ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายใต้สถานการณ์การเกิดของเด็กไทยที่ลดต่ำลงมากจนมีคนคาดการณ์ว่าราว 70 ปีข้างหน้าประชากรไทยจะเหลือครึ่งเดียว อีกสิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กันก็คือ การที่เด็กที่เกิดมาน้อยอยู่แล้วมีความ “ชำรุด” ติดตัวมาด้วย 

พูดให้เข้าใจง่ายคือ เด็กที่กำเนิดมาพร้อมโรคต่างๆ ที่กระทบต่อการเติบโตและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีพร้อมไปพัฒนาประเทศ โดยหนึ่งในโรคซึ่งพบมากอย่างมีนัยยะสำคัญและควรป้องกันก็คือ “โรคปากแหว่งเพดานโหว่” 

เนื่องด้วยลักษณะช่องปากมีรอยต่อกับช่องจมูก ทำให้เด็กทารกที่มีความผิดปกติปากแหว่งเพดานโหว่ไม่สามารถดูดนมได้ดีเท่าเด็กปกติ บางรายเกิดการสำลักไปที่หู จนส่งผลให้ไม่ได้ยินเสียง หรือกลายเป็นผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งนำไปสู่ปอดอักเสบ รวมถึงการออกเสียงที่ผิดปกติ และพัฒนาทางภาษา ตลอดจนการพูดที่ล่าช้าอีกด้วย 

เมื่อมองไปที่อุบัติการณ์ของทารกแรกคลอดที่มีภาวะปากแหว่งและเพดานโหว่ในประเทศไทย จากข้อมูลพบว่า อัตราการเกิดความผิดปกติดังกล่าวอยู่ที่ 1.01-2.68 ต่อทารกแรกคลอด 1,000 ราย ส่วนสาเหตุก็มีหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งพันธุกรรม และสภาวะแวดล้อม หรืออาจจะทั้ง 2 อย่างประกอบกัน

1

แม้ที่ผ่านมาการผ่าตัดรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ จะถูกบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มาตั้งแต่ปี 2548 และดำเนินการผ่านความร่วมมือของ มูลนิธิตะวันฉาย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ “โครงการยิ้มสวยเสียงใส“

ทว่า จากการลงพื้นที่ให้บริการเชิงรุกจากโครงการยิ้มสวยเสียงใสของ รศ.(พิเศษ) ดร.ทพญ.สมใจ สาตราวาหะ หรือ “หมอสมใจ” สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย เธอบอกกับ “The Coverage” ว่า “ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ยังไม่ได้รับการรักษาเท่าที่ควร”

มากไปกว่านั้น บางรายยังพบเจออุปสรรคในการเข้ารับบริการอีกด้วย โดยงานวิจัย “ปัญหาการเข้ารับบริการของผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่” ซึ่งเผยแพร่ใน ศรีนครินทร์เวชสาร 2565 ระบุว่า หนึ่งในปัญหาที่ผู้ป่วยต้องประสบเมื่อไปรับบริการ คือ สถานพยาบาลอยู่ไกลบ้าน ไม่มีค่าเดินทาง ไม่รู้ว่ามีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านนี้ 

ด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้ หมอสมใจ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทยจึงได้มีการปรึกษาร่วมกับกรรมการสมาคมฯ และจัดโครงการ “ทันตแพทย์จัดฟันสัญจรเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่” ขึ้นโดยมีเธอเป็นประธาน

“โครงการนี้เป็นการรวมตัวกันของทันตแพทย์ ทันตแพทย์จัดฟัน และสาขาวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องในลักษณะจิตอาสา ร่วมกับสภากาชาดไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้บริการดูแล รักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งเริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงขณะนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 13 พอดิบพอดี”  หมอสมใจ กล่าวเสริม

จากองค์ประกอบของแพทย์จิตอาสาจะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายมาก ซึ่งเป็นเพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบครบวงจรจากหลายสาขาวิชาชีพ และมากไปกว่านั้นอีกคือในสาขาวิชาชีพยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ รวมถึงการต้องดูแลรักษาตั้งแต่แรกเกิด และต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่นตอนปลาย

