล่าวอีกว่า ขอเสนอให้พิจารณาสิทธิประโยชน์ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพื่อให้กลับคืนสู่สังคม เพราะปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยที่อู่ในวัยแรงงานมีมากขึ้น และเป็นกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือเพื่อนำกลับมาเป็นภาคแรงงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกันได้ต่อไป 

น.ส.ฐิตินบ กล่าวว่า ยังมีประเด็นสถานการณ์บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นจิตแพทย์ขาดแคลนอย่างหนัก ขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เป็นโรคซีมเศร้าก็เพิ่มขึ้น ซึ่งศักยภาพของจิตแพทย์ 1 คน ควรตรวจผู้ป่วยไม่เกิน 20 คนต่อวัน แต่ด้วยการขาดแคลน ทำให้จิตแพทย์ใช้เวลากับผู้ป่วยได้แค่เพียง 30 วินาที ถึง 2 นาทีเท่านั้น ซึ่งเสี่ยงมากต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และจะทำให้แนวโน้มที่ผู้ป่วยจะฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น 

น.ส.ฐิตินบ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ซึ่งเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศ แต่ปัจจุบันจิตแพทย์ขาดแคลน และไม่ใช่ทุกจังหวัดที่จะมีจิตแพทย์ บางจังหวัดมีคนเดียว ดังนั้น หากไม่พิจารณาถึงการแก้ปัญหานี้ นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่อาจทำได้ไม่เต็มศักยภาพ เพราะผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ต้องการเข้าถึงการรักษา ยังไม่สามารถทำได้ เพราะขาดจิตแพทย์ที่จะคอยรักษา

“ที่ผ่านมา เมื่อปี 25666 เป็นปีแรกที่ สปสช. ทำสิทธิประโยชน์สนับสนุนให้กับสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โดยปีที่ผ่านมามีผู้ป่วย และประชาชนโทรมาปรึกษากว่า 5 แสนคู่สาย แต่ว่ามีศักยภาพในการรับเพียง 20% เพราะมีคู่สายไม่เพียงพอ ดังนั้น งบประมาณที่ สปสช. เข้าไปสนับสนุนก็จะไปเพิ่มบุคลากรให้มารับสายมากขั้น แต่ทางกลุ่มเพื่อนผู้ป่วย อยากให้เป็นมากกว่าที่ให้คำปรึกษา แต่อยากให้เป็นหน่วยแรกรับของผู้ป่วย และใช้ติดตามกระบวนการรักษาของผู้ป่วยได้ด้วย” น.ส.ฐิตินบ กล่าว  

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวภายหลังรับหนังสือจากเครือข่ายภาคประชาชนว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่ต้องเข้าถึงยาที่ต้องรักษาตัว แต่ยาอยู่นอกบัญชียาหลักฯ ในฐานะบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เห็นด้วยที่ต้องพิจารณาเพื่อเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขณะนี้ได้มีคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ เพื่อพิจารณายาที่จำเป็นต้องใช้สำหรับผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ให้อยู่ในบัญชียาหลักฯ
 
นอกจากนี้ ในระหว่างที่รอการพิจารณายาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ได้ให้แนวทางในที่ประชุมบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้พิจารณาถึงความจำเป็นทีต้องใช้ของผู้ป่วย และใช้กลไกการบริหารจัดการเพื่อต่อรองเรื่องราคาให้เหมาะสมและมองถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ 

“สำหรับผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ปัจจุบันมียาประเภทหนึ่งที่อยู่ในบัญชียาหลักยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วย แต่หากขาดยา ก็จะทำให้มีอาการหนักขึ้น เมื่อกลับมารักษา จำเป็นต้องใช้ยาที่มีความจำเพาะ ซึ่งเป็นยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักฯ ข้อเสนอนี้ ทางบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรารับไปพิจารณา” นพ.ชลน่าน กล่าว