4

“การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่นั้นค่อนข้างยาก เพราะการจะรักษานั้นต้องขึ้นอยู่กับโครงสร้างใบหน้า และขากรรไกร ซึ่งความผิดปกติปากแหว่งเพดานโหว่นั้นสามารถจำแนกได้ตามบริเวณ และลักษณะที่พบ ได้แก่ ปากแหว่งเพียงอย่างเดียว ปากแหว่งร่วมกับสันเหงือกโหว่ ด้านเดียวหรือสองด้าน ปากแหว่งร่วมกับเพดานโหว่อย่างสมบูรณ์ด้านซ้าย หรือขวาเพียงอย่างเดียว ปากแหว่งร่วมกับเพดานโหว่อย่างสมบูรณ์ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา และเพดานโหว่เพียงอย่างเดียว” รศ.(พิเศษ) ดร.ทพญ.สมใจ ขยายความ

หมอสมใจ อธิบายแนวทางการักษาคร่าวๆ ว่า การดูแลนั้นจะใช้ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาชีพ เริ่มตั้งแต่การประเมินตั้งแต่แรกคลอดโดยกุมารแพทย์ จากนั้นก็จะส่งต่อให้ทันตแพทย์ทำเพดานเทียมช่วยในการให้นมทารกในรายที่จำเป็น ให้คำแนะนำในการดูแลช่องปาก ร่วมกับทันตแทพย์จัดฟันที่ต้องรอทำเพดานเทียมในรายที่จำเป็น ตรวจการสบฟัน และประเมินความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกขากรรไกร จัดฟันเพื่อเตรียมการปลูกถ่ายกระดูก หรือกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรบน เป็นต้น

รวมไปถึงส่งต่อศัลยแพทย์เพื่อประเมินผู้ป่วยและให้คำแนะนำ ผ่าตัดซ่อมริมฝีปากจมูก พื้นจมูก ซ่อมแซมเพดานปาก ศัลยกรรมปลูกถ่ายกระดูก เป็นต้น โดยให้แพทย์โสต ศอ นาสิกประเมินการตอบสนองต่อการได้ยิน ตรวจหู และรักษากรณีมีการอักเสบของหูชั้นใน ตรวจประเมินจมูกที่ไม่สมดุล เป็นต้น และส่งต่อไปยังนักแก้ไขการพูดที่จะคอยประเมินพัฒนาการทางภาษา และการพูดคุย

จากคำอธิบายทั้งหมดของ หมอสมใจ สะท้อนว่าถ้าทำได้เร็วตั้งแต่แรกเริ่มมากเท่าไหร่ ผลของการรักษาก็จะออกมาดีมากเท่านั้น จนไปถึงบางรายอาจสามารถแก้ไขได้จนแทบจะใกล้เคียงกับคนปกติ 

4

s

“การดูแล การจัดฟันสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ใช้เวลานาน และต้องมีการติดตาม และสำคัญคือการต้องใช้แพทย์จากหลายวิชาชีพมาร่วมกัน มากไปกว่านั้นทางโครงการฯ ยังได้มีการสัมมนา เพื่อปรึกษา หารือในการรักษาผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ และทันตแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในเอเชียแปซิฟิก ที่รวมกันอยู่กว่า 20 ประเทศ ทั้งประเทศญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี เป็นต้น” หมอสมใจ กล่าว

สำหรับตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นจากการร่วมกันทำโครงการดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ เขตพื้นที่การดูแลของ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ (เขาเขียว) ที่ดำเนินการมาได้ 8 ปีแล้ว โดยมีผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ได้รับการดูแลรักษาประมาณ 166 ราย และในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่เดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งได้รับค่าเดินทางจากโครงการอีกด้วย 

แน่นอนว่า ดอกผลที่เกิดขึ้น นอกเหนือจะทำให้คุณภาพในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่มีความมั่นใจในการอยู่ร่วมกับสังคม ปลดสถานะให้พ้นจากการถูกคนบางกลุ่มล้อเลียนจนทำให้เกิดเป็นความเครียด หรือวิตกกังวล สามารถยิ้ม หัวเราะ ออกเสียงได้ใกล้เคียงกับคนปกติ หรือได้ใช้ชีวิตในแบบที่เขาควรจะเป็น 

หมอสมใจ ทิ้งท้ายถึงแรงบันดาลใจในการทำโครงการนี้ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฯ ว่าเกิดขึ้นเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ซึ่งตอนนั้นก็ได้เจอกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันที่มีความผิดปกติปากแหว่งเพดานโหว่ ตอนนั้นยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น รู้เพียงแต่เด็กคนนั้นจ้องมองมายังตัวเอง จนเมื่อกลายมาเป็นทันตแพทย์จึงได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น และคิดตั้งต้นอยู่เสมอว่าหากมีโอกาสได้ช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็จะช่วยเท่าที่จะช่วยได้ 

ทั้งหมดนั้นก็เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง สามารถใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้นั่นเอง